อานิสงส์ภัยแล้ง EEC ดันธุรกิจบำบัดน้ำเสียโตพุ่ง 300%

นายจิรบูลย์ วิทยสิงห์ ประธานกรรมการบริหารบริษัท Cerafiltec Thailand Co., Ltd.

อานิสงส์ “แล้ง” ดันระบบบำบัดน้ำเสียโตพุ่ง “จิรบูลย์” บิ๊กธุรกิจของขวัญ เบนเข็มผนึกเยอรมนีเปิดตลาดระบบบำบัดน้ำเสีย ลดต้นทุนจากคิวละ 38 บาท เหลือ 8 บาท มุ่งเจาะกลุ่มลูกค้าโรงงานอีอีซี พร้อมเปิดตลาดออสเตรเลียปีแรก มั่นใจยอดขายทั้งปีทะลุ 300%

นายจิรบูลย์ วิทยสิงห์ ประธานกรรมการบริหารบริษัท Cerafiltec Thailand Co., Ltd. เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่าจากภาวะภัยแล้งในภาคตะวันออกในปีนี้ส่งผลให้เกิดความต้องการเทคโนโลยีในการนำน้ำเสียกลับมาใช้ใหม่ (reused) มากขึ้น ส่งผลดีต่อบริษัทอย่างมาก ทำให้คาดการณ์ว่ายอดขายเทคโนโลยีระบบบำบัดน้ำเสียจะขยายตัวเพิ่มขึ้น 300% จากปีก่อน

“ปีนี้เรามีโปรเจ็กต์จำนวนมากจากสถานการณ์ภัยแล้งในภาคตะวันออกก่อนหน้านี้ บริษัทจึงได้ร่วมทุนกับ Industrial Water Management Resource พันธมิตรซึ่งเป็นผู้ที่มีแหล่งน้ำ แต่เขาขาดเทคโนโลยีบำบัดน้ำเสีย เราเป็นผู้นำนวัตกรรมนี้มาจากเยอรมันให้บริการ ออกแบบและดีไซน์วางระบบต่อยอดให้เข้ากับโรงงานของลูกค้า ซึ่งมีทั้งโรงงานผู้ผลิตอาหาร ฟาร์มสุกร ผู้ผลิตนมถั่วเหลืองสามารถนำไปปรับใช้ให้เข้ากับแพลนต์ของลูกค้า”

ทั้งนี้ ระบบบำบัดน้ำเสียของบริษัทนอกจากจะมีขนาดเล็ก มีศักยภาพสูงสามารถกรองแบคทีเรีย และปรับสภาพน้ำให้กลับมาเทียบเท่ากับน้ำประปาปกติได้ แล้วที่สำคัญบริษัทสามารถออกแบบดีไซน์ปรับเข้าโรงงานของลูกค้า เหมาะกับโรงงานที่ต้องการเพิ่ม capacity ซึ่งมักจะมีข้อจำกัด เนื่องจากโรงงานเดิมมักจะมีขนาดพื้นที่และระบบที่วางไว้เดิม การจะขยายพื้นที่บ่อบำบัดเพื่อจะบำบัดน้ำให้มากขึ้นทำได้ลำบาก ซึ่งเทคโนโลยีของบริษัทมีเครื่องที่มีขนาดเล็กแต่มีประสิทธิภาพสูง ช่วยให้ต้นทุนการผลิตน้ำของลูกค้าลดลง เช่น โรงงานจะมีต้นทุนค่าน้ำที่ 38 บาท/คิว เทียบกับค่าน้ำที่ใช้ระบบนี้ต้นทุนจะลดลงเหลือ 8 บาทต่อคิวซึ่งต่ำกว่าต้นทุนน้ำในบ้านเรือนที่ใช้อยู่ที่ 10-11 บาทต่อคิว

นายจิรบูลย์กล่าวว่า บริษัทได้นำระบบนี้เข้ามาให้บริการมาเป็นเวลา 2 ปีแล้ว แต่เพิ่งจะเปิดตัวอย่างเป็นทางการไปเมื่อเดือนสิงหาคมปี 2562 ทำให้มียอดขายในปีแรก (ปี 2561) เพิ่มขึ้น 100% จากปีที่เริ่มให้บริการในปีแรก และขณะนี้บริษัทกำลังขยายไปยังตลาดส่งออก เช่น กัมพูชา และออสเตรเลีย เป็นปีแรก

Advertisment

“ต้นปีที่ผ่านมาออสเตรเลียมีเหตุการณ์ไฟป่ารุนแรง ทางรัฐบาลออสเตรเลียจึงให้เงินสนับสนุนเอกชนให้จัดหาเทคโนโลยีบำบัดน้ำ เพื่อนำไปจัดหาน้ำ รายละ 4 แสนบาท จึงเป็นโอกาสในการทำตลาด ซึ่งลูกค้าเหมืองในออสเตรเลียติดต่อ สั่งซื้อ 3 เครื่อง พร้อมให้ออกแบบโซลูชั่น”

โอกาสธุรกิจบำบัดน้ำเสีย

รายงานข่าวระบุว่า ก่อนหน้านี้นายจิรบูลย์ถือเป็นผู้ประกอบการในธุรกิจของขวัญของชำร่วยนานกว่า 15 ปี และยังมีบทบาทในตำแหน่งนายกสมาคมของขวัญของชำร่วยไทยและของตกแต่งบ้าน และเลขาธิการสมาพันธ์ธุรกิจไลฟ์สไตล์ ซึ่งการแตกไลน์ธุรกิจครั้งนี้ นับว่าเป็นการสร้างเส้นทางธุรกิจใหม่ที่แตกต่างจากเดิมอย่างแทบจะสิ้นเชิง

ประเด็นนี้ นายจิรบูลย์กล่าวว่า เหตุผลที่ตัดสินใจขยายธุรกิจนี้ เพราะมองโอกาสของธุรกิจบำบัดน้ำเสียนี้ยังมีแนวโน้มเติบโตได้มาก ที่ผ่านมาไทยไม่ค่อยนิยมลงทุนใช้ระบบ reuse เท่าใดนัก แต่ภายหลังจากเกิดปัญหาภัยแล้ง จึงทำให้เกิดการลงทุนมากขึ้น ขณะเดียวกันการแข่งขันก็มีความรุนแรงขึ้นเช่นกัน อย่างไรก็ตาม บริษัทเน้นลงทุนเทคโนโลยีระดับพรีเมี่ยม ซึ่งแน่นอนว่าต้นทุนอาจจะสูงกว่า แต่หากเทียบความคุ้มค่ากับการลงทุนแล้วนับว่าคุ้ม เพราะมีอายุการใช้งานนานนับ 10 ปี

“พันธมิตรเยอรมนีเลือกลงทุนในไทย เพราะมองว่าไทยกำลังเข้าสู่จุดเปลี่ยนผ่านของการพัฒนาลงทุนเทคโนโลยี จึงเป็นโอกาสของเทคโนโลยีใหม่ ๆ ซึ่งหากเทียบกับเทคโนโลยีด้านไฟฟ้า หรือขยะจะมีคู่แข่งหรือรัฐวิสาหกิจที่เป็นเจ้าภาพแต่เรื่องน้ำยังเป็นธุรกิจที่เปิดกว้าง จึงเป็นเหตุผลให้เรากล้าตัดสินใจหา solution นี้ มาให้บริการ technology provider ร่วมกับพันธมิตรที่เป็น EPC หรือ engineer procurement construction”

Advertisment