“อรรถพล” ซีอีโอ ปตท.​ ชู 6 ธุรกิจรับ New Economy

อรรถพล ปตท

สถานการณ์การระบาด COVID-19 เป็นตัวเร่งที่ทำให้เกิดการรุกคืบของเทคโนโลยี (technology disruption) ทำให้ธุรกิจต่าง ๆ ต้องปรับตัวอย่างมากทุกมิติ ไม่เว้นแม้แต่ธุรกิจพลังงานที่จะต้องขับเคลื่อนไปข้างหน้าท่ามกลางอนาคตโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว

เมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2563 ในงานสัมมนา “Thailand 2021 : New Game New Normal” ซึ่ง “ประชาชาติธุรกิจ” จัดขึ้น “นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ปตท. (PTT) กล่าวว่า การทำธุรกิจในอนาคตจะมีรูปแบบเปลี่ยนแปลงไปตามนิเวศทางเศรษฐกิจใหม่ หรือ new ecosystem business model เป็นตัวขับเคลื่อนการดำเนินธุรกิจ

ซึ่งจะมุ่งเน้นการสร้างเครือข่าย และประสบการณ์เชื่อมต่อกับคู่ค้าการเป็นผู้นำด้านวัฒนธรรมในการทำการตลาด การสร้าง value waste การสร้างพันธมิตรที่มีศักยภาพข้ามอุตสาหกรรม เน้นการพัฒนาทรัพย์สินทางปัญญา และการสร้างมูลค่าร่วมกับเครือข่ายอย่างต่อเนื่อง

โดยจะแตกต่างจากเดิมที่ภาคธุรกิจใช้ระบบ supply chain business model พัฒนาและยกระดับผลิตภัณฑ์ ขยายธุรกิจ และถ่ายทอดองค์ความรู้ สร้างห่วงโซ่มูลค่า (value chain) อยู่ภายในอุตสาหกรรมเดียวกัน มี fixed assets และเพิ่มการสร้างมูลค่าสูงสุดให้กับบริษัทเป็นหลัก

ยก Xiaomi Model

“การระบาดโควิด-19 ยิ่งเป็นตัวเร่งที่ทำให้เกิด technology disruption ทำให้ทุกธุรกิจต้องปรับตัวอย่างมากในทุกมิติ การสร้างพันธมิตรเพื่อเติบโตไปด้วยกันถือว่ามีความสำคัญมาก จะเห็นภาพการ collaboration ระหว่างธุรกิจมากขึ้น เช่น Xiaomi ถือเป็นแบรนด์ตัวอย่างที่ได้ไปเชื่อมโยงกับธุรกิจต่าง ๆ มากมาย เช่น เชื่อมกับ Nikon Samsung Oppo เป็นต้น”

ขณะที่อุตสาหกรรมพลังงานก็เป็นอุตสาหกรรมที่กำลังถูกท้าทายจากอัตราเร่งของการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน อดีตเน้นสร้างโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ แต่ปัจจุบันมุ่งเน้นกระจายการผลิต ลงทุนด้านไอที และหลายประเทศจะเปิดเสรีมากขึ้น และทิศทางอุตสาหกรรมพลังงานมุ่งสู่พลังงานสะอาด ตั้งเป้าภายในปี 2040 จะต้องเพิ่มพลังงานสะอาด ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

ซึ่ง “4D” จะถือเป็นคีย์เวิร์ดสำคัญของการเปลี่ยนผ่าน ประกอบด้วย decarbonization การควบคุมการเกิดภาวะโลกร้อน decentralization การผลิตพลังงานจะมีประสิทธิภาพมากขึ้น digitalization การใช้อุปกรณ์ด้านอิเล็กทรอนิกส์เชื่อมต่อกัน บริหารข้อมูลแบบเรียลไทม์ deregulation หลายประเทศเริ่มเปิดเสรีตลาดพลังงาน

ทรานส์ฟอร์ม ปตท.

ดังนั้น เพื่อให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของโลก “ปตท.” ได้เน้นปรับการดำเนินงานด้วยการบริหารองค์กร ทำงานร่วมกับพันธมิตร โดยมีเป้าหมายเพื่อความยั่งยืน โดยได้ปรับทิศทางกลยุทธ์ให้สอดคล้องกับสถานการณ์พลังงาน รวมถึงการมองหาสิ่งใหม่ ๆ โอกาสใหม่ ๆ ให้สอดรับกับอุตสาหกรรมเป้าหมาย การสร้างธุรกิจที่เป็น new S-curve ตามนโยบายรัฐบาล และตั้งเป็นโจทย์หลักร่วมกันกระตุ้นฐานของเศรษฐกิจประเทศ

โดย ปตท.จะเร่งรัดต่อยอด พัฒนา และขยายเข้าสู่ธุรกิจที่มีศักยภาพเติบโตสูง ตามทิศทางโลก 6 ข้อ ได้แก่

1.new energy ธุรกิจด้านพลังงานใหม่

2.life sciences ธุรกิจด้านวิทยาศาสตร์ที่เกี่ยวกับมนุษย์ เช่น medical hub ยา วิตามิน ขณะนี้ได้ลงนามร่วมมือกับองค์การเภสัชกรรม สร้างโรงงานผลิตยารักษาโรคต้านมะเร็ง เพื่อให้คนไทยสามารถจะเข้าถึงยาในราคาที่เป็นธรรม ตลอดจนเป็นศูนย์กลางการรักษาภูมิภาคอาเซียน

