จี้รัฐเร่ง 52 โครงการแก้แล้ง เชียร์ปลูก “ข้าวขาวพื้นนุ่ม”

ข้าว

ส.ชาวนาและเกษตรกรไทย ลุยพบ สทนช. ขอเร่งสปีด 52 โครงการน้ำ ใน 14 จังหวัดให้ทันแล้ง พร้อมผนึกโรงสีชัยนาทประเดิมส่งเสริมปลูก “ข้าวขาวพื้นนุ่ม” นำร่องรับซื้อ 18,000 ไร่ ตันละ 9,500 บาท มั่นใจอนาคตมาแรงแซงข้าวปทุมแน่

นายปราโมทย์ เจริญศิลป์ นายกสมาคมชาวนาและเกษตรกรไทย เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า เมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2564 ทางสมาคมพร้อมตัวแทนคณะกรรมการสมาคม ได้เข้าประชุมร่วมกับ พลเรือเอกพิเชฐ ตานะเศรษฐ หัวหน้าคณะทำงานด้านทรัพยากรน้ำเพื่อติดตามปัญหาความเดือดร้อน ตามที่สมาคมได้เคยมีหนังสือไปยังนายกรัฐมนตรี (พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา) ไปประมาณ 4-5 เดือนก่อน

“ท่านนายกฯได้มีบัญชาให้ช่วยเร่งโครงการพัฒนาแหล่งน้ำ เช่น การเจาะบ่อบาดาล การหาน้ำใต้ดิน เพื่อช่วยเกษตรกร ในส่วนที่สมาคมเป็นผู้ชี้เป้าหมายรวม 52 แผนงาน ใน 14 จังหวัด เช่น ร้อยเอ็ด มหาสารคาม กาฬสินธุ์ ชัยภูมิ พิษณุโลก นครราชสีมา กำแพงเพชร เป็นต้น

ซึ่งผลจากการหารือเบื้องต้นที่ประชุมเห็นชอบให้ดำเนินการโดยใช้งบประมาณกลาง และได้สั่งการไปทางผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัดแล้ว นี่คือจุดเริ่มต้นของการบริหารจัดการน้ำเพื่อการเกษตรแบบชุมชนมีส่วนร่วมทำให้เกิดความมั่นใจกับพวกเราได้ว่า โครงการพัฒนาแหล่งน้ำจะไม่เจอปัญหา สามารถดำเนินการตามเป้าหมายฤดูแล้งที่จะมาถึงอย่างแน่นอน”

นอกจากการส่งเสริมและแก้ไขปัญหาให้เกษตรกรในเรื่องน้ำแล้ว ทางสมาคมยังได้ประสานไปทางรองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พาณิชย์ (นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์) เพื่อขอให้ส่งเสริมการปลูกข้าวขาวพื้นนุ่ม พันธุ์ กข 87 และ กข 79

เป็นหนึ่งในข้าวที่รัฐบาลส่งเสริมภายใต้ยุทธศาสตร์ข้าว ปี 2563-2567 ด้วย โดยในวันที่ 30 มีนาคมนี้ ทางสมาคมจะร่วมกับตัวแทนโรงสีดำเนินโครงการนำร่องตามขาณุโมเดล ซึ่งได้มีการพัฒนาข้าวพันธุ์ กข 79 บนพื้นที่ 18,000 ไร่

โดยขณะนี้มีโรงสีในจังหวัดชัยนาท สิงห์บุรี และฉะเชิงเทรา พร้อมที่จะช่วยรับซื้อข้าวขาวพื้นนุ่มแล้ว เบื้องต้นคาดว่าข้าวเปลือกจะมีราคาประมาณ 9,500-9,600 บาท

“ข้าวขาวพื้นนุ่มพันธุ์นี้ให้ผลผลิตต่อไร่สูงสุดกว่า 1,000 กิโลกรัมต่อไร่ จากปกติไม่กี่ร้อยกิโลกรัมต่อไร่ และมีอายุการเพาะปลูก 130-140 วัน เรียกว่าดีกว่าข้าวปทุม

แต่ไม่เท่าหอมมะลิ หากไทยพัฒนาข้าวนี้จะทำให้ไทยสามารถส่งออกไปแข่งขันกับข้าวพันธุ์ ST25 ของเวียดนามได้ และในอนาคตมีโอกาสจะปลูกข้าวชนิดนี้มากกว่าข้าวปทุมธานี เพราะข้าวปทุมมีปัญหาเรื่องแมลง เพลี้ยลง เป็นข้าวรกโคน คนก็คงปลูกลดลงเรื่อย ๆ”