ตั้งโรงไฟฟ้าไม่ต้องขอ รง.4 ผลิตไฟใช้เองแจ้งแค่ กกพ.

แฟ้มภาพ

กรมโรงงานอุตสาหกรรมประชาพิจารณ์ถอดประเภทกิจการโรงไฟฟ้าเพื่อจำหน่ายรัฐออกจากกฎกระทรวงไม่ต้องขอ รง.4 ให้ กกพ.ออกใบอนุญาตแทน หวังลดความซ้ำซ้อน ด้านโรงงานอ้อยชี้ข้อดี รัฐจัดระบบสร้างความสมูทกระแสไฟได้ดีขึ้น

นายประกอบ วิวิธจินดา อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า กรอ.ได้เปิดรับฟังความคิดเห็นของประชาชนถึงร่างกฎกระทรวง ฉบับที่… (พ.ศ. …) ภายใต้

พ.ร.บ.โรงงาน พ.ศ. 2535 ซึ่งจะให้โรงงานประกอบกิจการผลิตพลังงานไฟฟ้า ซึ่งเป็นประเภทหรือชนิดลำดับที่ 88 ไม่ต้องขอใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน (รง.4) กับทาง กรอ.อีกต่อไป เพื่อลดความซ้ำซ้อน ลดภาระของผู้ประกอบกิจการ สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติด้านการสร้างรายได้ และการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันโดยจะให้ทางสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เป็นผู้รับผิดชอบออกใบอนุญาตแทน สำหรับโรงไฟฟ้าผลิตเพื่อจำหน่ายให้กับทางภาครัฐหรือขายต่อ รวมถึงโรงไฟฟ้าจำหน่ายให้กับรัฐและเหลือใช้เอง เช่น โรงงานน้ำตาล จะถือว่าเป็นการเพื่อจำหน่ายจะต้องขอกับทาง กกพ.ด้วย ส่วนโรงไฟฟ้าที่ผลิตไฟฟ้าไว้ใช้เองยังต้องขอ รง.4 กับทาง กรอ.เช่นเดิม

“ที่ผ่านมาระบบของ กกพ. ก็มีการควบคุมดูแลโรงไฟฟ้าเข้มอยู่แล้ว นี่จะช่วยลดความซ้ำซ้อนไม่ต้องยื่นขอใบอนุญาตหลายที่”

สำหรับกิจการผลิตพลังงานไฟฟ้า ซึ่งเป็นประเภทหรือชนิดลำดับที่ 88 ประกอบด้วย การผลิตพลังงานไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ ยกเว้นที่ติดตั้งบนหลังคา ดาดฟ้าหรือส่วนหนึ่งส่วนใด

บนอาคาร ซึ่งบุคคลอาจเข้าอยู่หรือใช้สอยได้ โดยมีขนาดกำลังการผลิตติดตั้งสูงสุดรวมกัน ของแผงเซลล์แสงอาทิตย์ไม่เกิน 1,000 กิโลวัตต์ การผลิตพลังงานไฟฟ้าจากพลังงานความร้อน, การผลิตพลังงานไฟฟ้าจากพลังงานน้ำ ยกเว้นการผลิตพลังงานไฟฟ้าจากพลังงานน้ำจากเขื่อน หรือจากอ่างเก็บน้ำ ขนาดกำลังการผลิตไม่เกิน 15 เมกะวัตต์, การผลิตพลังงานไฟฟ้าจากพลังงานน้ำแบบสูบกลับ, การผลิตพลังงานไฟฟ้าจากพลังงานน้ำท้ายเขื่อน การผลิตพลังงานไฟฟ้าจากพลังงานน้ำจากฝาย และการผลิตพลังงานไฟฟ้าจากพลังงานน้ำจากคลองส่งน้ำ ซึ่งเดิมโรงงานผลิตพลังงานเหล่านี้กำหนดให้การตั้งโรงงานและการประกอบกิจการ จะต้องได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน (รง.4) ก่อน จึงจะดำเนินการได้ ซึ่งปัจจุบันมีโรงงานผลิตพลังงานไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานความร้อน และพลังงานน้ำ ที่ได้รับใบอนุญาต รง.4 แล้ว 1,206 โรงงาน