ซึ่งการส่งเสริมการวิจัยและการผลิตยาที่ทันสมัยเป็นสิ่งจำเป็น สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาประเทศ ในการมุ่งเน้นเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน เศรษฐกิจสีเขียว (BCG economy) ตอบโจทย์ new S-curve ของประเทศไทย

3.mobility & lifestyle ธุรกิจที่เกี่ยวกับความคล่องตัวและไลฟ์สไตล์ เริ่มจากสถานีน้ำมัน จะต้องไม่ใช่สถานที่ที่เติมน้ำมันอีกต่อไปเพียงอย่างเดียว แต่จะต้องทำงานร่วมกับชุมชน สร้างสินค้าและเปิดโอกาสให้พันธมิตรและดีลเลอร์มีส่วนร่วมในการพัฒนาร่วมกันมากขึ้น โดยมี ปตท.น้ำมันและการค้าปลีก หรือโออาร์ เป็นผู้วางแผนการดำเนินธุรกิจ

4.high value business ปตท.ต้องพร้อมพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่มีอยู่เดิมให้สามารถสร้างมูลค่าสูง อาทิ นำเม็ดพลาสติกมาพัฒนาให้มีมูลค่า ไม่ว่าจะเป็นส่วนประกอบทำเครื่องมือเเพทย์ ผลิตชิ้นส่วนอุตสาหกรรม

5.logistics โลจิสติกส์ สร้างธุรกิจใหม่ของปิโตรเลียม ปิโตรเคมี ให้ความสำคัญกับธุรกิจแพลตฟอร์ม e-Commerce มากยิ่งขึ้น จากธุรกิจแบบ business-to-business (B2B) ต่อยอดธุรกิจ business-to-customer (B2C)

และสุดท้าย 6.AI & robotics การพัฒนาธุรกิจด้านระบบปัญญาประดิษฐ์และหุ่นยนต์ รวมถึงระบบอัตโนมัติ โดยมีบริษัท AI and Robotics Venture (ARV) เป็นบริษัทลูกของบริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) เปิดเป็นบริษัทใหม่

โดยจะเริ่มนำมาปรับใช้ในธุรกิจของ ปตท.ก่อน เช่น การสร้างหุ่นยนต์สำรวจใต้ทะเล และโดรน ซึ่งทั้งหมดทีม ARV ได้นำเสนอไอเดียและพัฒนาคิดค้นขึ้นเอง จากก่อนหน้านี้ที่นำเข้าจากจีน ทั้งหมดนี้คือตัวอย่างเทคโนโลยีที่นำมาใช้แล้วในกลุ่ม ปตท.

ย้ำ PTT ขับเคลื่อนนโยบายรัฐ

นายอรรถพลได้เน้นย้ำวิสัยทัศน์ Aspiration PTT by PTT ซึ่งเป็นสิ่งที่ให้ความสำคัญมาโดยตลอด ประกอบด้วย

1) P มาจาก partnership and platform เน้นการดำเนินธุรกิจด้วยการสร้างพันธมิตร และพัฒนาธุรกิจของ ปตท. ให้มีลักษณะเป็นแพลตฟอร์มมากกว่าเป็นแค่ผู้ผลิตสินค้าและจำหน่าย

2) T มาจาก technology for all เทคโนโลยีที่เกิดจากการผสมผสานด้วยความรู้ ความเชี่ยวชาญ นวัตกรรม และดิจิทัล

และ 3) T มาจาก transparency and sustainability สร้างความโปร่งใสและความเชื่อมั่นในการดำเนินธุรกิจ ใช้หลักบริหารองค์กรเพื่อความยั่งยืน

“โลกเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว การทำธุรกิจในอนาคต จะเห็นโมเดลธุรกิจที่สร้างมูลค่าจากเครือข่ายพันธมิตร แข่งขันการเป็นผู้นำด้านนวัตกรรมเทคโนโลยี เกิดอุตสาหกรรมข้ามอุตสาหกรรมกันได้ เน้นทรัพย์สินทางปัญญา”

“ปตท.เองก็ต้องปรับทิศทางกลยุทธ์ให้สอดคล้องกับสถานการณ์พลังงานมองหาสิ่งใหม่ ๆ โอกาสใหม่ ๆ นอกเหนือจากธุรกิจน้ำมัน ขยายเข้าสู่ธุรกิจ 6 ข้อ ที่สำคัญคือจะกระตุ้นให้เกิด new S-curve ตามนโยบายรัฐบาล โดยเราจะตั้งเป็นโจทย์ และจะเป็นฐานของเศรษฐกิจประเทศให้โตไปพร้อมกัน นี่คือสิ่งที่ผมให้ความสำคัญที่สุด”

เช่นกันกับนโยบายขับเคลื่อนพลังงานไฟฟ้าของรัฐบาล ที่ทาง ปตท.พร้อมขับเคลื่อนการลงทุนพลังงานไฟฟ้า (EV) แต่รัฐควรปรับโครงสร้างการจัดเก็บภาษีและต้องศึกษาอย่างรอบคอบ

หากมีการตั้งโรงงานในประเทศมากกว่าจะทำให้ภาษีนำเข้าน้ำมันเชื้อเพลิงหายไป 2 แสนล้าน และจะมีการโอนย้ายการลงทุนอุตสาหกรรมเดิมมาลงทุนเพิ่มในอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้า ซึ่งต้องประเมินอย่างรอบด้าน เนื่องจากแนวโน้มการใช้พลังงานก๊าซธรรมชาติจะมีบทบาทมากในช่วง 5-10 ปีข้างหน้า