เปิดไทม์ไลน์ปูดข่าว “สมคิด” ชง CPTPP เข้าครม. สุมไฟการเมืองในรัฐบาล

เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2563 ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานว่า กระบวนการ “ข่าว” และการ “ปล่อยข่าว” วาระอนุมัติให้ไทยเข้าร่วมเจรจาความตกลง CPTPP นั้นเป็นไปอย่างมีระบบ

ประเด็นร้อนที่ถูกปล่อยออกมา ทำให้หลายฝ่ายจับตามอง เริ่มอุบัติขึ้นตั้งแต่ช่วงค่ำของวันจันทร์ (18 พ.ค.2563) เกิดกระแสข่าวในโซเชียล ว่านายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ ในฐานะประธานคณะกรรมการเศรษฐกิจระหว่างประเทศ (กนศ.) จะเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในวันที่ 19 พ.ค. 2563 พิจารณาวาระสำคัญเรื่องการเจรจาความตกลง CPTPP

ทั้งๆ ที่หากจะเสนอวาระพิจารณาต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี หากส่งเรื่องเช้าวันอังคาร (19 พ.ค.) ต้องเป็น “วาระจร” ซึ่งต้องเสนอให้ พล.อ.ประยุทธ์  จันทร์โอชา  “นายกรัฐมนตรี” ลงนามในวาระ ถึงจะเข้าสู่กระบวนการพิจารณาได้

แต่วาระที่ถูกปล่อยข่าวออกมานี้ระบุถึงขนาดว่า ให้กระทรวงการต่างประเทศยื่นหนังสือขอเข้าร่วมเจรจา และมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องปรับตัวรองรับการเข้าร่วมความตกลง รวมถึงการปรับนโยบาย / กฎหมาย และระเบียบที่เกี่ยวข้อ ตลอดจนเตรียมมาตรการหรือกลไก ช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบ และมอบหมายให้กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศจัดตั้งคณะเจรจา CPTPP โดยมีนางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เป็นหัวหน้าคณะเจรจาฯ แต่ปรากฏว่า นายสมคิด แจ้งลาไม่เข้าร่วมการประชุม ประเด็นดังกล่าวจึงตกไป

แต่เมื่อถูกถามถึงขั้นตอนการนำเสนอวาระ “แหล่งข่าว”  บอกแต่เพียงว่า มีการยืนยันจากทีมงานรองนายกรัฐมนตรีว่าจะเสนอเข้าสู่การพิจารณา

กระบวนการนำเสนอข่าวปล่อย แยบยล ด้วยการแนบ วาระที่เสนอต่อ ครม. ตั้งแต่ครั้งก่อน-เก่า ประกบกับเอกสารใหม่ ซึ่งในเอกสารใหม่ ไม่มีมติที่ขอ เพราะอิงการขอมติเดิม (ตามภาพ)

กระทั่งเช้าวันอังคาร ที่ 19 พฤษภาคม 2563 นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ รองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ที่เชิงบันไดทำเนียบรัฐบาล ว่า “วันนี้ยังไม่มีวาระเข้าสู่การพิจารณา…เป็นเรื่องของนายกรัฐมนตรี”

ก่อนหน้านี้ 3 สัปดาห์ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พาณิชย์สั่งให้ถอดวาระ CPTPP ออกจากการเสนอพิจารณาในที่ประชุม ครม. เมื่อวันที่ 27 เมษายน 2563 โดยให้เหตุผลว่ายังมีกระแสการคัดค้านที่ยังหาข้อสรุปไม่ได้ในสังคมในหลายประเด็น อาทิ การเข้าอาจส่งผลกระทบต่อการเข้าถึงยา ทำให้ที่มีราคาแพงขึ้น เกษตรกรไม่สามารถเก็บเมล็ดพันธุ์ไว้ใช้ได้ต้องซื้อเมล็ดพันธุ์ในราคาแพง และความเสี่ยงในเรื่องการใช้กลไกระงับข้อพิพาทของนักลงทุน

“ข่าว” ที่ส่งออกมาทางไลน์ผู้สื่อข่าว ครั้งนั้น ระบุเนื้อหาว่า “เรื่องนี้นับว่าเป็นความหนักใจของนายจุรินทร์ เพราะต้องตัดสินใจถอนออกจากการพิจารณาเสี่ยงขัดใจพรรคร่วมรัฐบาลฟากฝั่งนายสมคิด ซึ่งต้องการจะเร่งผลักดันให้มีการเข้าร่วมการเจรจาโดยเร็ว เพื่ออาศัย CPTPP สร้างโอกาสในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจกับสมาชิก”

 

บุคคลที่เกี่ยวข้องกับ “ข่าวปล่อย” ชี้นนี้ ให้คำตอบอย่างเป็นธรรม อาทิ…

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า หลังจากที่มีการถอดเรื่องในวันนั้น ทางกระทรวงพาณิชย์ยังไม่ได้มีการเสนอเข้าสู่ที่ประชุม ครม. กระแสข่าวจากส่วนอื่น ไม่ทราบเจตนาว่ามีการเผยแพร่กระแสข่าวนี้ด้วยเจตนาใด

