“สุวิทย์ เมษินทรีย์” ปิดจ็อบ เข็น BCG ขับเคลื่อน ศก. 1 ล้านล้าน

ภารกิจวันสุดท้ายก่อนประกาศลาออก “นายสุวิทย์ เมษินทรีย์” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ยังคงมุ่งผลักดันนโยบายเศรษฐกิจในโมเดลทางเศรษฐกิจใหม่ ที่เรียกว่า “BCG” ซึ่งเป็นการพัฒนา 3 เศรษฐกิจ คือ เศรษฐกิจชีวภาพ (bioeconomy) เศรษฐกิจหมุนเวียน (circular economy) และเศรษฐกิจสีเขียว (green economy) ให้เกิดการปฏิบัติจริงนำมาสู่การตั้งคณะทำงาน 9 กลุ่มหลัก ซึ่งมีภาคเอกชนเป็นหัวหอกรวบรวมนำเสนอโมเดล BCG ได้แก่ กลุ่มเกษตร กลุ่มอาหาร กลุ่มพลังงาน วัสดุและเคมีชีวภาพ กลุ่มยาและวัคซีน กลุ่มเครื่องมือแพทย์ กลุ่มท่องเที่ยว กลุ่มเศรษฐกิจหมุนเวียน กลุ่มเศรษฐกิจสร้างสรรค์ และกลุ่มต่อยอดสินค้าเกษตรสู่ผลิตภัณฑ์มูลค่าสูงด้วยนวัตกรรม

ปั้นเศรษฐกิจแสนล้าน

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานเปิดงาน และแสดงปาฐกถา เรื่อง “BCG : โมเดลเศรษฐกิจสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน” กล่าวว่า รัฐบาลได้ประกาศนโยบายที่จะเร่งรัดพัฒนาประเทศ ด้วยการใช้โมเดลทางเศรษฐกิจใหม่ที่เรียกว่า BCG ให้เป็นรูปธรรมใน 5 ปีนับจากนี้ คาดว่าจะช่วยเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจเป็น 4.4 ล้านล้านบาท จากปัจจุบันอยู่ที่ 3.4 ล้านล้านบาท ทำให้เกิดการจ้างงานกว่า 20 ล้านคน จากปัจจุบันเศรษฐกิจ BCG สร้างการจ้างงานทั้งระบบ 16.5 ล้านคน รวมถึงการลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงยาและเวชภัณฑ์ ลดการใช้ทรัพยากร ลดปัญหามลพิษและสิ่งแวดล้อม ตลอดจนลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

พืชเกษตรต่อยอดพลังงาน

นายเทวินทร์ วงศ์วานิช อดีตประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ในฐานะประธานกลุ่มพลังงาน วัสดุและเคมีชีวภาพ (BEMC) กล่าวว่า ในกลุ่มกำหนดแผนสำคัญ 5 เรื่อง โดยใช้พื้นฐานจากพืชเกษตรที่จะนำไปสู่แผนปฏิบัติของ BCG คือ

Advertisment

1.จะต้องนำต้นทุนเรื่องของสิ่งแวดล้อมมาเป็นส่วนหนึ่งของสมการ ในการกำหนดกลไกตลาด ที่จะนำไปสู่
การคำนวณราคาคาร์บอน (carbon pricing), ภาษีคาร์บอน (carbon tax) และภาษีสีเขียว (green tax) เพราะการจะคิดจากต้นทุนการผลิตอย่างเดียวจะทำให้ผลิตภัณฑ์ชีวภาพเสียเปรียบ

2.การขับเคลื่อนเชื้อเพลิงชีวภาพ จากรถยนต์ที่ใช้ปิโตรเลียมสู่รถพลังงานไฟฟ้า (EV) ซึ่งจะทำอย่างไรให้เชื้อเพลิงชีวภาพจากอ้อย มัน ข้าว ยาง ปาล์ม อยู่ต่อไป และเมื่อเป็น EV แล้วจะใช้เชื้อเพลิงชีวภาพแบบไหนได้บ้าง

3.การสนับสนุนชุมชน โดยใช้ทรัพยากรเชื้อเพลิงชีวภาพที่มีอยู่มาเป็นต้นทุน เพื่อให้แต่ละชุมชนพึ่งพาตัวเองได้ โดยคาดว่าจะใช้เงินกองทุนหมุนเวียนพลังงาน 5,000 ล้านบาท เข้ามาช่วย

4.สมาร์ทกริด เป็นกลไกที่จะนำไปสู่ไฟฟ้าเสรี เปิดให้ผู้เล่นรายใหญ่รายย่อยเข้ามาอยู่ในระบบได้ เกิดพลังงานชุมชน โรงไฟฟ้าขยะ เป็นการส่งเสริมพลังงานที่มาจากชีวภาพได้

