ไทยผงาดพลังงานอาเซียน ASEAN Power Grid เชื่อม 4 ปท.

การประชุมรัฐมนตรีพลังงานอาเซียน และพิธีมอบรางวัล ASEAN Energy Awards 2017 ที่กรุงมะนิลา สาธารณรัฐฟิลิปปินส์ เมื่อเร็ว ๆ นี้ ประเทศไทยสร้างความโดดเด่น โดยเฉพาะการพัฒนาพลังงานทดแทน ควบคู่ไปกับการลดการใช้พลังงาน โดยภาคเอกชนสามารถนำโครงการต่าง ๆ คว้าหลายรางวัลในครั้งนี้

อาเซียนชูเพิ่มพลังงานทดแทน

ประเทศไทย ถือเป็นผู้นำในการพัฒนาพลังงานทดแทนในอาเซียน โดย พล.อ.อนันตพร กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวภายหลังการร่วมประชุมรัฐมนตรีพลังงานอาเซียนว่า การประชุมครั้งนี้มุ่งติดตามความคืบหน้าแผนงานต่าง ๆ อาเซียนมีเป้าหมายเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานหมุนเวียนร้อยละ 23 ของการใช้พลังงานขั้นสุดท้ายภายในปี 2568 ซึ่งปัจจุบันลดการใช้ได้แล้วกว่าร้อยละ 14

นอกจากนี้ ที่ประชุมได้หารือถึงทิศทางการใช้ก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ที่แต่ละประเทศมีการใช้เพิ่มขึ้น และหารือถึงความร่วมมือที่จะเพิ่มอำนาจการต่อรองในการซื้อของภูมิภาคนี้ รวมถึงการปรับตัวรองรับเทคโนโลยีด้านพลังงานที่เปลี่ยนไป นอกจากนี้ ได้มีการหารือระดับทวิภาคีระหว่างไทยกับสิงคโปร์ ซึ่งจะเป็นเจ้าภาพการประชุมครั้งหน้าด้วย

สำหรับฟิลิปปินส์ในฐานะประเทศเจ้า ภาพในปีนี้ระบุว่า ฟิลิปปินส์มีปัญหาการจัดระบบโลจิสติกส์ เนื่องจากภูมิประเทศส่วนใหญ่เป็นเกาะแก่ง รวมถึงอัตราค่าไฟฟ้าแพงกว่าไทยถึง 2 เท่า ขณะนี้ได้กระจายเชื้อเพลิงที่ใช้ในการผลิตไฟฟ้าเพื่อลดความเสี่ยงจากการใช้ พลังงานประเภทใดประเภทหนึ่งเท่านั้น

Advertisment

ไทยกวาด 19 รางวัลพลังงาน

ภายใน งานมีกิจกรรมมอบรางวัล ASEAN Energy Awards ซึ่งกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) ได้ดำเนินการคัดเลือกผู้ประกอบการไทยที่มีการพัฒนาระบบภายในองค์กรให้เพิ่ม ประสิทธิภาพการใช้พลังงานผ่านการประกวด Thailand Energy Awards ขึ้นเป็นประจำทุกปี ก่อนจะส่งเข้าประกวดในเวที ASEAN Energy Awards โดยในปี 2560 นี้คว้ารางวัลได้ 19 รางวัล ถือว่า “มากที่สุด” ในเวทีครั้งนี้

สำหรับ 19 รางวัลจาก ASEAN Energy Awards แบ่งเป็นด้านพลังงานทดแทน รวม 9 ผลงาน เช่น บริษัท ทีพีไอ โพลีน จำกัด (มหาชน) ในโครงการผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงขยะ หรือ RDF กำลังผลิต 60 เมกะวัตต์ จุดแข็งคือ การนำขยะจากชุมชน ฯลฯ มาเป็นเชื้อเพลิงร่วมในเตาเผาปูนเม็ดทดแทนถ่านหิน และส่วนที่เหลือนำมาเป็นเชื้อเพลิงในโรงไฟฟ้า โครงการดังกล่าวลงทุน 3,967 ล้านบาท ได้รับส่วนเพิ่มค่าไฟ (adder) อยู่ที่ 3.50 บาท/กิโลวัตต์รวมถึงบริษัท มิตรผล ไบโอฟูเอล จำกัด (สาขาชัยภูมิ) ในโครงการเอทานอลมิตรผล ภูเขียว ซึ่งมีกากน้ำตาล (โมลาส) 200,000 ตัน/ปี นำมาเพิ่มมูลค่าผลิตเอทานอลขายให้ผู้ค้าน้ำมัน และมีผลพลอยได้จากการผลิตเอทานอล คือ วีนัส (Vinasses) นำไปแจกให้เกษตรกร เพื่อเป็นสารปรับปรุง และฟูเซลออยล์ (fusel oil) นำไปเป็นสารตั้งต้นการผลิต ด้านการอนุรักษ์พลังงานรวม 10 ผลงาน เช่น อาคารศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์ และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ ที่ปรับปรุงอาคาร ตั้งค่าอุณหภูมิเครื่องทำความเย็นให้เหมาะสม ออกแบบระบบปรับอากาศให้ส่งลมเย็นแตกตามเฉพาะตู้เพื่อลดการใช้พลังงาน

