“เจ้าพระยา” ลดระบายน้ำ คนกรุงลุ้นพ้นวิกฤตท่วม

แฟ้มภาพ

สถานการณ์น้ำทรงตัว หลังพายุขนุนไม่กระทบไทย เขื่อนเจ้าพระยาลดการระบายต่ำกว่าระดับสูงสุด 2,600 ลบ.ม./วินาที ชี้น้ำไหลผ่านบางไทรต่ำกว่าจุดวิกฤตบริหารจัดการได้

ความกังวลที่ว่า จะมีพายุหมุนเขตร้อน (ขนุน) เคลื่อนผ่านทะเลจีนใต้เข้าสู่ประเทศเวียดนามและประเทศไทยเริ่มหมดไป ส่งผลให้สถานการณ์น้ำในประเทศทรงตัวไม่เพิ่มมากไปกว่านี้ โดยน้ำไหลลงเขื่อนเริ่มมีปริมาณลดลง

ดร.ทองเปลว กองจันทร์ รองอธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า เขื่อนเจ้าพระยาล่าสุดปล่อยน้ำลงมาเหลือประมาณ 2,598 ลบ.ม./วินาที จากช่วงปลายสัปดาห์ปล่อยที่ 2,620 ลบ.ม./วินาที ในขณะที่ระดับวิกฤตสุดคือ 2,800 ลบ.ม./วินาที ที่จะทำให้น้ำล้นคันกั้นน้ำ และมีการปล่อยน้ำออกด้านซ้าย-ขวาเขื่อนเจ้าพระยา 570 ลบ.ม./วินาที เทียบกับช่วงเดียวกันปีที่แล้วที่เขื่อนระบายน้ำออกมาแค่ 350-370 ลบ.ม./วินาที โดย 12 ทุ่งภาคกลางสามารถรับน้ำเข้าไปเก็บแล้ว 76% จากศักยภาพรับได้ 1,500 ล้าน ลบ.ม.

ดันน้ำลงแม่โขง

“ปริมาณน้ำจากแม่น้ำปิงจะไม่สูงมากไปกว่านี้ (689 ลบ.ม./วินาที) เพราะพายุขนุนสลายตัวไปแล้ว แม่น้ำยม (270 ลบ.ม./วินาทีที่สถานี Y3A) มีการนำน้ำไปเก็บที่ทุ่งบางระกำเต็ม 450 ล้าน ลบ.ม.แล้ว จากเป้า 400 ล้าน ลบ.ม. ช่วงนี้จึงต้องใช้เขื่อนนเรศวร หน่วงน้ำจากแม่น้ำยมและน่านไว้ (ท้ายเขื่อน 304 ลบ.ม./วินาที) ส่วนเขื่อนแควน้อยบำรุงแดน ก็ได้ลดการปล่อยน้ำลงจาก 330 ลบ.ม./วินาที เหลือ 220 ลบ.ม./วินาที บึงบรเพ็ดเพิ่มการเก็บน้ำจาก 180 ลบ.ม.เป็น 300 ล้าน ลบ.ม. ส่วนทุ่งทะเลหลวง สุโขทัย บึงตะเคร็ง พิษณุโลก ขณะนี้น้ำเข้าเต็มหมดแล้ว” ดร.ทองเปลวกล่าว

ด้านภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เขื่อนอุบลรัตน์ (ปริมาตรน้ำ 2,859 ล้าน ลบ.ม.หรือ 118%) ยังคงระบายน้ำอยู่ในอัตรา 50.50 ลบ.ม./วินาที ดังนั้นน้ำที่อยู่ท้ายเขื่อนที่คาดว่าจะสูงขึ้น 20 ซม. ตอนนี้จะสูงเพียง 15-20 ซม. ซึ่งได้เสริมคันกั้นน้ำ 2 ฝั่งของแม่น้ำชีแล้ว ถ้าหากน้ำล้นก็จะเข้าปกป้องชุมชนต่อไป รวมทั้งตั้งเครื่องผลักดันน้ำที่อุบลราชธานี เพื่อผลักดันลงแม่น้ำโขงโดยเร็วที่สุด

