8 มาตรการ รับมือขาดแคลนน้ำช่วงฤดูแล้งปี 2563/64 พื้นที่ EEC

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 23 ส.ค. 2563 นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมคณะ ลงพื้นที่ติดตามแผนการบริหารจัดการน้ำ เพื่อพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) ได้ประชุมสรุปผลการดำเนินงาน พร้อมเคาะแผนรองรับปัญหาขาดแคลนน้ำช่วงฤดูแล้งปี 2563/64 พื้นที่ EEC ที่ อ่างเก็บน้ำดอกกราย อำเภอปลวกแดง จังหวัดระยอง

นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ภาคตะวันออกมีปริมาณน้ำเก็บกัก ปัจจุบันมีปริมาตรน้ำปัจจุบัน 957 ล้าน ลบ.ม. ปริมาตรน้ำที่นำมาใช้ได้ 802 ล้าน ลบ.ม. จัดสรรน้ำและเพาะปลูกพืชฤดูฝน 2563 (1 พ.ค. 2563 – 31 ต.ค. 2563) 1,215 ล้าน ลบ.ม.

สำหรับแผนบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ EEC (จังหวัดระยอง ชลบุรี ฉะเชิงเทรา จันทบุรี) มีปริมาณน้ำเก็บกัก (ข้อมูล ณ วันที่ 21 ส.ค. 2563) มีปริมาตรน้ำปัจจุบัน 487 ล้าน ลบ.ม. ปริมาตรน้ำที่นำมาใช้ได้ 386 ล้าน ลบ.ม. แบ่งเป็น อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ 4 แห่ง แผนจัดสรรน้ำและเพาะปลูกพืชฤดูฝน 2563 (1 พ.ค. 2563 – 31 ต.ค. 2563) 644 ล้าน ลบ.ม.

แบ่งเป็นอุปโภค-บริโภค 135 ล้าน ลบ.ม. อุตสาหกรรม 153 ล้าน ลบ.ม. รักษาระบบนิเวศและอื่น ๆ 112 ล้าน ลบ.ม. และด้านเกษตรกรรม 244 ล้าน ลบ.ม. จัดสรรน้ำไปแล้ว 209 ล้าน ลบ.ม.

ทั้งนี้ กระทรวงเกษตรฯ โดยกรมชลประทาน ได้มีการคาดการณ์ปริมาณน้ำอ่างเก็บน้ำ ภาคตะวันออกและพื้นที่ EEC ในช่วงฤดูฝน 2563 ใน 5 กรณี ทั้งกรณีน้ำมาก กรณีน้ำเฉลี่ย กรณีน้ำน้อย กรณี Inflow ปี 2538 และกรณีน้ำ AVG-5% โดยได้วางมาตรการรองรับการขาดแคลนน้ำในพื้นที่ EEC ในช่วงฤดูแล้งปี 63/64

“ขอให้ดูพื้นที่ที่มีฝนมากเป็นหลัก ไม่ใช่ใช้พื้นที่ที่มีอยู่ไปสร้างเพิ่ม และเมื่อสร้างแล้วใช้ท่อส่งไปยังพื้นที่ต่าง ๆ ซึ่งภาคตะวันออกในอนาคตจะเป็นศูนย์กลางของความเจริญ ไม่ว่าจะเป็นภาคการท่องเที่ยว ที่จะกลับมาคึกคักอีกครั้งเมื่อ โควิด-19 คลี่คลายลงภาคอุตสาหกรรม การขยายเมืองจากภาคกลาง ซึ่งจะทำให้ความต้องการใช้น้ำเพิ่มมากขึ้น ต้องเตรียมน้ำให้เพียงพอ” นายเฉลิมชัย กล่าว

นายทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่ากรมชลประทาน ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้วางมาตรการรองรับการขาดแคลนน้ำในพื้นที่ EEC ในช่วงฤดูแล้งปี 63/64 ไว้ 8 มาตรการ ดังนี้ 1) สูบผันน้ำจากอ่างเก็บน้ำคลองใหญ่มายังอ่างเก็บน้ำหนองปลาไหล ปริมาณน้ำตามแผนรวมประมาณ 60 ล้าน ลบ.ม. ปัจจุบันดำเนินการสูบผันน้ำแล้วประมาณ 33.51 ล้าน ลบ.ม.

2) สูบกลับคลองสะพานเติมอ่างประแสร์ ปริมาณน้ำรวมตามแผน 15 ล้าน ลบ.ม. ปัจจุบันดำเนินการสูบผันน้ำแล้วประมาณ 6.94 ล้าน ลบ.ม. 3) เพิ่มการสูบกลับวัดละหารไร่ (แม่น้ำระยอง) มาเสริมปริมาณน้ำให้แก่อ่างเก็บน้ำหนองปลาไหล ปริมาณน้ำตามแผนรวม 12 ล้าน ลบ.ม. ปัจจุบันดำเนินการสูบน้ำไปแล้ว 4.84 ล้าน ลบ.ม.

4) การนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดสูบใช้น้ำจากคลองน้ำหู แผนการใช้น้ำ 5 ล้าน ลบ.ม. ปัจจุบันใช้น้ำไปแล้ว 1.8 ล้าน ลบ.ม. 5) สูบผันน้ำจากคลองพระองค์ไชยานุชิต/พานทองมายังอ่างเก็บน้ำบางพระ ปริมาณน้ำตามแผน 50 ล้าน ลบ.ม. ปัจจุบันสูบผันแล้วประมาณ 5.81 ล้าน ลบ.ม.

6) สูบผันน้ำจากแม่น้ำบางปะกงมายังอ่างเก็บน้ำบางพระ ปริมาณน้ำตามแผนรวม 20 ล้าน ลบ.ม. 7) ประหยัดการใช้น้ำทุกภาคส่วน 8) สูบผันน้ำคลองวังตะโหนด จังหวัดจันทบุรีมายังอ่างเก็บน้ำประแสร์