นายสนั่น อังอุบลกุล รองประธานหอการค้าไทย ในฐานะประธานคณะทำงานร่วมกับมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เพื่อศึกษาการเข้าร่วมความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าเพื่อความเป็นหุ้นส่วนข้ามแปซิฟิก (CPTPP ) กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ ”ว่า “ทราบข่าวที่ท่านรองนายกสมคิด จะเสนอ CPTPP ไม่เป็นจริง ทางคณะทำงานอยู่ระหว่างการศึกษาผลดี ผลเสีย ผลกระทบ และผลประโยชน์ของการเข้าร่วมซีพีทีพีพี คาดว่า จะได้ข้อสรุปในเร็วๆนี้”

แหล่งข่าวจากวงการค้าระหว่างประเทศ ตั้งข้อสังเกตว่า ประเด็นนี้น่าจะเป็นประเด็นที่มีเจตนาผลทางการเมืองต่อฝ่ายการเมืองมากกว่า เพราะรองนายกสมคิดรับหน้าที่ดูแลในส่วนกระทรวงการคลัง พลังงาน อุตสาหกรรม ไม่ใช่กระทรวงพาณิชย์ ซึ่งเป็นหน่วยงานต้นเรื่องที่จะต้องเสนอ

น่าสนใจว่า กระบวนการ “ปล่อยข่าว” ครั้งนี้เจาะจงส่งสัญญาณไปที่ นักเคลื่อนไหวทางสังคม และ “กลุ่มเอ็นจีโอ” ขยับจากที่เคยปล่อยลอยลมในห้องไลน์นักข่าวประจำพรรคประชาธิปัตย์ มาแล้วครั้งหนึ่ง

CPTPP คืออะไร

สำหรับ CPTPP หรือ Comprehensive and Progressive Agreement of Trans-Pacific Partnership หรือ ความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก เป็นข้อตกลงที่ครอบคลุมทั้งเรื่องการค้า การบริการ และการลงทุนเพื่อสร้างมาตรฐานและกฎระเบียบร่วมกันระหว่างประเทศสมาชิก ทั้งในประเด็นการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา มาตรฐานแรงงาน กฎหมายสิ่งแวดล้อม รวมถึงกลไกแก้ไขข้อพิพาทระหว่างรัฐบาลและนักลงทุนต่างชาติ …. หัวข้อ ซึ่งแปลงมาจาก ความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (Trans-Pacific Partnership – TPP) ที่มี 12 ประเทศร่วมก่อตั้ง มีสหรัฐเป็นแกนนำ แต่ภายหลังประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ประกาศนโยบายถอนตัวออกจาก CPTPP เมื่อปี 2017 จึงเหลือเพียง 11 ประเทศ คือ ญี่ปุ่น แคนาดา เม็กซิโก เปรู ชิลี ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ สิงคโปร์ มาเลเซีย บรูไน และเวียดนาม ซึ่งได้ลงนามและเริ่มมีผลบังคับใช้ไปเมื่อวันที่ ‪31 ธ.ค.‬ 61

เหตุผลที่ไทยได้แสดงความสนใจที่จะเข้าร่วมความตกลง CPTPP เนื่องจากเห็นว่าเป็นตลาดที่มีศักยภาพ โดยสมาชิก CPTPP 11 ประเทศ มีประชากรรวมกันกว่า 500 ล้านคน (ร้อยละ 6.7 ของประชากรโลก) และมี GDP กว่า 11 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ (ร้อยละ 13 ของ GDP โลก)

ประกอบกับ ปี 2562 ไทยมีการค้ากับสมาชิก CPTPP รวมมูลค่า 140 พันล้านเหรียญสหรัฐ (ร้อยละ 31.5 ของการค้ารวมไทย) แบ่งเป็นการส่งออกไปสมาชิก CPTPP มูลค่า 73.23 พันล้านเหรียญสหรัฐ (ร้อยละ 32.2 ของการส่งออกไทยไปโลก) และการนำเข้าจากสมาชิก CPTPP มูลค่า 66.78 พันล้านเหรียญสหรัฐ (ร้อยละ 30.6 ของการนำเข้าไทยจากโลก)

และจากผลการศึกษาวิจัยประโยชน์และผลกระทบของความตกลง CPTPP ชี้ว่า การเข้าร่วมความตกลง CPTPP จะช่วยให้เศรษฐกิจของไทยเติบโตขึ้น โดย GDP จะขยายตัวร้อยละ 0.12 (คิดเป็นมูลค่า 13,323 ล้านบาท) และ การลงทุนจะขยายตัวร้อยละ 5.14 (คิดเป็นมูลค่า 148,240 ล้านบาท)