แต่ต่อมาภายใต้ พ.ร.บ.การประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ. 2550 ให้มีอำนาจในการควบคุมกำกับดูแลกิจการพลังงาน ซึ่งรวมถึงการผลิตพลังงานไฟฟ้าด้วย ดังนั้น กรอ.จึงหารือกับ กกพ. แล้วมีความเห็นร่วมกันว่า ควรกำหนดให้โรงงานผลิตพลังงานไฟฟ้าในลำดับที่ 88 ไม่ต้องอยู่ภายใต้บังคับตาม พ.ร.บ.โรงงาน พ.ศ. 2535 อีกต่อไป เนื่องจากเป็นกิจการพลังงานที่มี พ.ร.บ.การประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ. 2550 กำกับดูแลอยู่แล้ว จึงเตรียมยกเลิกโรงงานผลิตพลังงานไฟฟ้า ออกจากบัญชีท้ายกฎกระทรวง

และเมื่อยกเลิกเสร็จแล้ว จะส่งผลให้โรงงานผลิตพลังงานไฟฟ้าดังกล่าวข้างต้น ไม่เป็นโรงงานตามพระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ. 2535 อีกต่อไป อย่างไรก็ตาม คาดว่ายังต้องใช้เวลาอีกพอสมควร และยังต้องเสนอเข้า ครม.พิจารณาที่อาจข้ามไปปี 2564 เพราะหากตัดประเภทกิจการใดกิจการหนึ่ง อาจกระทบกับอีกกิจการหนึ่งที่เกี่ยวข้อง การถอดโรงไฟฟ้าออกจากกฎหมายโรงงานจึงต้องใช้เวลานานพอสมควร

นายสิริวุทธิ์ เสียมภักดี รองประธานคณะกรรมการบริหาร บริษัท ไทยชูการ์ มิลเลอร์ จำกัด (TSMC) กล่าวว่า ด้วย กกพ.มีหน้าที่กำกับดูแลเรื่องการผลิตไฟฟ้าอยู่แล้ว การจะเข้ามาควบคุมกิจการผลิตโรงไฟฟ้าลำดับที่ 88 ถือว่ามีข้อดีอยู่บ้าง นั่นเพราะรัฐต้องการจัดระบบ เพื่อจัดสรรกระแสไฟให้มีความราบรื่นทั่วทั้งประเทศ และดึงส่วนที่เกินไปทดแทนส่วนที่ขาด

“ก่อนนี้มันไม่ชัดเจน อย่างโรงงานน้ำตาลที่ภาคอีสาน ช่วงหีบอ้อยเขาใช้ไฟมากก็ผลิตไฟใช้เอง แต่ก็มีไฟที่เหลือเขาจะขายรัฐ ก็ขายไม่ได้เพราะเขามีแต่ใบอนุญาตจาก กรอ. คือผลิตใช้เองเท่านั้น ดังนั้น หากเขาขอ กกพ.ได้เลยทางเดียว เขาจะผลิตขายแล้วเอามาใช้ในโรงงานก็ได้ด้วย”

อย่างไรก็ตาม มองว่าขั้นตอนการแก้กฎหมายยังต้องใช้ระยะเวลาอีกนาน และหากถอดกิจการผลิตไฟฟ้าเพื่อจำหน่ายออกจากกฎหมาย ทางกรอ.ยังต้องหารือกับกลุ่มโรงงานอ้อย โรงสีข้าวที่ใช้แกลบ ใช้ชีวมวล ซึ่งจะมีกลุ่มที่ผลิตไฟฟ้าใช้เองและจำหน่ายไฟฟ้าด้วยว่าจะต้องถอดออกจากกฎหมายด้วยหรือไม่