ดีมานด์โลกดันราคา “ยางแผ่น” 2 กก./100 บ. สูงสุดรอบ 6 ปี

ยางพาราแผ่น
CHRISTOPHE ARCHAMBAULT / AFP

โควิดกู้ราคายาง ชาวสวนเฮ ได้เห็นยางแผ่นรมควันชั้น 3 สองกิโล100 บาท สูงสุดในรอบ 6 ปี กยท.ลั่นไตรมาส 3 ตลาดยางโลกคึกคักทุนนอกรุมจีบยางไทยในสต๊อก 600,000 ตัน ชี้วิกฤตโควิด-19 เป็นโอกาสบริหารจัดการโซนนิ่ง เกษตรกรเองหันมาจัดโซนนิ่ง 2.7 ล้านไร่ ที่ไม่เหมาะสมให้ลดซัพพลายสำเร็จแล้วกว่า 8,000 ไร่ ตั้งเป้า 3 ปี 400,000 ไร่

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานว่า หลังจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 คลี่คลาย ยอดส่งออกผลิตภัณฑ์ยางในเดือนมิถุนายน 2563มีมูลค่าถึง 947 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น10.5% สวนทางภาพรวมการส่งออกยางพาราของไทยในช่วงครึ่งปีแรก (ม.ค.-มิ.ย.) 2563 มีปริมาณ 1.33 ล้านตัน ลดลง 19.8% ขณะที่มูลค่าส่งออก 1,695 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 14.1% และสินค้าผลิตภัณฑ์ยางมีมูลค่า 5,438 ล้านเหรียญสหรัฐลดลง 0.4% ส่งผลให้ความต้องการใช้ยางเพิ่มขึ้น ประกอบกับเป็นช่วงฤดูฝนที่ปริมาณยางออกน้อย ผลักดันให้ราคายางพาราสูงขึ้น

ล่าสุดเมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2563 รายงานการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) ระบุว่า ราคายางแผ่นรมควันชั้น 3 อยู่ที่ กก.ละ 58.25 บาท ยางแผ่นดิบ กก.ละ 50.5 บาท น้ำยางสด กก.ละ 44 บาท และราคาส่งออก เอฟโอบี กก.ละ 61.50 บาท ซึ่งไม่เพียงสูงสุดหากเทียบกับระดับราคาในช่วง 7 เดือนที่ผ่านมา แต่ยังเป็นระดับราคาที่สูงสุดรอบ 6 ปีนับจากเดือนสิงหาคม 2557 (หลังจากรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เข้ามาบริหารประเทศ) ราคายางแผ่นรมควันชั้น 3 อยู่ที่ กก.ละ 56.27 บาท ยางแผ่นดิบ กก.ละ 52.01 บาท น้ำยางสดกก.ละ 52.86 บาท และราคาส่งออก เอฟโอบี กก.ละ 59.85 บาท

ทั้งนี้ ระดับราคายางพาราในตลาดถือว่าสูงในระดับใกล้เคียงกับราคาประกันรายได้ยางพารา เฟส 2 ที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) เตรียมพิจารณาอนุมัติในเดือนตุลาคมนี้ โดยกำหนดราคาประกันยางแผ่น กก.ละ 60 บาท น้ำยางข้น กก.ละ 57 บาท และยางก้อนถ้วย กก.ละ 46 บาท ระยะเวลา 5 เดือน นับจากเดือนสิงหาคม-ธันวาคม 2563 โดยมีเกษตรกรที่มาขึ้นทะเบียนกับกระทรวงเกษตรฯจนถึงวันที่ 15 พฤษภาคม 2563 แล้ว 18 ล้านคน คาดว่าจะใช้งบประมาณวงเงิน 30,000 ล้านบาท

นายณกรณ์ ตรรกวิรพัท ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) เปิดเผยว่า สถานการณ์ราคายางในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมา เริ่มปรับเป็นขาขึ้นอย่างเห็นได้ชัด สถานการณ์ราคายางที่กลับมาเป็นขาขึ้นเนื่องจากแนวโน้มการใช้ยางไตรมาส 3 เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลาย หลายประเทศเริ่มกลับมาออร์เดอร์ยางไทยที่มีสต๊อก 600,000 ตัน โดยเฉพาะตลาดใหญ่ จีน อเมริกา

