“โควิด” ฉุดเงินสะพัดเที่ยวปีใหม่วูบ 2 แสนล้าน ต่ำสุดรอบ 15 ปี

หอการค้าไทย เผยประชาชนกังวลปัญหาโควิด-19 ส่งผลให้เงินสะพัดในช่วงปีใหม่ หดตัว 33.6% เป็นครั้งแรกในรอบ 15 ปี มีมูลค่า 91,467 ล้านบาท และสิ่งที่คนไทยต้องการเห็นจากรัฐ คือ การแก้ไขโควิดอันดับ 1

นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ เปิดเผยว่า การใช้จ่ายในช่วงปีใหม่ 2564 คาดว่าจะมีเงินสะพัดอยู่ที่ 91,467 ล้านบาท หดตัว 33.6% เป็นการหดตัวครั้งแรกในรอบ 15 ปี และมีมูลค่าต่ำสุดในรอบ 10 ปี เนื่องจากประชาชนมีความกังวลในเรื่องของการแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยเฉพาะการระบาดรอบใหม่ที่จังหวัดสมุทรสาคร ทำให้กิจการในช่วงปีใหม่น้อยลง ใช้จ่ายลดลง อยู่บ้านเพิ่มขึ้น เพราะไม่กล้าเดินทางออกจากบ้าน ซึ่งส่งผลต่อการใช้จ่ายในช่วงปีใหม่นี้

ธนวรรธน์ พลวิชัย

พร้อมกันนี้ หากปัญหาการแพร่เชื้อโควิด-19 ที่จังหวัดสมุทรสาคร ที่มีการล็อกดาวน์และมีความตรึงเครียดมากขึ้น ติดเชื้อเพิ่มขึ้น จะทำให้เงินสะพัดในช่วงปีใหม่ลดลงอยู่ที่ 80,937 ล้านบาท หรือหดตัว 41.3% และกรณีร้ายแรงที่สุดคือการล็อกดาวน์ทั่วประเทศ จะทำให้ไม่มีการเดินทาง กิจกรรมต่าง ๆ งด คนอยู่บ้านมากขึ้น จะทำให้เงินสะพัดในช่วงปีใหม่ลดลง 38,819 ล้านบาท หรือหดตัว 71.8% อย่างไรก็ดี หอการค้าไทยยังคงสนับสนุนรัฐบาลไม่ให้มีการล็อกดาวน์ทั้งประเทศ เพราะจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจเงินหายออกจากระบบ 200,000 ล้านบาทต่อเดือน

“หากการติดเชื้อจนทำให้กระทบเศรษฐกิจที่มีความเปราะบาง กิจกรรมต่าง ๆ น้อยลง การท่องเที่ยวไม่มี คนไม่เดินทาง เชื่อว่าจะกระทบต่อการประกอบธุรกิจและจะทำให้มีการปลดคนงานเพิ่มขึ้น คนว่างงานก็จะสูงขึ้น จากที่ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวในไตรมาส 2 ของปี 2564 จะกลายเป็นว่าเศรษฐกิจจะขยายตัวคือไตรมาส 4 ของปีหน้า ดังนั้น จึงไม่ต้องการให้เห็นการล็อกดาวน์ทั้งประเทศ ควรปิดเฉพาะจุด”

