เครือบางจากร่วมทุนสตาร์ตอัพ เล็งตั้งโรงงานใน EEC ผลิตสารความหวาน

เขตส่งเสริมพิเศษ” ที่อยู่ในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก

บางจากเตรียม 3 แผนรับมือโควิดปี’64 รุกธุรกิจชีวภาพ เพิ่มสัดส่วนรายได้เป็น 50% ใน 10 ปี BBGI บริษัทลูกทุ่ม 800 ล้าน ร่วมทุนสตาร์ตอัพสหรัฐ Manus Bio ตั้ง Win Ingredients ชูนวัตกรรมความหวานจากหญ้าหวานตั้งโรงงานในอีอีซีแห่งแรกในอาเซียน

นายชัยวัฒน์ โควาวิสารัช ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.บางจาก คอร์ปอเรชั่น เปิดเผยว่า ปี 2564 พลังงานทั่วโลกยังต้องเผชิญความเสี่ยงจากโควิด-19 ซึ่งบางจากเตรียมแผนไว้หมดแล้ว และมองว่าสถานการณ์ราคาน้ำมันจะต่ำไปกว่านี้แล้วคือ 39-40 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล”

นโยบายบางจากจะให้ความสำคัญกับนวัตกรรมพลังงานสีเขียว ทั้งกลุ่มไฟฟ้าโดย BCPG และเทคโนโลยีนวัตกรรมสีเขียวของ BBGI ซึ่งได้พัฒนาชีวภาพมูลค่าสูง (Syn-Bio) เพื่อต่อยอดใช้ผลิตในอุตสาหกรรมยา อาหารอนาคต และเครื่องสำอาง มีเป้าหมายจะเพิ่มรายได้ธุรกิจสีเขียวเป็น 40-50% ในปี 2030 ทั้งลดการปล่อยคาร์บอนเป็น 0

ทั้งได้เดินหน้าลงทุนเหมืองลิเทียม จะเริ่มผลิตปลายปี 2564 เป็นเหมืองขนาดใหญ่สุด มีกำลังการผลิต 40,000 ตันต่อปี รองรับการผลิตแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้าที่จะเพิ่มขึ้น 5-10 ล้านคันในอีก 4-5 ปีข้างหน้า

นายกิตติพงศ์ ลิ่มสุวรรณโรจน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.บีบีจีไอ จำกัด หรือ BBGI กล่าวว่า ได้ลงทุน 800 ล้านบาทเข้าซื้อหุ้น Series B Preferred Stock ของบริษัท Manus Bio ธุรกิจสตาร์ตอัพจากสหรัฐ โดยตั้งบริษัทร่วมทุนชื่อ Win Ingredients ในไทยทุนจดทะเบียน 100 ล้านบาท BBGI ถือหุ้น 51% Manus Bio ถือ 49%

“บริษัทจะใช้แพลตฟอร์มนี้ โดยได้ประโยชน์จากโนว์ฮาวของ Manus ซึ่งเป็นเจ้าของสิทธิบัตร Syn-Bio นวัตกรรมที่ใช้น้ำตาลผ่านการหมักจุลินทรีย์ คัดเลือกดัดแปลงพันธุ์สำหรับใช้เป็นสารตั้งต้นในการต่อยอดผลิตอาหาร ยา และสินค้าสำเร็จรูป หรือ multiproduct ปัจจุบัน Manus มีโรงงานที่ Augusta พื้นที่ 108 ไร่ กำลังผลิต 1.3 ล้านลิตรต่อปี ทั้งยังถือครองสิทธิบัตรผลิตภัณฑ์ด้านชีวภาพกว่า 60,000 ชิ้น

สเต็ปแรกหลังร่วมทุนได้วางแผนทำการตลาด premarketing สินค้านวัตกรรมสารให้ความหวานที่พัฒนาจากหญ้าหวาน ที่ผลิตจากโรงงานในสหรัฐส่งมาให้ BBGI นำไปทำตลาดจำหน่ายในอาเซียน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ ขณะนี้อยู่ระหว่างยื่นจดทะเบียนจากคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ในไทย และในตลาดเป้าหมาย คาดใช้เวลา 3-9 เดือน ทดลองจำหน่ายให้กลุ่ม B2B เช่น โรงงานเครื่องดื่ม รวมถึงผู้บริโภค B2C เชื่อว่าตลาดนี้มีความต้องการอย่างมาก

“หากได้การตอบรับดีจะนำไปสู่การลงทุนสร้างโรงงานผลิต Syn-Bio แบบ multiproduct ในไทยเป็นแห่งแรกของอาเซียน หากตลาดมีแนวโน้มดีก็สามารถลงทุนได้เป็นหมื่นถึงหลักแสนลิตร เพราะที่สหรัฐมีโรงงาน 1.3 ล้านลิตร เบื้องต้นมองโอกาสจะลงทุนในอีอีซี เน้นพื้นที่ใกล้แหล่งผลิตของลูกค้า ไม่จำเป็นต้องใกล้โรงงานน้ำตาล งบประมาณการลงทุน บริษัทมีแผนออกหุ้นกู้ 1 พันล้านบาท ต้นปี 2564 และเตรียมจะเข้าเทรด IPO ปลายปี 2564”