ประพันธ์ บุณยเกียรติ ปั้น “รับเบอร์วัลเลย์” รับมือโควิด

สัมภาษณ์พิเศษ

ยางพาราหนึ่งในสินค้าขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศ สร้างรายได้จากการส่งออกปีละเกือบ 10,000 ล้านเหรียญสหรัฐ แต่ไตรมาสแรกปีนี้ไทยต้องเตรียมรับมือผลจากการระบาดของโควิด-19 ต่ออุตสาหกรรมยาง “ประชาชาติธุรกิจ” มีโอกาสสัมภาษณ์ นายประพันธ์ บุณยเกียรติ ประธานกรรมการการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) ต่อทิศทางและอนาคตยางพาราไทย

โควิดทุบตลาดส่งออกยาง

การส่งออกในช่วง 3 เดือนจากนี้จะลดลงประมาณร้อยละ 7 จากประเทศคู่ค้าหลักหลายประเทศคู่ค้าได้รับผลกระทบทั้งกระบวนการผลิต ใช้สอย การจับจ่ายหยุดชะงักหมด คาดการณ์หลายฝ่ายวิเคราะห์ว่าหากสถานการณ์เป็นเช่นนี้ 1-2 เดือนข้างหน้าเศรษฐกิจไม่ฟื้นตัวแน่นอน ผมดูจากดัชนีสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (สอท.) ประเมินว่ายอดสั่งซื้อลดลง ตลาดหลักจีนส่งไปไม่ได้เลยช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา แม้ว่าตอนนี้จะดีขึ้นมาระดับหนึ่ง เราเริ่มกลับมาส่งออก 30% แต่ภาพรวมการส่งออกปีนี้ยังชะลอ คงถึงปี 2564-2565 จะฟื้นตัว

ปกติเราส่งยางไปจีนปีละ 2.2 ล้านตัน จีนมีอุตสาหกรรมยางล้อส่งไปอเมริกา แต่ช่วงที่ผ่านมาจีนก็ปิดโรงงาน ไลน์ผลิตแทบ 100% ไทยจึงส่งออกไปยังสหรัฐแทน ซึ่งตลาดจีน เกาหลี ญี่ปุ่น หดตัว 2.8% ตั้งแต่ก่อนมีโควิด-19 แล้วเพราะปลายปีที่ผ่านมาเจอเทรดวอร์ ดังนั้น ปลายปี จน 2-3 เดือนช่วงแรกกระทบแน่นอน แม้ตอนนี้จีน มาเลเซีย รวมทั้งเกาหลีกลับมาดีขึ้น ติดแค่ยุโรป (EU) ที่ยังไม่ดีเพราะยางล้อไม่มีทีท่าจะดีขึ้นเลย แต่โดยรวมเราประเมินว่ากระทบแน่นอน

“ชิปเมนต์จีนดีขึ้นมาเล็กน้อย การผลิตยางรอส่งมอบเริ่มกลับมา แต่สินค้าแปรรูป เช่น หมอน ตลาดค่อนข้างไม่เสถียร เมื่อนักท่องเที่ยวจีนไม่มีและส่งออกไม่ได้ ต่อไปจีนอาจไม่ใช่เป้าหมาย”

แนวโน้มผลผลิตและราคายาง

ตอนนี้ผลผลิตน้อย ยางแผ่นดิบแทบไม่มีของจะเปิดกรีดช่วง พ.ค. ต้องรอดู สำหรับแนวโน้มผลผลิตยางธรรมชาติของไทย 3-6 เดือนปีนี้ยังปรับตัวลดลงส่วนหนึ่งจากปัจจัยเดิมภัยแล้งยาวนาน ราคายางอยู่ในระดับต่ำทำให้ไม่จูงใจการกรีด บวกกับนโยบายลดพื้นที่กรีดยาง เหลือ 25 ล้านไร่ เกษตรกรชาวสวนยางบางส่วนหันไปปลูกพืชอื่น ปัจจัยหลักปีนี้ที่ส่งผลต่อสินค้ายางทั่วโลก คือ ผลกระทบจากการแพร่ระบาดโควิด-19 เราไม่สามารถคาดเดาก่อนได้ ทำให้หลายโรงงานถูกสั่งปิด และประเทศผู้ส่งออกรายใหญ่เช่นมาเลเซียก็ปิดประเทศ

ราคาตามความต้องการ ราคายังทรง แต่หากผลผลิตเริ่มออกมาช่วงเปิดหน้ากรีดยาง กยท.จะประสานกับเอกชน สมาคมน้ำยางข้น สมาคมต่าง ๆ ให้เปิดรับซื้อ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อน เช่นล่าสุดกรณีด่านมาเลเซีย เมื่อเปิดแล้วก็ต้องซื้อกับเราเท่านั้น ดังนั้นต้องดูไปอีกระยะ เพราะมาเลเซียเองก็วิกฤตเช่นกัน

“ราคายางที่ตกต่ำลงตอนนี้ จากราคาน้ำมันดิบลดลงบวกกับการระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำให้ไม่สามารถส่งออกได้ ดังนั้นเราต้องมีมาตรการเยียวยาเกษตรกร เพราะผลกระทบเหล่านี้จะทำให้ราคาขายและราคาประกันรายได้ที่กำลังจะออกมาห่างกัน จึงต้องใช้เงินชดเชยส่วนต่างราคามากขึ้น”

