“สุริยะ” จ่อถกคลังผุด “ชิมช้อปใช้” กระตุ้นยอดขายเครื่องใช้ไฟฟ้า

เมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2563 นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยภายหลังการประชุมร่วมกับกลุ่มอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ทั้งทางสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) และ สภาหอการค้าไทย ซึ่งกลุ่มอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ได้ขอให้ภาครัฐพิจารณามาตรการช่วยเหลือ โดยการกระตุ้นดีมาน หรือยอดขายสำหรับไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ หลังจากที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด -19 ซึ่งทำให้ยอดขายตก

จากการหารือ ภาคเอกชนต้องการให้รัฐใช้แนวคิดในการที่จะนำรูปแบบของ มาตรการชิมช้อปใช้ มาใช้กระตุ้นยอดขาย ซึ่งตนต้องขอเวลาหารือกับทางกระทรวงการคลังว่าสามารถทำได้หรือไม่

ขณะเดียวกัน ภาคเอกชนยังเสนอให้รัฐตั้ง กองทุนร่วมลงทุน โดยรัฐจะขอวงเงิน 5,000 ล้านบาท จากงบฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 วงเงิน 400,000 ล้านบาท ภายใต้ พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงิน 1.9 ล้านล้านบาท ซึ่งสัดส่วนการลงทุนจะไม่เกิน 25% แต่ทั้งนี้จะต้องศึกษาระเบียบและกฎหมาย การเข้าไปร่วมลงทุน ในรูปแบบกองทุนร่วมลงทุนด้วยว่า รัฐสามารถทำได้ขอบเขตแค่ไหน

ซึ่งตนจะเร่งหารือกับ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ภายในสัปดาห์หน้า หรือภายในวันที่ 5 มิ.ย. 2563 เนื่องจากทาง สศช. จะนำมาตรการต่างๆ เข้า ครม. ในวันที่ 7 ก.ค.2563

“อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ มีมูลค่าถึง 2 ล้านล้านบาท จ้างงานกว่า 1 ล้านคน นับเป็นอุตสาหกรรมสำคัญของประเทศ การจะออกมาตรการมาอย่างกองทุนร่วมลงทุนถ้าจำเป็นก็ต้องทำ ซึ่งมันจะไม่ใช่แค่อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ แต่สามารถใช้ได้กับทุกอุตสาหกรรม ส่วนกรณีการย้ายฐานของพานาโซนิค เขาย้ายในส่วนที่เป็นโรงงานเทคโนโลยีไม่สูงไปเวียดนาม แต่ส่วนที่เหลือคือที่เป็นเทคโนโลยีสูง และไตรมาสแรกจะเห็นว่ามีการเปิดโรงงานกลุ่มไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์ถึง 33 โรงเพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว มีปิดเพียง 3 โรง มันสะท้อนว่ายังมีการลงทุนอยู่แน่นอน”

นางกนิษฐ เมืองกระจ่าง ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ และโทรคมนาคม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า กรณีการย้ายฐานของพานาโซนิคไปเวียดนามนั้น เป็นที่ทราบกันว่าเป็นเครื่องใช้ไฟฟ้าอย่างเครื่องซักผ้า ตู้เย็นที่เป็นเทคโนโลยีธรรมดา 2 โรงงาน ส่วนที่เหลือยังลงทุนในไทยอยู่ 18 โรงงาน ซึ่งเป็นสินค้าที่เป็นเทคโนโลยีขั้นสูง ซึ่งตรงกับเป้าหมายที่ไทยต้องการอยู่แล้ว และยังมีแผนที่จะขยายลงทุนเพิ่มเติม

ดังนั้นหากประเมินภาพรวมของอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ขณะนี้ ยังคงยืนยันที่จะใช้ไทยเป็นฐานการผลิตหลัก ทั้งจากเกาหลี ญี่ปุ่น จีน และยังมีแนวโน้มว่าหลังโควิดจะมีการย้านฐานมาลงทุนไทยแน่นอน จึงกลายเป็นผลบวกของอุตสาหกรรมนี้ สะท้อนให้เห็นจากการเปิดโรงงานเพิ่ม และยอดขอบีโอไอเพิ่มขึ้นในช่วงไตรมาส 1/2563

“มาตรการที่เราขอให้ช่วยระยะสั้นเราอยากให้ใช้มาตรการแบบชิมช้อปใช้ มากระตุ้นยอดขายตอนนี้ก่อน ส่วนระยะยาวเราอยากให้ตั้งกองทุนร่วมลงทุนมาใช้”