โควิดทุบราคาน้ำมันโลกดิ่ง! ปตท.จ่อเลื่อนแผนลงทุน 2 แสนล้าน สั่ง 3โรงกลั่นลดกำลังผลิต 20%

โควิดทุบราคาน้ำมันโลกดิ่ง! ปตท.จ่อเลื่อนแผนลงทุน 2 แสนล้าน สั่ง 3โรงกลั่นลดกำลังผลิต 20%

นายชาญศิลป์ ตรีนุชกร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจทั่วโลก การใช้น้ำมันดิบในตลาดโลกลดลง ปตท.ต้องปรับแผนลงทุน โดยจากก่อนหน้าคาดการณ์ราคาน้ำมันเฉลี่ยอยู่ 55-65 เหรียญสหรัฐต่อบาเรล ล่าสุดจึงปรับคาดการณ์ราคาน้ำมันทั้งปีอยู่ 30-40 เหรียญสหรัฐต่อบาเรล และมองว่าสถานการณ์ตลาดโลกน่าจะดีขึ้นในช่วงปลายไตรมาส 3

ดังนั้น จึงได้ให้บริษัทในเครือศึกษาการปรับตัวรับมือ และเสนอแผนกลับมาทุก 1 เดือน จากเดิมที่จะมีการทบทวนแผนทุก 6 เดือน เบื้องต้นได้ให้ตัดงบค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นออกประมาณหลักพันล้านบาท

นายชาญศิลป์ กล่าวว่า สถานการณ์ของราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ปรับตัวลดลงต่อเนื่อง รวมถึงความต้องการใช้น้ำมันลดลง และตลาดส่งออกไปจีนจำกัดเนื่องจากนโยบายของรัฐบาลจีน โดยประธานาธิบดีสี จิ้น ผิง นั้นจึงจำเป็นต้องชะลอแผนการลงทุนในกลุ่มปิโตรเคมีของบริษัทในเครือ ได้แก่ โครงการลงทุนปิโตรเคมีคอมเพล็กซ์ ของ บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ จีซี ที่เป็นโครงการผลิตเอทิลีน 1.5 ล้านตันต่อปี ในรัฐโอไฮโอ สหรัฐ มูลค่าประมาณ 2 แสนล้านบาท ซึ่งร่วมกับพันธมิตร บริษัท Dealim Industrial ของเกาหลีใต้

รวมไปถึงเลื่อนแผนโครงการแม็กซิมั่ม อะโรมเมธิกส์ หรือ มาร์ส (Maximum Aromatics Project) (MARS) ของ บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) หรือ ไออาร์พีซี เป็นโครงการลงทุนขนาดใหญ่ที่ใช้เงินลงทุนสูงถึง 3-4 หมื่นล้านบาทเพื่อผลิตพาราไซลีน 1-1.3 ล้านตันต่อปี และเบนซีน 3-5 แสนตันต่อปี จากเดิมที่คาดว่าจะมีความชัดเจนภายในไตรมาส 2 ปี 2562 นี้

นอกจากนี้ในส่วนราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกปรับลดลงอย่างต่อเนื่อง ได้ส่งผลกระทบต่อโรงกลั่นน้ำมัน ในเครือ ปตท. 3 บริษัท ได้แก่ โรงกลั่นน้ำมันไทยออยล์ โรงกลั่นพีทีทีจีซี และโรงกลั่นไออาร์พีซี ได้รับผลกระทบการขาดทุนทางบัญชีจากการสต็อกน้ำมันดิบเป็นจำนวนมากในช่วงต้นปีที่ผ่านมา ประกอบกับความต้องการใช้น้ำมันของโลกและของไทยลดลง และเพื่อลดต้นทุนรวมทั้งหลังจากที่น้ำมันอากาศยาน (JET) มียอดการใช้ลดลงจากสถานการณ์การบินเชิงพาณิชย์ที่หยุดลงทั่วโลกอีกด้วย จึงได้สั่งให้โรงกลั่นน้ำมันในเครือทั้ง 3 แห่งลดกำลังการผลิตลงประมาณ 15-20 %

“ไตรมาส 1-2 โลกปรับตัวอย่างรุนแรง โดยเฉพาะดีมานด์น้ำมันลดลงมาก ยอมรับว่าเมื่อเกิดเหตุการณ์โควิด-19 สถานการณ์เปลี่ยนแปลงไป การลงนามสัญญาโครงการภาครัฐก็ล่าช้ากว่าแผน ทำให้การเจรจาเลื่อนระยะเวลาและขยายเวลาการลงทุนปรับไปตามสถานการณ์ นั่นคือเหตุผลที่ต้องชะลอโครงการ เพื่อเก็บเงินไว้ใช้รักษาสภาพคล่อง”

อย่างไรก็ดี ในส่วนโครงการที่ลงทุนไปแล้วก็ยังเป็นการลงทุนต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็น โครงการเขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EECi) มาบตาพุด เฟส 3 ที่อยู่ในกระบวนการถมทะเล รวมทั้งแหลมฉบังที่อยู่ระหว่างเจรจาผลตอบแทน และแผนเข้าตลาดของ PTTOR โดยโครงการข้างต้นล้วนเป็นงบลงทุนระยะยาว

ผู้สื่อข่าวระบุ ในวันที่ 30 เม.ย.นี้ จะมีการประชุมบอร์ด เพื่อพิจารณาโครงการดังกล่าวและทบทวนแผนการลงทุน ก่อนที่นายชาญศิลป์ ตรีนุชกร จะสิ้นสุดวาระดำรงตำแหน่ง ในวันที่ 12 พ.ค. และส่งไม้ต่อให้ นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ซีอีโอคนต่อไป โดยนายชาญศิลป์ย้ำว่า “ผู้ว่าคนใหม่จะเดินตามนโยบายที่วางไว้ เพราะที่ผ่านมาเราทำงานกันเป็นทีมเพื่อประโยชน์ของประเทศ”