ปั้นเศรษฐกิจยั่งยืนสไตล์ ซีพี ตระหนักรู้ ขยายต่อจากหน่วยเล็กๆ สู่สังคม

นายศุภชัย เจียรวนนท์

เครือเจริญโภคภัณฑ์ จัดตั้งสำนักงานด้านความยั่งยืนและพัฒนาชุมชน ศูนย์รวมของความร่วมมือระหว่างประชาชน เกษตรกร หน่วยงานภาครัฐ ภาคการศึกษาและทุกภาคส่วน

วันที่ 11 พฤศจิกายน 2563 นายศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานสมาคมเครือข่ายโกลบอล คอมแพ็ก ประเทศไทย และประธานสภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทย กล่าวในงานสัมมนา ‘ภาคธุรกิจไทยในวิถียั่งยืน’ ภายใต้หัวข้อพิเศษ ‘วิถียั่งยืนชุบชีวิตธุรกิจ-สังคม’ ซึ่งจัดโดยหนังสือพิมพ์ ‘ประชาชาติธุรกิจ’ ว่า

การขับเคลื่อนวิถีเศรษฐกิจยั่งยืนต้องเริ่มจากการตระหนักรู้ เพราะถ้าองค์กร ผู้นำ พนักงานไม่เกิดการตระหนักรู้ก็จะไม่เกิดการเริ่มต้นโครงการแก้ไข รักษาสิ่งแวดล้อม โดยสามารถเริ่มต้นสร้างความยั่งยืนได้ง่ายๆ จากหน่วยเล็กๆก่อน คือ ที่บ้าน ขยายต่อไปยังองค์กร ประเทศของตัวเองและโลก

ยกตัวอย่างเช่น องค์กร และผู้นำองค์กรก็ต้องเป้าหมายก่อนว่าจะช่วยดูแลรักษาสภาพแวดล้อมได้อย่างไร ซึ่งผู้นำ หรือองค์กรก็ต้องตั้งเป้าหมายว่าจะเริ่มดูแลสิ่งแวดล้อมรูปแบบใด เพราะถ้าไม่ตั้งเป้าหมายก่อนก็จะคิดไม่ออกว่าจะเริ่มต้นอย่างไร อีกส่วนคือการสร้างโอกาสความเสมอภาค เพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม

“ที่ผ่านมาผมได้ไปพูดเรื่องวิถียั่งยืนในหลายเวทีสำคัญๆของโลก ซึ่งหลายๆเวที บอกว่าแนวทางการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม แก้ได้ด้วยภาคเอกชน ซึ่งตอนแรกผมไม่เชื่อ แต่ท้ายสุดต้องยอมรับว่า การแก้ปัญหานี้ได้อย่างยั่งยืนต้องถูกแก้ด้วยภาคเอกชนจริงๆ เพราะเป็นองค์กรที่มีความต่อเนื่อง มากกว่ารัฐบาลที่มีการเมือง การเลือกตั้ง มีการปรับเปลี่ยนนโยบายไปตามรัฐบาลในแต่ละสมัย”

นายศุภชัย กล่าวต่อว่า ที่ผ่านมาเครือเจริญโภคภัณฑ์ (CP) ได้จัดตั้งสำนักงานด้านความยั่งยืนและพัฒนาชุมชนเครือเจริญโภคภัณฑ์ที่จังหวัดน่าน ขึ้นเป็นแห่งแรก เพื่อเป็นศูนย์รวมของความร่วมมือระหว่างประชาชน เกษตรกร หน่วยงานภาครัฐ ภาคการศึกษาและทุกภาคส่วน โดยเข้าไปมีส่วนร่วมเสริมสร้างคุณภาพชีวิตของชุมชน ในการถ่ายทอดองค์ความรู้ และมีส่วนร่วมรับผิดชอบต่อสังคมในอนาคต

“พื้นที่ที่จังหวัดน่าน มีปัญหาเรื่องชลประทาน ไม่มีน้ำ ห่างไกลตัวเมือง ทำให้ต้นทุนการขนส่งสูง ดังนั้นสิ่งที่เราทำคือ ดูว่าพื้นที่นี้เหมาะแก่การปลูกพืชอะไร จึงได้เริ่มโครงการ ‘Sustainable Coffee’ การทำกาแฟเพื่อสังคมที่ยั่งยืน ยกระดับคุณภาพชีวิตให้เกิดการจ้างงานในชุมชนและเกิดการเติบโตของเศรษฐกิจระดับชุมชน