ส่งออก ม.ค. โต 0.35% เหตุเศรษฐกิจโลกฟื้นตัว-วัคซีนโควิดสร้างความมั่นใจ

ส่งออก-เงินบาท

สนค. เผย การส่งออกไทยมกราคม 2564 ขยายตัว 0.35% ผลจากศก.โลกดี การกระจายวัคซีนสร้างความเชื่อมั่น ประกอบกับความต้องการสินค้าเพิ่มขึ้น มั่นใจการส่งออกทั้งปี 2564 ขยายตัวอยู่ที่ 4%

วันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2564 นายภูสิต รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยว่า การส่งออกไทยในเดือนมกราคม 2564 มีมูลค่า 19,706 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 0.35% เทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน อีกทั้งยังเป็นการขยายตัวที่มีมูลค่าสูงกว่าค่าเฉลี่ย 5 ปีย้อนหลัง ซึ่งมีมูลค่าอยู่ที่ 18,319 ล้านเหรียญสหรัฐ

ภูสิต รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์
ภูสิต รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์

อย่างไรก็ดี การส่งออกที่ขยายตัวเป็นผลมาจากปัจจัยการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจโลกที่ดีขึ้น และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในหลายประเทศ รวมไปถึงการมีวัคซีนโควิด-19 เริ่มเห็นผลชัดเจนขึ้นซึ่งมีผลต่อความเชื่อมั่นกลับมาเร็ว

ขณะที่ การนำเข้าเดือนมกราคม 2564 ของไทยมีมูลค่า 19,908 ล้านเหรียญสหรัฐ หดตัว 5.24% เป็นผลมาจากมูลค่าสินค้าที่นำเข้ามาสูงขึ้น ส่งผลให้ประเทศไทยมีการค้าขาดดุล 202 ล้านเหรียญสหรัฐ อย่างไรก็ดี ทิศทางการส่งออกในปีนี้มองว่าเป็นบวกที่ 4% มูลค่าเฉลี่ยส่งออกต่อเดือนประมาณ 20,093 ล้านเหรียญสหรัฐ จากความต้องการสินค้ายังเพิ่มขึ้น ราคาน้ำมันเริ่มขยายตัว มาตรการกระจายวัคซีนประกอบกับมาตรการส่งเสริมการส่งออกของไทย

นอกจากนี้คาดการณ์การส่งออกครึ่งปีแรกอยู่ที่ 3-5% การส่งออกครึ่งปีหลังคาดว่าอยู่ที่ 3-4% ส่วนปัจจัยเสี่ยงยังมาจากปัญหาโควิด-19 การขนส่ง ค่าเงินบาทที่แข็งค่า

สำหรับตลาดส่งออกสำคัญของไทยยังคงเป็น สหรัฐ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย จีน ฮ่องกง และไต้หวั่น โดยการส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร ขยายตัว 3.7% เมื่อเทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน ขยายตัว 2 เดือนต่อเนื่อง

สินค้าที่ขยายตัวดี ได้แก่ น้ำมันปาล์ม ขยายตัว 345.1% ขยายตัว 2 เดือนต่อเนื่อง ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง ขยายตัว 50.5% ขยายตัว 3 เดือนต่อเนื่อง ผัก ผลไม้สด แช่แข็ง กระป๋องและแปรรูป ขยายตัว 31.7% ขยายตัว 5 เดือนต่อเนื่อง สุกรสดแช่เย็นแช่แข็ง ขยายตัว 38.5% ขยายตัว 17 เดือนต่อเนื่อง ยางพารา ขยายตัว 1.5% ขยายตัว 4 เดือนต่อเนื่อง

สำหรับสินค้าที่หดตัว ได้แก่ น้ำตาลทราย หดตัว 48.1% หดตัว 10 เดือนต่อเนื่อง ข้าว หดตัว 15.9% หดตัว 2 เดือนต่อเนื่อง ไก่สดแช่แข็งและแปรรูป หดตัว 7.9% หดตัว 7 เดือนต่อเนื่อง อาหารทะเลแช่แข็ง กระป๋องและแปรรูป หดตัว 0.8% หดตัว 6 เดือนต่อเนื่อง

ส่วนการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม มีการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม ขยายตัว 0.9% เมื่อเทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน ขยายตัว 2 เดือนต่อเนื่อง สินค้าที่ขยายตัวดี ได้แก่ ถุงมือยาง ขยายตัว 200.5% ขยายตัว 14 เดือนต่อเนื่อง รถยนต์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบ ขยายตัว 25.7% ขยายตัว 3 เดือนต่อเนื่อง

เครื่องโทรสาร โทรศัพท์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ขยายตัว 17.4% ขยายตัว 7 เดือนต่อเนื่อง สินค้าที่หดตัว ได้แก่ ทองคำ หดตัว 90.3% หดตัว 5 เดือนต่อเนื่อง เครื่องรับวิทยุ โทรทัศน์ และส่วนประกอบ หดตัว 8.2% หดตัว 16 เดือนต่อเนื่อง เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ กลับมาหดตัว 5.2% ในรอบ 3 เดือน