กพร.ไม่ทิ้งแผนแม่บทดัน 5 เหมืองแร่ หนุนเศรษฐกิจ

เหมืองแร่

“กพร.” ดัน 5 แร่เศรษฐกิจอีกรอบ หวังสร้างมูลค่าเศรษฐกิจ พร้อมลุยของบฯ พ.ร.ก.เงินกู้ 50 ล้านบาท ฟื้นฟูขุมเหมืองร้างเก็บน้ำ รับนโยบาย “ประวิตร” สั่ง คนร.ดูแลผลกระทบรอบเหมืองห้ามกระทบชุมชน ล่าสุด 5 เดือนต่ออายุประทานบัตรกว่า 40 รายโควิด-งบประมาณรัฐทำยอดขายหด

นายวิษณุ ทับเที่ยง อธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่(กพร.) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า กพร.มีนโยบายเสนอแผนพัฒนา 5 แร่เศรษฐกิจที่สำคัญ ได้แก่ โพแทช ควอตซ์ เหล็ก ทองคำ และถ่านหิน เนื่องจากแร่กลุ่มนี้เป็นวัตถุดิบสำหรับช่วยต่อยอดทางอุตสาหกรรม มีส่วนสำคัญในการพัฒนาประเทศ และช่วยลดการนำเข้าจากต่างประเทศได้  โดยกรมฯจะจัดทำแผนการใช้แร่แต่ละชนิดตั้งแต่ต้นน้ำ- ปลายน้ำ พร้อมศึกษาผลประโยชน์และผลกระทบ การพัฒนาห่วงโซ่เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มและรายได้

“แผนแร่ 5 ชนิดนี้ได้ถูกดันให้เข้าไปไว้ในแผนแม่บทบริหารจัดการแร่แห่งชาติ (2560-2564) ซึ่งเป็นภาพรวมใหญ่ และได้เคยเสนอให้คณะกรรมการพัฒนาอุตสาหกรรมแห่งชาติ (กอช.) ซึ่งรองนายกรัฐมนตรีสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ เป็นประธานไปก่อนหน้านี้ แต่ยังไม่มีการพิจารณาใด ๆ น่าจะมีโอกาสดึงกลับมาเสนอใหม่ เพราะจากสถานการณ์การทำเหมืองแร่ปี 2563 ได้รับผลกระทบน้อยมาก ยังไม่มีการประกาศหยุดการทำเหมือง หรือเลิกจ้างงานใด ๆ”

อย่างไรก็ตาม จากการสำรวจรายงานผู้ประกอบการในทุกสัปดาห์ พบว่าการซื้อขายแร่ลดลงเป็นผลจากการเบิกจ่ายงบประมาณรัฐที่ล่าช้า ไม่สามารถนำออกมาดำเนินโครงการตามเป้าหมาย บวกกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 เป็นอีกส่วนหนึ่ง ทำให้ยอดขายหายไป กพร.จึงคาดหวังงบประมาณจากภาครัฐที่จะเบิกจ่ายให้โครงการก่อสร้างต่าง ๆ ได้เดินหน้าต่อไป

ล่าสุด กพร.ได้ขอให้รัฐอนุมัติงบฯ 50 ล้านบาท จากงบฯฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม 400,000 ล้านบาท เพื่อเร่งดำเนินการฟื้นฟูขุมเหมือง หรือเหมืองเก่าที่หมดอายุสัมปทานไปแล้ว นำกลับมาเป็นแหล่งเก็บน้ำเพื่อใช้ในการเกษตร ให้กับชุมชนและเกษตรกรในพื้นที่ ซึ่งขณะนี้งบฯดังกล่าวยังไม่ได้รับการอนุมัติ สำหรับการฟื้นฟูเหมืองร้าง เป็นส่วนหนึ่งตามนโยบายที่ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายบริหารจัดการแร่แห่งชาติ (คนร.) ซึ่งได้มีการประชุมไปเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ได้กำชับให้ดูแลผลการฟื้นฟูเหมือง และผลกระทบจากการทำเหมืองแร่ทั่วประเทศ เพื่อไม่ให้ชุมชนโดยรอบเดือดร้อน

ทั้งนี้ ปัจจุบันได้มีการนำน้ำจากขุมเหมืองไปใช้ประโยชน์เพื่อการอุปโภคและใช้ในพื้นที่เกษตรกรรมแล้ว 9 บ่อเหมือง มีปริมาณน้ำ 32,729,600 ลบ.ม. จากเป้าหมายพื้นที่ทั่วประเทศ 238 แปลง จำนวน 35 บ่อเหมือง มีปริมาณน้ำรวม 166,019,100 ลบ.ม. ประเด็นที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีแนวคิดจะดึงเหมืองร้างไปอยู่ภายใต้สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) และให้ดึงเงินจากค่าภาคหลวงที่เก็บได้ในแต่ละปีไปบริหารจัดการส่วนนั้น อาจมีความเข้าใจคลาดเคลื่อน เพราะตามกระบวนการ เมื่อเหมืองหมดสัมปทานแล้ว และได้มีการฟื้นฟูตามกฎหมายแล้ว จากนั้นเหมืองก็จะกลับเข้าไปอยู่ภายใต้อำนาจของเจ้าของเดิม เช่น ส.ป.ก. กรมป่าไม้ซึ่งจะนำไปทำการเกษตรก็สามารถทำได้ หากไม่มีแร่โลหะอันตรายอยู่ โดยปัจจุบันเหมืองในประเทศไทยส่วนใหญ่กว่า600 แห่ง ไม่มีแร่โลหะที่เป็นอันตรายอยู่ ส่วนใหญ่เป็นเหมืองหิน ดีบุก ยิปซัม แต่จะมีเพียง 2-3 เหมืองเท่านั้นที่มีแร่โลหะหนักผสม

สำหรับการอนุญาตประทานบัตรเหมืองแร่ 5 เดือน (ม.ค.-พ.ค. 2563) ส่วนใหญ่เป็นการต่อใบอนุญาตเหมืองหินในพื้นที่เดิม เช่น สระบุรี มีจำนวน 40 รายเฉลี่ย 8 ราย/เดือน ส่วนรายใหม่มียื่นขอเข้ามาบ้าง แต่ด้วยสถานการณ์อาจยังไม่น่าลงทุน และเหมืองในประเทศก็ยังอยู่ระหว่างรอการสำรวจ