กรมชลประทานได้รายงานสถานการณ์น้ำในวันที่ 17 ตุลาคมที่ผ่านมา เขื่อนภูมิพลกับเขื่อนสิริกิติ์มีปริมาตรน้ำรวมกัน 17,462 ล้าน ลบ.ม.หรือ 76% ยังสามารถรับน้ำได้อีก 5,510 ล้าน ลบ.ม. ปริมาณน้ำไหลลงอ่างต่อเนื่อง 117.11 ล้าน ลบ.ม. ยังไม่มีการระบายน้ำลงมา ขณะที่เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ปริมาตรน้ำอยู่ที่ 939 ล้าน ลบ.ม.หรือ 98% แต่ยังมีปริมาณน้ำไหลลงอ่าง 36.04 ลบ.ม./วินาที ส่งผลให้ต้องระบายน้ำออกมา 30.29 ลบ.ม./วินาที

ลงทุนแสนล้านรับน้ำออก-ตก

อย่างไรก็ตาม เป็นที่น่าสังเกตว่า การระบายน้ำลงทุ่งฝั่งตะวันออกและตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยาใกล้จะเต็มตามศักยภาพแล้ว โดยกรมชลประทานได้ปิดประตูระบายน้ำบางโฉมศรี กับประตูระบายน้ำปากคลองบางแก้ว ทางฝั่งตะวันออกใต้เขื่อนเจ้าพระยาแล้ว ขณะที่ฝั่งตะวันตกยังคงระบายน้ำเหนือเขื่อนเจ้าพระยาผ่านทางประตูระบายน้ำมะขามเฒ่า/อู่ทอง-ประตูพลเทพ-ประตูระบายน้ำบรมธาตุ เข้าสู่แม่น้ำท่าจีนและแม่น้ำน้อย ส่งผลให้น้ำไหลผ่านท้ายเขื่อนเจ้าพระยาอยู่ที่อัตรา 2,598 ลบ.ม./วินาที เมื่อมาถึงสถานีบางไทรมีน้ำไหลผ่าน 2,639 ลบ.ม./วินาที ซึ่งยังอยู่ในระดับที่บริหารจัดการได้ และยังไม่ส่งผลกระทบต่อกรุงเทพมหานคร

ด้าน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า จะมีการระบายน้ำเพิ่มมากขึ้นในช่วงน้ำล้นตลิ่ง พื้นที่ที่อยู่นอกคันกั้นน้ำมีผลกระทบต่อประชาชนที่อยู่ริมน้ำแน่นอน “รัฐบาลมีแผนงานที่เสนอพิจารณาหลายโครงการ โครงการตัดตอนน้ำในภาคเหนือ เส้นทางรับน้ำตะวันตก-ตะวันออก ซึ่งใช้งบประมาณจำนวนมาก และมีการศึกษาอย่างละเอียดมานานพอสมควรแล้ว แต่ติดปัญหาที่การเวนคืนที่ดิน การเยียวยา ใช้งบประมาณสูงมาก หลายแสนล้าน รัฐบาลต้องใคร่ครวญให้ดี ในอนาคตจะต้องบริหารน้ำด้านตะวันออกระบายจากแม่น้ำป่าสักมาอ่าวไทยอีกทางหนึ่ง มีระยะทาง 100 กว่ากิโลเมตร กำลังศึกษาอยู่ว่าจะทำได้หรือไม่ ด้านตะวันตกต้องทำอุโมงค์เชื่อมต่อการระบายน้ำที่คลองไส้ไก่ที่จะออกแม่น้ำแม่กลอง มีโค้งน้ำอยู่ 3-4 โค้ง ใช้งบประมาณหลายหมื่นล้านบาท” พล.อ.ประยุทธ์กล่าว