“น้ำยางสด” ราคาพุ่งทะลุ 45.50 บาท/กก. หลังพ่อค้าแห่ซื้อส่งโรงงานถุงมือยาง ทำออร์เดอร์ล้นทะลักถึงปลายปี 2563 ส่งผลกระทบโรงงานยางแผ่นดิบ-ยางรมควันของสหกรณ์วิสาหกิจยางแข่งราคาไม่ไหว ต้นทุนพุ่ง ขาดทุนหนัก ต้องทยอยปิดโรงงานไปแล้วกว่า 90%
แหล่งข่าวจากสหกรณ์ยางพารา จ.พัทลุง เปิดเผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ขณะนี้กลุ่มพ่อค้ายางพาราเอกชนต่างแข่งขันกันรับซื้อน้ำยางสดมากว่า 1 เดือนแล้ว โดยพ่อค้ายางเสนอราคารับซื้อที่ “สูงกว่า” ราคายางของสหกรณ์-กลุ่มวิสาหกิจยาง กว่า 1-2 บาท/กก. ยกตัวอย่าง หากกลุ่มสหกรณ์วิสาหกิจยางรับซื้อ 39 บาท/กก. กลุ่มพ่อค้าเอกชนก็จะขึ้นราคารับซื้อเป็น 40-42 บาท/กก. หรือต่างกัน 1-3 บาท/กก. จนล่าสุดราคาน้ำยางได้พุ่งขึ้นไปถึง 45 บาท/กก. ส่งผลกระทบต่อสหกรณ์กลุ่มวิสาหกิจยางที่จะต้องซื้อน้ำยางสดจากสมาชิกในราคาที่สูงขึ้นตามไปด้วย โดยสหกรณ์จะต้องใช้เวลาอีก 5-6 วัน ในการนำมาแปรรูปเป็นยางแผ่นรมควัน มีต้นทุนการผลิตประมาณ 5-6 บาท/กก. แบ่งเป็นค่าไม้ฟืน, คนงาน ดังนั้นเมื่อนำยางแผ่นรมควันออกขายบางครั้งราคาลดต่ำลงไป ส่งผลให้สหกรณ์ยางเกือบทุกแห่งประสบภาวะขาดทุน
“หากดูราคาประมูลยางแผ่น ณ ตลาดกลางยางพารา จ.สงขลา จะเห็นว่าราคาขยับไล่หลังตามราคาน้ำยางสด ยกตัวอย่าง ตั้งแต่วันที่ 30 เม.ย. 63 ราคาน้ำยางสดหน้าโรงงานต่อกิโลกรัมอยู่ที่ 39.20 บาท ยางแผ่นดิบ 35.20 บาท ยางแผ่นรมควันชั้น 3 อยู่ที่ 39.75 บาท หลังจากราคาน้ำยางสดขยับขึ้นมาเรื่อยถึงวันที่ 20 พ.ค. 63 ราคาน้ำยางสดอยู่ที่ 40 บาท, วันที่ 25 พ.ค. 63 เพิ่มเป็น 41 บาท, 28 พ.ค. 63 ขึ้นมาที่ 42 บาท วันที่ 2 มิ.ย. 63 มายืนที่ 43.10 บาท วันที่ 4 มิ.ย. 63 เพิ่มเป็น 44 บาท, วันที่ 8 มิ.ย.ขึ้นมาที่ 45 บาท และล่าสุดวันที่ 9 มิ.ย. 63 ราคาน้ำยางสดขึ้นมาเป็น 45.50 บาท ในขณะที่ยางแผ่นดิบอยู่ที่ 37.10 บาท ยางแผ่นรมควันชั้น 3 อยู่ที่ 43.18 บาท
นายกัมปนาท วงศ์ชูวรรณ ผู้จัดการกลุ่มเกษตรกรทำสวนธารน้ำทิพย์ สถาบันเกษตรกรแปรรูปยางพารา ผู้ส่งออกรายใหญ่ทางภาคใต้ กล่าวว่า ขณะนี้สถาบันเกษตรกรสหกรณ์-วิสาหกิจชุมชน-กลุ่มยาง ต่างผลิตน้ำยางสดกันแทบทั้งหมด หากทำยางแห้งแปรรูปเป็นยางรมควัน-ยางแผ่นดิบจะขาดทุน เพราะมีส่วนต่างระหว่างน้ำยางสดกับยางแห้งถึง 3-4 บาท/กก. ส่วนสาเหตุที่น้ำยางสดราคาสูงก็เพราะตลาดทั่วโลกต้องการนำน้ำยางไปผลิตเป็นถุงมือยาง ในกลุ่มฯสวนธารน้ำทิพย์มีออร์เดอร์น้ำยางสดมาตลอดทั้งปีจนไม่มีสินค้าส่งให้ตามออร์เดอร์และล้นทะลักไปตลอดปี 2563 ส่งผลให้ทิศทางราคายางพาราน่าจะดีขึ้น
