“คอนเทนเนอร์” ขาดแคลน ปีละ 1.5 ล้านตู้ “จุรินทร์” ดึงเอกชนช่วยส่งออก

ตู้คอนเทนเนอร์
PHOTO : PIXABAY

ธุรกิจ คอนเทนเนอร์” ประสบปัญหา ขาดแคลน ปีละ 1.5 ล้านตู้ “จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์” เร่งดึงภาคเอกชนช่วยการส่งออกรายย่อย

วันที่ 14 ธันวาคม 2563 ภายหลังการประชุมร่วมกับภาคเอกชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง 15 หน่วยงาน ในการหาแนวทางแก้ไขปัญหาขาดแคลนสินค้าและอัตราค่าระวางเรือที่สูงขึ้น เพื่อให้ความช่วยเหลือผู้ส่งออกที่กำลังได้รับผลกระทบ

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยถึงปริมาณการส่งออกและนำเข้า “คอนเทนเนอร์” ในประเทศไทย ว่า มีการนำเข้าเพียง 3.5 ล้านตู้ต่อปี แต่มีการส่งออกถึง 5 ล้านตู้ต่อปี ทำให้เกิดปัญหาการขาดแคลนตู้ถึงปีละ 1.5 ล้านตู้

ส่วนสาเหตุปัญหาการขาดแคลน นายจุรินทร์ ระบุว่า มีคอนเทนเนอร์ ไปค้างอยู่ที่ประเทศสหรัฐฯ กับยุโรปเป็นจำนวนมาก และไม่สามารถส่งออกได้ เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 อีกทั้งประเทศจีนกับเวียดนาม สามารถนำคอนเทนเนอร์เปล่าให้อยู่ในประเทศได้จำนวนมาก ทำให้ประเทศไทยยิ่งขาดแคลน

ทั้งนี้ ที่ประชุม ได้มีการสรุปการแก้ไขเรื่องตู้ขนสินค้า 6 มาตรการดังนี้

1.กระทรวงพาณิชย์ร่วมกับการท่าเรือและภาคเอกชนกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหาลู่ทางในการเร่งนำตู้เปล่าเข้ามาให้พอกับการใช้บรรจุสินค้าส่งออก

2.เอาตู้เก่ามาซ่อมแซมในประเทศเพื่อใช้บรรจุสินค้าเพื่อการส่งออก โดยให้ความช่วยเหลือให้นำเข้าตู้เปล่าและตู้เก่าให้สะดวกรวดเร็ว

3.หาทางเพิ่มช่องทางการส่งออกโดยไม่ใช้ตู้ เช่น ใช้เรือสินค้าทั่วไปเป็นต้น

4.สนับสนุนช่วยเหลือ SME ซึ่งเป็นผู้ส่งออกรายย่อย ให้รวมตัวกันจองตู้ล่วงหน้าผ่านสมาคมผู้รับจัดการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ

5.เร่งดำเนินการหาลู่ทางให้เรือที่มีขนาด 400 เมตรสามารถเข้าท่าที่แหลมฉบังได้แทนที่จะอนุญาตเฉพาะเรือ 300 เมตร ในปัจจุบัน เพื่อให้การส่งออกการนำเข้าสามารถบรรทุกสินค้าได้มากขึ้น

6.ให้หามาตรการในการลดต้นทุนการนำเข้าตู้

สำหรับปัญหาการจองพื้นที่ตู้หรือการจองตู้ที่บางครั้งถูกเลื่อนหรือถูกยกเลิก เป็นปัญหากับผู้ส่งออก ได้ขอให้สำนักงานแข่งขันทางการค้าของกระทรวงพาณิชย์เข้ามารับภาระในการรับเรื่องร้องเรียนจากภาคเอกชนที่ประสบปัญหาโดยสำนักงานคณะกรรมการแข่งขันทางการค้าแจ้งว่าถ้ามีหลักฐานพร้อมและมายืนร้องก็จะดำเนินการพิจารณาให้เสร็จภายใน 30 วัน