“สถิติราคายางไทย ในอดีตปี 2554 เคยขายได้สูงถึง กก.ละ 150 บาท แต่เมื่อเกษตรกรระดมปลูกยางพารามากขึ้นระดับราคาจึงทยอยปรับลดลง จึงพยายามเน้นผลิตภัณฑ์แปรรูปให้มากขึ้น แม้มีออร์เดอร์แต่จากนี้ไทยจะไม่พึ่งพาการส่งออกมากเกินไป ดังนั้นในช่วงที่เกิดโควิด-19 เป็นช่วงที่ไม่มีการกรีดยางและตลาดชะลอ กยท.จึงเห็นโอกาสเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมในการจัดโซนนิ่งอย่างเป็นรูปธรรม โดยมุ่งเน้นให้พื้นที่ปลูกยาง 2.7 ล้านไร่ ที่ไม่เหมาะสม นำมาบริหารจัดการลดซัพพลาย ปรับเปลี่ยนปลูกยางเป็นพืชอื่นก็จะยิ่งช่วยทำให้ราคายางปรับตัวสูงขึ้นอีกด้วย”

ขณะเดียวกัน มาตรฐานชาวสวนยางที่มีองค์ความรู้เรื่องการจัดการสวนยางแบบใหม่ เช่น เรื่องระยะการปลูก จำนวนต้นต้องสอดคล้องรับรองมาตรฐานการจัดการสวนยางยั่งยืนระดับสากล เช่น FSC หรือ PEFC และกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นสวนยางที่มีมาตรฐาน โดยเฉพาะที่

ขึ้นทะเบียน ต้องมีกฎหมายบังคับและการขยายตลาดต้องดูลูกค้าเป็นหลัก ให้เพียงพอและเหมาะตรงตามความต้องการของตลาด จึงมี 8,000 ไร่ เป็นโครงการต้นแบบ ปรับพื้นที่ 2.7 ล้านไร่ ที่ไม่เหมาะสม ซึ่งได้ริเริ่มทำแล้วสำเร็จ เกษตรกรปลูกพืชผสมผสานมีรายได้เพิ่มจากการปลูกยาง และตั้งเป้าภายใน3 ปี จะผลักดันให้แผนบริหารจัดการโซนนิ่งสวนยางเข้าระบบ 4 แสนไร่

โดยพื้นที่เหล่านี้จะกำหนดรูปแบบราคาให้มากขึ้นและเหมาะสม เนื่องจากมีมูลค่าเพิ่มจากมาตรฐานที่เพิ่มขึ้น ซึ่งFSC จะส่งผลดีต่อต้นน้ำถึงปลายน้ำ ปัจจุบันเริ่มต่อรองกำหนดราคาไว้ประมาณ 10,000 กว่าไร่แล้ว อย่างไรก็ดีเพื่อให้สอดคล้องกับพันธกิจการยาง สวนยางทั้งหมดต้องมีมาตรฐาน ไม่ใช้แรงงานเด็ก มีมาตรฐาน ถูกกฎหมาย ตรวจสอบย้อนกลับได้ด้วย

“ผมในฐานะดูแลต้นน้ำ กยท.มองว่าไม่จำเป็นต้องลด ไทยยังมีสต๊อก 6 แสนตัน ซึ่งเกษตรกรไม่ได้มีปัญหาเรื่องราคา แต่มีปัญหาเรื่องรายได้กยท.บริหารควบคู่รายได้เกษตรกร ในจำนวนนี้ 2.17 ล้านไร่ เป็นพื้นที่ที่ไม่เหมาะสม กยท.จะแนะนำให้ปรับคาดว่าจะสามารถลดปริมาณ 10%ลดกำลังผลิตกว่า 5 แสนตัน ขณะที่พื้นที่ป่า 5 ล้านไร่ หายไปมีผลต่อตลาด นโยบายปรับเปลี่ยนพื้นที่ ทำสวนยางในแบบเกษตรผสมผสาน”นายณกรณ์กล่าว