Advertisment

5.ไบโอรีไฟเนอรี่ ที่จะเป็นจุดเริ่มในการนำพืชเกษตรแปรรูปไปสู่เคมี วัสดุชีวภาพ

นายคุรุจิต นาครทรรพ อดีตปลัดกระทรวงพลังงาน ประธานกรรมการองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก ในฐานะประธานกลุ่มย่อย กล่าวว่า ได้หารือถึงรูปแบบความเป็นไปได้ในการเก็บภาษีคาร์บอน และการกำหนดราคาคาร์บอน เพื่อจะได้ขายแข่งกันได้ ดังนั้น คอนเซ็ปต์ คือ สังคมต้องเข้าใจว่าราคาพลังงานมีต้นทุน

ปลูกป่าลดคาร์บอน

นอกจากนี้ได้เสนอ “แผนควิกวิน” กำหนดกติกามาว่า ถ้ามีคนลงทุนปลูกป่า 10,000-100,000 ไร่ แล้วรับรองได้ว่าดูดซับคาร์บอนได้ไร่ละกี่ตัน แบ่งเป็นทรัพย์สินของกรมป่าไม้เท่าไร เป็นของเอกชนเท่าไร หากทำได้ก่อนประเทศอื่นมันจะทำให้เกิดการลงทุน จ้างงานคนมาปลูกป่า และไทยจะเป็นประเทศที่ได้ขึ้นชื่อว่าจริงจังในการทำอ่างกักเก็บคาร์บอน หรือแหล่งดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ (carbon sink) และให้คาร์บอนเครดิตเอกชนมากกว่าครึ่ง อาจเป็นสัดส่วน 90 : 10 แต่ทั้งนี้ไม่สามารถนำเรื่องการปลูกพืชไร่การเกษตร เช่น อ้อย มัน สำหรับผลิตเอทานอล แก๊สโซฮอล์ มากำหนดในกติกานี้ได้ เพราะเป็นพื้นที่เพาะปลูกทางพาณิชย์และได้รายได้จากผลผลิตอยู่แล้ว นอกจากนี้ต้องไม่ใช่การทำลายป่าแล้วปลูกเพื่อให้ได้คาร์บอนเครดิต

นายอรรถ เหมวิจิตรพันธ์ อดีตรองประธานกรรมการ บริษัท เชลล์แห่งประเทศไทย จำกัด ประธานกลุ่มย่อย กล่าวถึงพลังงานในอนาคตว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีปริมาณรถยนต์ 39 ล้านคัน มีการใช้น้ำมันฟอสซิล 1 ล้านบาร์เรล/วัน เอทานอล 4 ล้านลิตร/วัน ดีเซล 4-5 ล้านลิตร/วัน จึงต้องวางแผนเรื่องของการเปลี่ยนแผนพลังงานในอนาคตไว้ในมุมของ BCG คือ พลังงานสะอาดบริสุทธิ์ นั่นคือรถยนต์ไฟฟ้า (EV) ที่จะเกิดในอีก 15 ปีข้างหน้า เป็น EV ขับเคลื่อน
ได้ด้วยเอทานอล ถ้าทำได้ไทยจะเป็นผู้นำแรกในไอเดียนี้ ถ้าเอาไบโอฟิล จากพืชเกษตร 5 ชนิดได้หรือไม่ คือ อ้อย ข้าว ยางพารา มันสำปะหลัง ปาล์ม ถ้าในอนาคตคนกินหรือดีมานด์ลดลง และที่ยุโรปมีโอกาสแบนสินค้าจากน้ำมันปาล์ม จะทำอย่างไรกับพืชเหล่านี้ ตัวแทนสมาคมวิศวกรรมยานยนต์ ตั้งข้อสังเกตว่า ไทยพร้อมกับการมาของ EV เพียงใด เพราะเรายังไม่แข็งแกร่งในการเป็นผู้ผลิตขาย เราคือยูสเซอร์ซื้อมาขายไปในระยะแรก นี่คือข้อเท็จจริง ดังนั้น EV ไม่ควรเกิดในตอนนี้

“ปัจจุบันเราเก็บภาษีน้ำมัน (ปี 2018) สูงถึง 220,000 ล้านบาท มีเกษตรกรปลูกอ้อยและมันกว่า 900,000 ครัวเรือน หาก EV เกิดขึ้นแล้วเกษตรกรจะเป็นอย่างไรถ้าไม่สามารถขายอ้อย มันสำปะหลังได้ ภาครัฐจะสูญเสียรายได้จากภาษี รัฐไม่ควรเร่ง EV ด้วยความไม่เข้าใจโครงสร้างที่แท้จริงจะกระทบต่อโครงสร้างน้ำมัน ผู้ผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ 30% ปิดตัวลง ตนสนับสนุนรถบัสไฟฟ้าแต่ไม่ใช่รถยนต์ส่วนตัว”