อย่างไรก็ตาม จากบรรยากาศปีใหม่ที่อยู่ภายใต้ปัญหาของการแพร่ระบาดโควิด-19 ในจังหวัดสมุทรสาคร และมีการคุมการติดเชื้อ 14 วัน เพื่อป้องกันการแพร่กระจายเบื้องต้นประเมินความเสียหาต่อเศรษฐกิจในกรอบเวลาดังกล่าว 30,000-60,000 ล้านบาท แต่เศรษฐกิจก็เชื่อว่ายังโตได้ทั้งปี 2.8% โดยภาครัฐดูแลสถานการณ์ได้ มีการกระตุ้นเศรษฐกิจโดยการอัดฉีดเงินเข้าระบบผ่านโครงการของรัฐ คนละครึ่ง เราเที่ยวด้วยกัน แต่หากเกิดปัญหาหนักเกินกว่า 14 วัน ไม่เกิน 1 เดือน เชื่อว่าเม็ดเงินที่หายจากระบบ 10,000-17,000 ล้านบาท กระทบเศรษฐกิจ ลดลง 1.5% ทั้งนี้ หอการค้าไทยมองกรอบการขายตัวทางเศรษฐกิจอยู่ที่ 1.8-3.8%

นางอุมากมล สุนทรสุรัติ ผู้ช่วยผู้อำนวยการ ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยผลสำรวจพฤติกรรมการใช้จ่ายของผู้บริโภคในช่วงปีใหม่ โดยกลุ่มตัวอย่าง 1,223 ตัวอย่างทั่วประเทศ สำรวจงระหว่างวันที่ 14-23 ธันวาคม 2563 ที่ผ่านมา พบว่าคนส่วนใหญ่จะพักผ่อนอยู่บ้านมากขึ้น รองลงมาคือการสังสรรค์ จัดงานเลี้ยง ทำบุญทางศาสนา ขณะที่การท่องเที่ยวในช่วงปีใหม่ 71.6% ไม่มีการออกไปเที่ยว มีเพียง 28.4% ที่ยังเที่ยวอยู่ ซึ่งการใช้จ่ายในการเที่ยวต่อคนอยู่ที่ 9,876 บาท

อุมากมล สุนทรสุรัติ

ทั้งนี้ โดยภาพรวมการใช้จ่ายของประชาชนในช่วงปีใหม่ 2564 อยู่ที่ 91,467 ล้านบาท แบ่งเป็นใช้จ่ายเที่ยวในประเทศประมาณ 52,648 ล้านบาท ส่วนที่เหลือเป็นการใช้จ่ายในกิจกรรมต่าง ๆ ในช่วงปีใหม่ ส่วนการใช้จ่ายเที่ยวต่างประเทศจะไม่มี

นอกจากนี้ สิ่งที่ประชาชนต้องการได้เป็นของขวัญจากรัฐบาลมากที่สุด อันดับแรก คือ ช่วยแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจในประเทศให้ปรับตัวดีขึ้น รองลงมาอยากให้พัฒนาการบริหารประเทศด้วยความโปร่งใส และพัฒนาบุคลากรและระบบทางการศึกษา โดยสิ่งที่เป็นห่วงมากที่สุดในปีหน้า คือด้านการเมือง การแพร่ระบาดของโควิด-19 และปัญหาค่าครองชีพ

ปัจจัยที่น่าห่วงในปี 2564 อันดับแรก ยังเป็นเรื่องของการเมือง การแพร่ระบาดของโควิด-19 ค่าครองชีพและการคอร์รัปชัน ส่วนปัญหาที่รัฐบาลควรแก้ไขอย่างเร่งด่วนที่สุด คือ ปัญหาทางการเมือง เศรษฐกิจโดยรวม การแพร่ระบาดของโควิด-19 สำหรับการประเมินผลการแก้ไขปัญหาในด้านต่าง ๆ ของรัฐบาลในปีที่ผ่านมา การแก้ไขปัญหาโควิด-19 รัฐได้ 7.6 คะแนน การแก้ไขปัญหาสังคม รัฐได้ 7.0 คะแนน การแก้ไขปัญหาความขัดแย้ง รัฐได้ 7.0 คะแนน และสิ่งที่ต้องการให้รัฐดำเนินการในปี 2564 คือ แก้ปัญหาโควิด ให้การเมืองมีเสถียรภาพ ดูแลค่าครองชีพ แก้ไขปัญหาคอร์รัปชัน หนี้ครัวเรือน เป็นต้น