“สิงห์” จีบ “บี.กริม” ขายหุ้นโรงไฟฟ้า 30% ใน 400 MW-นิคมเวิลด์ฟู๊ดวัลเลย์

บี.กริม เพาเวอร์

“บี.กริม” ชี้สัญญาณบวกไตรมาส 2 ดีมานด์การใช้ไฟฟ้าอุตสาหกรรมพุ่ง 15% ลูกค้าแห่ทำสัญญาเพิ่ม 40 เมกะวัตต์ ชูกลยุทธ์เติบโตไปด้วยกัน ผนึกพาร์ตเนอร์ “สิงห์ เอสเตท” ดีลขาย 3 โรงไฟฟ้าในนิคมเวิลด์ ฟู๊ด วัลเลย์ ไทยแลนด์ 400 เมกะวัตต์ ยึดโมเดลเดียวกับนิคมอมตะ เดินหน้าตามแผนเพิ่มกำลังการผลิตเป้าหมาย 7,000 ในปี’68

นายนพเดช กรรณสูตร รองกรรมการผู้จัดการใหญ่อาวุโส ประธานเจ้าหน้าที่บริหารด้านการเงิน บริษัท บี.กริม เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า แนวโน้มธุรกิจในไตรมาส 2 คาดว่าความต้องการใช้ไฟฟ้าจะเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะลูกค้าที่มีอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมที่เริ่มมีการฟื้นตัวจากโควิด

ซึ่งเราเริ่มเห็นสัญญาณดีขึ้นตั้งแต่ไตรมาสแรกแล้วว่ามีการฟื้นตัวของลูกค้าอุตสาหกรรมในช่วงนี้มีการเติบโต 10-15% จากปีที่ผ่านมาดีกว่าช่วงที่เกิดโควิด และมีลูกค้าเข้ามาทำสัญญาซื้อไฟเพิ่มขึ้นมาไม่ต่ำกว่า 40 เมกะวัตต์ ซึ่งเป็นลูกค้าจากหลากหลายอุตสาหกรรม ทั้งจากนิคมอมตะ แหลมฉบัง และมาบตาพุด

ขณะเดียวกันบริษัทยังมีแผนเปิดเดินเครื่องโครงการที่ลงทุนพัฒนา (COD) โรงไฟฟ้าพลังงานลมขนาด 16 เมกะวัตต์ในไตรมาส 2 และได้ทำสัญญาซื้อขายกับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.)

ล่าสุดขณะนี้อยู่ระหว่างการเจรจากับ บมจ.สิงห์ เอสเตท หรือ S บริษัทผู้พัฒนาและลงทุนอสังหาริมทรัพย์ชั้นนำของไทย ตามที่ทางเอสระบุว่าสิทธิเข้าซื้อหุ้นสามัญ 30% ในโรงไฟฟ้า 3 บริษัทในกลุ่ม บี.กริม รวมกำลังผลิต 400 เมกะวัตต์

“ขณะนี้ยังไม่ได้ขายโรงไฟฟ้า ยังอยู่ระหว่างการเจรจาพูดคุยถึงสิทธิในการซื้อหุ้น แต่ยังไม่มีกระบวนการซื้อขายกัน ยังไม่ได้มีการเอ็กเซอร์ไซส์สิทธิของการซื้อขายหุ้นตรงนี้ โดยหลักการแล้วมันจะยังมีขั้นตอนอีกหลายขั้นตอนเหมือนกัน ซึ่งหลังจากนี้จะตัดสินใจขายหรือไม่ขายก็เป็นสิทธิของเรา คาดว่าจะได้ข้อสรุปเร็ว ๆ นี้”

ทั้งนี้ 3 โครงการดังกล่าวเป็นโครงการที่ทาง บี.กริม พาวเวอร์ ได้ไปทำโครงการย้ายไซต์ไปอยู่ที่นิคมเวิลด์ ฟู๊ด วัลเลย์ของสิงห์ เอสเตท ซึ่งเป็นลักษณะคล้ายกับที่ บี.กริมได้เคยร่วมกับนิคมอมตะ โดยมีเป้าหมายเพื่อสร้างความแข็งแกร่งในกลุ่มพันธมิตร ร่วมมือกันเพื่อจะตอบโจทย์ลูกค้าของเราที่จะเข้ามาอยู่ในนิคมอุตสาหกรรม เป็นการมองถึงโอกาสที่จะร่วมมือคุยกันต่อไปในอนาคต

