“จุรินทร์” รับคำร้อง 17 องค์กรผู้เลี้ยงกุ้ง แก้ปัญหาอุตสาหกรรมกุ้ง

จุลินทร์ รับคำร้อง องค์กรผู้เลี้ยงกุ้ง

ผู้เลี้ยงกุ้ง ร้องพาณิชย์ตั้งคณะกรรมฟื้นฟูอุตสาหกรรมกุ้งไทย หลังวิกฤติโควิด-19 หวังแก้ไขปัญหาอุตสาหกรรมกุ้งทั้งระบบ ขณะที่ พาณิชย์ รับลูกตั้งคณะทำงานเฉพาะกิจ เร่งสรุปปัญหา ก่อนเสนอหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแก้ไข

วันที่ 14 กันยายน 2563 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวภายหลังการประชุมหารือร่วม 17 องค์กรผู้เลี้ยงกุ้งจากทั่วประเทศ ว่า ที่ประชุมเห็นชอบในการตั้งคณะทำงานเฉพาะกิจขึ้น

โดยมีตัวแทนจากกรมประมง กรมการค้าภายใน กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ตัวแทนจากกระทรวงแรงงาน กระทรัพย์พยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม หน่วยงานจากภาคเอกชน สมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ ตัวแทนจากสถาบันการเงิน เป็นต้น โดยมีปลัดกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธาน จากนี้จะเร่งประชุมหารือเพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหาใน 3 เรื่องหลัก เพื่อนำเสนอต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการแก้ไขปัญหาต่อไป

จากนี้ คณะทำงานเฉพาะกิจจะเชิญตัวแทนจากทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อประชุมหารือในการเร่งแก้ไขปัญหาใน 3 เรื่องหลัก ได้แก่ ต้นทุนด้านการผลิตกุ้ง ราคาที่ตกต่ำ และการเข้าถึงแหล่งเงินทุน ซึ่งคาดว่าน่าจะหารือในเร็วนี้ และเมื่อภายใน 1 เดือนน่าจะเห็นข้อสรุปและแนวทางในการแก้ไขที่เป็นรูปธรรมมากขึ้น ก่อนที่จะเสนอไปยังหน่วยงานของภาครัฐที่เกี่ยวข้องในการแก้ไข รวมถึงร่วมกันหาทางออกของปัญหาที่ 17 องค์กรได้ทำหนังสือเพื่อเสนอแนวทางในการแก้ไขปัญหาด้วย

ส่วนสถานการณ์ทางด้านการผลิตกุ้งในปี 2562 ที่ผ่านมา ประเทศไทยมีผลผลิตกุ้งออกสู่ตลาดปนะมาณ 3 แสนตัน สามารถส่งออกไปต่างประเทศประมาณ 2.2 แสนตัน ขณะที่ในปี 2563 ผลผลิตกุ้งทั้งปีคาดว่าจะใกล้เคียงกับปีที่ผ่านมา ส่วนการส่งออกในช่วง 7 เดือนแรกอยู่ที่ 1 แสนตัน

อย่างไรก็ดี กระทรวงพาณิชย์ พร้อมผลักดันในการส่งออกกุ้งไปต่างประเทศ ถึงแม้จะอยู่ในช่วงของโควิด-19 ระบาด ทำให้อุตสาหกรรมประสบปัญหาก็ตาม

ด้านนายครรชิต เหมะรักษ์ ประธานเครือข่ายผู้เลี้ยงกุ้งไทยและคณะกรรมการเครือข่ายผู้เลี้ยงกุ้งไทยจาก 17 องค์กรทั่วประเทศ กล่าวว่า ในวันนี้ (14 กันยายน 2563) เป็นตัวแทน ในการยื่นหนังสือขอให้พิจารณาจัดตั้งคณะกรรมการฟื้นฟูอุตสาหกรรมกุ้งไทยหลังวิกฤติโควิด-19 และนำเสนอโครงการฟื้นฟูด้านต่าง ๆที่เกี่ยวข้องเป็นกรณีเร่งด่วนโดยหวังพัฒนาคุณภาพกุ้งไทยและขยับส่วนแบ่งการตลาดในการส่งออกเพื่อนำเม็ดเงินเข้าสู่ประเทศอย่างยั่งยืน

เนื่องจากอุตสาหกรรมกุ้งไทยเป็นอุตสาหกรรมส่งออกสำคัญของไทย มีผลผลิตเฉลี่ยปีละประมาณ 6 แสนตันนำรายได้เข้าประเทศกว่า 100,000 ล้านบาทมีการจ้างงานกว่า 200,000 ตำแหน่ง แต่เมื่อเกิดภาวะวิกฤติโรคระบาดอีเอ็มเอสทำให้ผลผลิตตกต่ำลง ส่งผลให้ปริมาณผลผลิตในปัจจุบันลดลงเหลือเพียง 3 แสนตัน มูลค่าประมาณ 60,000 ล้านบาท กลายเป็นผู้ส่งออกอันดับ 5 ของโลก และสร้างงานเพียง 100,000 ตำแหน่งเท่านั้นใน ขณะที่ กำลังการผลิตของแต่ละโรงงานในปัจจุบันใช้ไม่ถึงครึ่งของกระบวนการผลิตทั้งหมด

ขณะนี้ เกษตรกรได้ปรับตัวกับวิกฤตอีเอ็มเอสได้แล้ว ส่งผลให้อัตราการผลิตกุ้งไทยเติบโตขึ้นมาอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่ปี 2556 เป็นต้นมาและคาดหวังว่าอัตราการเติบโตจะเพิ่มขึ้นถึง 4 แสนตัน ในปี 2565- 2566

อย่างไรก็ตาม ผู้เลี้ยงกุ้งยังมีปัญหาและอุปสรรคหลายด้าน เช่น ต้นทุนการผลิตที่สูงเพราะราคาอาหารสัตว์ที่อยู่ในระดับที่สูง จึงอยากให้ภาครัฐพิจารณาหามาตรการช่วยเหลือ เช่น การลดภาษีน้ำเข้าวัตถุดิบอาหารสัตว์จากต่างประเทศลง เพื่อให้เกษตรกรหาซื้ออาหารสัตว์ได้ในราคาที่ถูกลง ให้ภาครัฐคิดอัตราค่าไฟฟ้าเรทเกษตรกร เพราะปัจจุบันถูกคิดค่าไฟฟ้าเรทไฟฟ้าบ้านทั่วไป มีแหล่งสินเชื่อที่เกษตรกรเข้าถึงได้

ปัจจุบันเกษตรกรไม่สามารถกู้สินเชื่อได้หรือกู้ได้น้อย รวมทั้งการกำหนดปริมาณผลผลิตกุ้งแต่ละปีให้มีความชัดเจนเพื่อป้องกันสินค้าล้นตลาด มีการเปิดโอกาสให้เครือข่ายเข้าร่วมงานแสดงสินค้าต่าง ๆ นำผลผลิตมาจำหน่าย ขยายฐานลูกค้า และแก้ไขปัญหาราคากุ้งตกต่ำและภาครัฐก็ยังแก้ไขปัญหาได้ไม่ตรงจุดเครือข่ายจึงหวังว่าคณะกรรมการที่จะจัดตั้งขึ้นมาจะสามารถนำปัญหาที่เครือข่ายเสนอไปแก้ปัญหาให้อย่างเป็นรูปธรรม เพื่อจะได้รักษาตำแหน่งผู้ส่งออกกุ้งอันดับ 1 ของโลกได้ต่อไป