เยียวยาชาวสวน 3.86 แสนคน

เร็ว ๆ นี้ กยท.เตรียมเสนอโครงการประกันรายได้เกษตรกรชาวสวนยาง ระยะที่ 2 ต่อคณะกรรมการนโยบายยางแห่งชาติ (กนย.) และคณะรัฐมนตรี (ครม.) งบประมาณเบื้องต้นเพิ่มจากวงเงินตอนแรก 35,000 เป็น 42,000 ล้านบาท สูงกว่าโครงการระยะที่ 1 ที่ใช้ 25,000 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นประมาณ 17,000 ล้านบาท โดยผ่านโครงการฝากยางไว้ที่บ้าน ต้านภัยโควิด ประกันรายได้

ยางพารา กก.ละ 60 บาท

สาเหตุที่ต้องเพิ่มงบฯจากเกษตรกรที่ไม่มีเอกสารสิทธิ หรือถือบัตรสีชมพูสามารถเข้าร่วมโครงการมาแจ้งขึ้นทะเบียนมากขึ้นจากระยะที่ 1 โดยตอนนี้มีจำนวนเพิ่มมากกว่า 1.14 แสนราย ทำให้พื้นที่ปลูกยางที่ไม่มีเอกสารสิทธิ เพิ่ม 1.917 ล้านไร่ ล่าสุดพื้นที่ปลูกยางที่ไม่มีเอกสารสิทธิ เพิ่มเป็น 5.777 ล้านไร่ เกษตรกร 3.86 แสนราย จากเมื่อปี 2562 ที่ดำเนินโครงการประกันรายได้ระยะที่ 1 มีกลุ่มที่ไม่มีเอกสารสิทธิเพียง 3.87 ล้านไร่ เกษตรกร 2.72 แสนราย ทำให้งบประมาณเพิ่มขึ้น

อย่างไรก็ตาม การประกันรายได้เป็นส่วนหนึ่งในการสร้างเสถียรภาพ เราจะเริ่มฟอร์มทีมกยท.กับสถาบันเกษตรกรที่ผลิต การทำตลาดเฉพาะ ต้องฟื้นฟูสร้างความเข้มแข็ง นอกจากแปรรูปหมอนยางแล้วยังมีสินเชื่อ มีกรอบกองทุนพัฒนายางพาราช่วยสภาพคล่อง ที่เน้นการสร้างงาน เพิ่มโอกาสให้สถาบันเกษตรกร เพราะสภาพตลาดยางตอนนี้มีปัญหามาก ต้องบรรเทาผลกระทบ แปรรูป กระตุ้นในประเทศ และจ้างงาน ต้องปรับองค์กรรับ new normal

“รับเบอร์วัลเลย์” New Normal

ตอนนี้กำลังเตรียมทีม แม้จีนเริ่มเปิดแต่เราต้องมองตลาดใหม่หลังพ้นวิกฤตต้องปรับธุรกิจรับ new normal หรือความธรรมดาในรูปแบบใหม่ แปรรูปสินค้าให้สอดคล้องการใช้ชีวิตผู้คนปัจจุบันที่เปลี่ยนมาดูแลสุขภาพตัวเองมากขึ้น จะมีความต้องการถุงมือยางทางการแพทย์ หน้ากากอนามัย หรือสินค้าเพื่อสุขภาพมากขึ้น

เราจึงมาคิดกันว่าจะเป็นรับเบอร์วัลเลย์ ศูนย์กลางการผลิตสินค้านวัตกรรมเกี่ยวกับยางพาราครบวงจร รองรับสถานการณ์โลกทั้งดิสรัปชั่นและไวรัสโควิด-19 เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของโมเดลธุรกิจใหม่ไปด้วย นี่คือโอกาส และจะเน้นการพัฒนาต้นน้ำใหม่การพัฒนาสินค้าแปรรูปปลายน้ำและต้องการเพิ่มการใช้ยางในประเทศ ซึ่งเรามีพื้นที่พร้อม 20,000 ไร่

ของ กยท.จ.นครศรีธรรมราช ซึ่งมีศักยภาพทั้งผลผลิตและโลจิสติกส์ที่สะดวก จะผลักดันโครงการนี้ให้เกิดขึ้นตอนยังดำรงตำแหน่งนี้

BOI หนุน “รับเบอร์วัลเลย์”

ในเบื้องต้นอยู่ระหว่างการว่าจ้างมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ศึกษาความคุ้มค่าของรับเบอร์วัลเลย์ จะเห็นข้อสรุปภายในสิ้นปี 2563 และเริ่มก่อสร้างระยะเวลา 3-4 ปี ระหว่างนี้ กยท.จะหารือกับคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ในการปรับเงื่อนไขเพื่อจูงใจนักลงทุนให้สอดรับกับนโยบายรัฐบาลที่ต้องการสนับสนุนการลงทุนในอุตสาหกรรมใหม่ (S-curve) รวมถึงปรับหลักเกณฑ์ให้ผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) สามารถขอยื่นขอส่งเสริมการลงทุนได้

แม้ว่าจะลงทุนด้วยงบฯไม่มากได้ แต่ทุกคนมีโอกาสได้รับการส่งเสริมไม่ใช่แค่บริษัทใหญ่