ดันความร่วมมือซื้อขายไฟฟ้า

Advertisment

ในการประชุมครั้งนี้ยังมีการลงนามซื้อขายไฟฟ้า Energy Purchase and Wheeling Agreement (EPWA) สำหรับโครงการ Lao PDR, Thailand and Malaysia-Power Interconnection Project หรือ LTM-PIP ระหว่างการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ร่วมกับรัฐวิสาหกิจไฟฟ้าลาว (ฟฟล.) และ Tenaga Nasional Berhad (TNB) ระหว่างการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสอาเซียนด้านพลังงาน (ASEAN Minister on Energy Meeting and its Associated Meetings : AMEM) ครั้งที่ 35 ด้วย โครงการนี้อยู่ภายใต้กรอบบันทึกความเข้าใจในการบูรณาการด้านไฟฟ้าระหว่าง สปป.ลาว ไทย และมาเลเซีย (LTM-PIP MOU) เมื่อ 21 กันยายน 2559 ในการประชุม AMEM ครั้งที่ 34 โดยมีเป้าหมายให้มีการขายไฟฟ้าจาก สปป.ลาว ไปยังมาเลเซีย ผ่านระบบส่งของไทย 100 เมกะวัตต์

โครงการ LTM-PIP เป็นความร่วมมือของ 4 ประเทศ ได้แก่ สปป.ลาว ไทย มาเลเซีย และสิงคโปร์ ตามแผนของ ASEAN Power Grid (APG) โดยในระยะที่ 1 (ปี 2561-2562) จะส่งไฟฟ้าจาก สปป.ลาว ไปยังมาเลเซีย โดยผ่านระบบส่งของไทย จากนั้นในระยะที่ 2 (ปี 2563 เป็นต้นไป) จะส่งไฟฟ้าจาก สปป.ลาว ไปยังสิงคโปร์ โดยผ่านระบบส่งของไทยและมาเลเซีย

เขย่าแผนพีดีพียกแผง

จากนโยบายพลังงานทดแทนที่มีความคืบหน้าค่อนข้างมาก โดยเฉพาะการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ ทำให้การใช้ไฟฟ้าจากระบบของทั้ง 3 กิจการ คือ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) และการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) ลดน้อยลง ด้านนายกรศิษฐ์ ภัคโชตานนท์ ผู้ว่าการ กฟผ. กล่าวว่า ขณะนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องอยู่ในระหว่างปรับแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าใหม่ ของประเทศ หรือ PDP (Power Development Plan 2558-2579) ซึ่งภาพของการใช้พลังงานเปลี่ยนไปค่อนข้างมาก แต่สิ่งสำคัญคือการประเมินอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศ หรือ GDP จะมีทิศทางอย่างไร เพราะตามแผนเดิมมีการคาดการณ์ว่าจะขยายตัวถึงร้อยละ 3 แต่กลับไม่ขยายตัวตามที่คาดการณ์เอาไว้

“เขย่าพีดีพีใหม่ยกแผง ต้องมีตัวเลขยืนยันชัดเจนว่าสัดส่วนพลังงานทดแทนจะต้องเพิ่มสัดส่วนจากเดิม หรือไม่ ส่วนจะกระทบต่อกำลังผลิตใหม่ในส่วนของ กฟผ.คงต้องรอความชัดเจนจากการปรับแผนพีดีพีครั้งนี้”