ค้าภายใน เตรียมเพิ่ม 100 รายการยา-เวชภัณฑ์ ขึ้นเว็บ ให้ผู้ป่วยตรวจสอบ

ยา-เวชภัณฑ์

กรมการค้าภายใน ส่งหนังสือแจ้งให้โรงพยาบาลเอกชน ส่งราคาซื้อ-ขาย ยา เวชภัณฑ์ และบริการทางการแพทย์ เพิ่มอีก 100 รายการ ภายในสิ้นเดือนมีนาคม 2564 นี้ เน้นรายการให้บัญชี UCEP ที่นิยม

นายวัฒนศักย์ เสือเอี่ยม อธิบดีกรมการค้าภายใน เปิดเผยว่า กรมได้ส่งหนังสือแจ้งไปยังโรงพยาบาลเอกชนกว่า 300 แห่งทั้วประเทศ เพื่อให้โรงพยาบาลแจ้งราคาซื้อ ราคาจำหน่ายยา เวชภัณฑ์ และบริการรักษาพยาบาล ค่าบริการทางการแพทย์ ค่าบริการอื่นๆ ที่เกี่ยวกับการรักษาโรค ตามรายการที่อยู่ในบัญชีเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤติมีสิทธิทุกที่ (UCEP) กลับมาให้กรมฯ จากรายการเดิม 100 รายการที่มีการให้แจ้งมาก่อนหน้านี้

โดยให้โรงพยาบาลแจ้งราคาซื้อ ราคาขายในรายการยา ให้แจ้งเพิ่มกลับมาอีก 100 รายการ โดยพิจารณารายการยาที่เป็นยอดนิยม ที่อยู่ในบัญชี UCEP ที่โรงพยาบาลเอกชนมักจะจ่ายให้กับผู้ป่วย จากก่อนหน้านี้ ให้แจ้งมาแล้ว ส่วนค่าบริการรักษาพยาบาล ของโรงพยาบาลเอกชนนั้นจะให้แจ้งค่าบริการ ที่เกี่ยวกับการตรวจ และรักษาโควิด-19 มาให้ด้วย โดยกำหนดให้แจ้งมาภายในสิ้นเดือนมีนาคม 2564 นี้

“การแจ้งเพิ่มเติมราคายา เวชภัณฑ์ และบริการรักษาพยาบาลฯ ที่กรมฯของเพิ่มนั้น ก็เพื่อนำมาจัดทำเป็น QR Code ให้โรงพยาบาลเอกชน ในการแสงราคายาและบริการให้กับประชาชนได้รับรู้ในการเข้าใช้บริการแต่ละครั้ง เพื่อตรวจสอบก่อนการใช้บริการ”

นอกจากนี้ กรมฯยังจะนำข้อมูลดังกล่าวเผยแพร่บนเว็บไซต์ www.dit.go.th ของกรมการค้าภายใน เพื่อให้ประชาชนตรวจสอบราคาและค่าบริการที่เกี่ยวข้องกับการรักษา เพื่อเปรียบทียบก่อนการตัดสินใจของผู้ป่วยเอง ซึ่งเบื้องต้น ภายหลังจากที่ทำหนังสือส่งไป โรงพยาบาลเอกชนทุกรายพร้อมยินดีให้ความร่วมมือ และแจ้งราคายาและบริการกลับมาที่กรมฯ

อย่างไรก็ดี กระทรวงพาณิชย์ ยังคงเดินหน้ากำกับดูแลยา เวชภัณฑ์ และบริการทางการแพทย์ของโรงพยาบาลเอกชนอย่างต่อเนื่อง โดยพยายามหาช่องทางช่วยเหลือผู้ป่วยในการรับรู้ข้อมูลก่อนการใช้บริการ พร้อมได้นำยาและเวชภัณฑ์เข้าสู่บัญชีรายการสินค้าและบริการควบคุมมาตั้งแต่ปี 2562 ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ.2542 และได้ออกมาตรการต่าง ๆ ในการกำกับดูแลไม่ให้ราคาสูงเกินจริง จนประชาชนได้รับความเดือดร้อน

อีกทั้ง ยังประกาศราคายาและเวชภัณฑ์ขึ้นบนเว็บไซต์กรมการค้าภายในให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูล เปรียบเทียบราคาเพื่อใช้บริการ ล่าสุด ประชาชนสามารถตรวจสอบราคายาในเว็บไซต์กรมฯได้มากถึง 32,419 รายการ ซึ่งเป็นยาทั้งที่อยู่ในบัญชี UCEP และยาตามรหัสบัญชีข้อมูลยาและรหัสยามาตรฐานไทย (TMT), เวชภัณฑ์ 792 รายการ และบริการทางการแพทย์ 5,292 รายการ

“จากมาตรการต่างๆ ที่ออกมาทำให้ค่ายา เวชภัณฑ์ และบริการทางการแพทย์ ปรับราคาลดลงสอดคล้องกับต้นทุนมากขึ้น เพราะโรงพยาบาลเอกชนมีการแข่งขันมากขึ้น เพื่อดึงดูดลูกค้า ซึ่งสร้างความพึงพอใจให้กับประชาชน ที่เข้ารับบริการในโรงพยาบาลเอกชนเป็นอย่างมาก”

นายวัฒนศักย์ กล่าวอีกว่า ส่วนกรณีราคาวัคซีนป้องกันโควิด-19 กรมฯจะมีการติดตาม ดูแลหรือไม่ เรื่องนี้เป็นเรื่องของกระทรวงสาธารณสุข ที่จะเข้ามากำกับดูแล เพราะขณะนี้ ยังไม่มีการนำเข้ามาขายเป็นการทั่วไป แต่เป็นการนำเข้ามาโดยภาครัฐบาล ที่นำเข้ามาฉีดให้กับประชาชนป้องกันโควิด-19 โดยผู้ที่ได้รับการฉีดเป็นแบบไม่เสียค่าใช้จ่ายใด ๆ

อย่างไรก็ตาม ประชาชนไม่ต้องกังวลค่ารักษาพยาบาลเกี่ยวกับโควิด-19 เพราะขณะนี้ รัฐบาลรักษาให้ฟรี จึงไม่ต้องกังวลเรื่องนี้

ส่วนค่าบริการการตรวจโควิด-19นั้น ซึ่งมีการตรวจทั้งรูปแบบกลุ่ม แบบเดี่ยว การตรวจแบบ Swab หรือ PCR (ใช้อุปกรณ์แหย่เข้าไปในจมูกแล้วเก็บของเหลวมาตรวจสอบ) ที่โรงพยาบาลแต่ละแห่งใช้ในการตรวจสอบเพื่อหาเชื้อโควิดหรือผู้ป่วยโควิดอยู่ในปัจจุบัน หากจะใช้แยกเฉพาะค่าบริการรักษาพยาบาลโรคโควิด-19 เป็นการเฉพาะ โรงพยาบาลเอกชน แจ้งว่า คงไม่สามารถแจ้งได้

เพราะปัจจุบัน การรักษาโรคนี้ เป็นการรักษาตามอาการ เช่น ถ้ามีปอดอักเสบ ก็จะรักษาอาการปอดอักเสบ จึงไม่ใช่การรักษาโรคโควิด-19 โดยเฉพาะ จึงไม่สามารถระบุค่าบริการได้อย่างชัดเจนซึ่งเป็นการรักษาตามอาการในผู้ป่วยแต่ละราย