“ความร่วมมือนี้ทาง บี.กริม และสิงห์ เอสเตท จะเป็นพันธมิตรที่อาจจะมีขยายการลงทุนร่วมกันต่อไปในอนาคต เช่น ในนิคมถัดไปในเครือของสิงห์ ก็มีโอกาสที่จะร่วมมือกันต่ิ นี่เป็นกลยุทธ์ของเราที่จะเน้นการสร้างความเติบโตร่วมกับพันธมิตรของเราอยู่แล้ว โดยโครงการโรงไฟฟ้าทั้งหมดที่อยู่ระหว่างกระบวนการเจรจายังเดินหน้าเพื่อให้เป็นไปตามเป้าหมายการเพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้าในกลุ่มบี.กริม ที่วางไว้ว่าต้องการให้ได้ 7,000 เมกะวัตต์ในปี 2568 ทางบริษัทจึงมองถึงโอกาสเข้าซื้อและควบรวมกิจการ (M&A) เพิ่มเติม”

รายงานข่าวระบุว่า สิงห์ เอสเตท ประกาศว่าได้รับสิทธิซื้อหุ้นสามัญ 30% ในโรงงานผลิตไฟฟ้าและความร้อนร่วม (cogeneration power plant) ขนาดใหญ่ 3 แห่ง ซึ่งมีกำลังการผลิตกระแสไฟฟ้ารวมกัน 400 เมกะวัตต์ โดยเป็นสิทธิซื้อที่ราคาพาร์ คิดเป็นมูลค่าการลงทุนรวมทั้งสิ้น 1,392 ล้านบาท

โดยแห่งแรกเป็นโรงงานผลิตกระแสไฟฟ้าและพลังงานความร้อนร่วม ของบริษัท อ่างทองเพาเวอร์ จำกัด ซึ่งตั้งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมเวิลด์ ฟู๊ด วัลเลย์ ไทยแลนด์ จังหวัดอ่างทอง โดยดำเนินการผลิตอยู่แล้ว กำลังการผลิต 123 เมกะวัตต์

ส่วนแห่งที่ 2 และ 3 กำลังอยู่ระหว่างการก่อสร้าง มีกำหนดการเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ (COD) ประมาณไตรมาส 3-4 ปี 2566 (2023) คือ บริษัท บี.กริม เพาเวอร์ (ราชบุรี) 1 จำกัด และบริษัท บี.กริม เพาเวอร์ (ราชบุรี) 2 จำกัด เป็นเจ้าของใบอนุญาต ตั้งอยู่ในเขตนิคมอุตสาหกรรมเวิลด์ ฟู๊ด วัลเลย์ ไทยแลนด์ ขนาดกำลังการผลิตแห่งละ 140 เมกะวัตต์

ซึ่งบริษัทดังกล่าวได้ทำสัญญาซื้อขายไฟ (PPA) กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ปริมาณแห่งละ 90 เมกะวัตต์ต่อโครงการเป็นระยะเวลา 25 ปี ส่วนที่เหลือจะขายให้ลูกค้าในนิคมอุตสาหกรรม โดยจะใช้ก๊าซที่ทำสัญญาซื้อขายไฟจาก ปตท. แต่ในอนาคตจะมีการนำเข้าก๊าซ LNG มาใช้สำหรับโครงนี้ด้วย แต่ยังอยู่ระหว่างการจัดหาอยู่ ยังต้องทำเรื่องขออนุมัติต่อไป

ส่วนเรื่องราคา LNG ยังต้องดูจังหวะ เราก็ได้เงื่อนไขที่ดีจากผู้ขายซึ่งเมื่อเราได้รับไฟเขียวให้เดินหน้าต่อเรื่อง LNG ก็คาดว่าจะสามารถกำหนดราคาที่ดีได้ และมีเรื่องแผนการระดมทุนออกหุ้นกู้ จะมีแผนในการออกเพิ่มประมาณ 5,000-7,000 ล้านบาท โดยจะนำไปใช้ลงทุนในโครงการที่มีอยู่ในปัจจุบัน และที่เพิ่มเข้ามาในอนาคต

ทั้งนี้ บี.กริมได้รับอนุญาตให้เป็นผู้นำเข้า LNG (LNG shipper) ปริมาณ 650,000 ตัน/ปี โดยจะเริ่มนำเข้าได้ในช่วงครึ่งปีหลังปี 2564 ปริมาณ 250,000 ตัน และปี 2565 อีก 350,000 ตัน