“ความต้องการน้ำยางสดมีมากขึ้น ทำให้ไม่สามารถผลิตยางแห้ง เช่น ยางรมควัน ยางแผ่นดิบได้ ส่งผลไปถึงเรื่องการบริหารจัดการและแรงงาน หากปิดโรงงานยางแผ่น แรงงานก็จะตกงาน และหากจะกลับมาเปิดโรงงานใหม่ก็จะต้องหาแรงงานใหม่อีกเพราะในอนาคตโรงงานอุตสาหกรรมแปรรูปน้ำยางข้นก็จะเกิดปัญหาน้ำยางล้นไซโลหรือถังเก็บ เมื่อนั้นราคาน้ำยางสดจะถูกกดดันลงมาจนต้องหันมาผลิตยางรมควัน-ยางแผ่นดิบ ดังนั้นทางออกก็คือรัฐบาลต้องออกแบบมาตรการรองรับต้องออกมาสนับสนุนต้นทุนการผลิตยางแผ่นรมควันและยางแผ่นดิบเพื่อให้เกิดการจ้างแรงงาน รักษาแรงงาน ซึ่งที่ผ่านมาได้หารือกับการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) ถึงประเด็นดังกล่าวแล้ว” นายกัมปนาทกล่าว
นายเรืองยศ เพ็งสกุล ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนคนกรีดยางและชาวสวนยางรายย่อยถ้ำพรรณนรา (วคยถ.) กล่าวว่า กลุ่มเครือข่าย วคยถ.ซึ่งมีสมาชิกรวมกันประมาณ 3,000 โรงงานทั่วประเทศ แบ่งเป็น โรงงานอุตสาหกรรมแปรรูปยางรมควันและยางแผ่นดิบประมาณ 400 โรง จากประมาณ 2,000 โรงทั่วประเทศ และกลุ่มแปรรูปยางแผ่นดิบอีกประมาณ 1,000 โรงทั่วประเทศ กำลังได้รับผลกระทบอย่างหนัก เนื่องจากน้ำยางสดราคาสูงขึ้นมากจนไม่สามารถนำไปผลิตเป็นยางแผ่นดิบและยางรมควันได้ ส่งผลกระทบให้โรงงานแปรรูปยางรมควันและยางแผ่นดิบในกลุ่มต้องปิดตัวเองไปประมาณ 90% โดยหันมาขายน้ำยางสดแทน
ทั้งนี้ ภาคใต้ตอนกลาง น้ำยางสดมีราคาซื้อขายกันอยู่ที่ 45 บาท/กก. แต่ยางรมควัน 43 บาท/กก. และยางแผ่นดิบ 37 บาท/กก. ขณะที่ต้นทุนการผลิตยางแผ่นรมควันอยู่ที่ 6 บาท/กก. หากนำไปขายก็จะขาดทุนทันที 4-6 บาท/กก. ทางกลุ่มจึงจำเป็นต้องหันไปผลิตเป็นน้ำยางสด แต่เมื่อไปนำขายก็ขาดทุน DRC (สูตรคำนวณการหาปริมาณเนื้อยางแห้ง) อีกวันละ 10 กก. โดยในกลุ่มตนมีน้ำยางสดประมาณ 8,000 กก. ขาดทุน 10 กก./วัน หรือขาดทุนประมาณ 400 บาท/วัน เฉพาะในกลุ่ม วคยถ.มีประมาณ 400 โรง มีน้ำยางสดกว่า 3 ล้านกิโลกรัม จะถูกกด DRC ไปปริมาณมหาศาลรวมถึงกลุ่มอื่น ๆ และกลุ่มยางแผ่นดิบด้วย
นายเรืองยศกล่าวต่อไปว่า เพื่อแก้ไขปัญหาระหว่างยางแห้งกับน้ำยางสดให้เกิดความสมดุล ขอเสนอให้รัฐบาลใช้ พ.ร.บ.การควบคุมยาง พ.ศ. 2542 มาบังคับใช้ หรือหากควบคุมไม่ได้ก็ให้รัฐบาลสนับสนุนการประกันต้นทุนการผลิต เช่น การผลิตยางรมควัน 6 บาท/กก. และยางแผ่นดิบ 4 บาท/กก. แต่หากราคาสูงกว่าต้นทุนการผลิต รัฐบาลก็ไม่ต้องออกมาประกันให้
“เราได้ยื่นหนังสือการแก้ปัญหาความสมดุลระหว่างยางแห้งกับน้ำยางสดถึงนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) ตั้งแต่ 3 เดือนที่แล้ว แต่เรื่องยังเงียบอยู่ หากไม่ติดสถานการณ์ไวรัส COVID-19 ทางกลุ่มก็จะเดินทางไปทวงถามข้อเสนอที่กระทรวงเกษตรฯเลย ที่ผ่านมาโรงงานแปรรูปยางรมควัน-ยางแผ่นดิบขาดทุนไปแล้วกว่า 1,500 ล้านบาท” นายเรืองยศกล่าว