ปั้นเขตเศรษฐกิจ SAEZ ดึงโมเดล EEC ต่อยอดเกษตร

ข้าว

ภาคเกษตรนับเป็นหัวใจสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจไทยอย่างมาก เมื่อดูตัวเลขมูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตรสามารถสร้างรายได้ให้แก่ประเทศเฉลี่ยปีละ 7.5 แสนล้านบาท แต่ต้องยอมรับว่ายังขาดการเชื่อมโยงยกระดับการพัฒนาอย่างเป็นรูปธรรม

สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) จึงรับโจทย์ปั้นโมเดลเขตเศรษฐกิจการเกษตรพิเศษ หรือ Special Agricultural Economic Zone (SAEZ) ในรูปแบบเดียวกับเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ก้าวสู่เกษตรอุตสาหกรรม

เกษตรผนึกหอการค้าไทย

นายฉันทานนท์ วรรณเขจร เลขาธิการ สศก. กระทรวงเกษตรและสหกรณ์กล่าวว่า สศก.ได้รับโจทย์จากรัฐบาลให้จัดทำแผนบริหารจัดการเขตเกษตรเศรษฐกิจเพื่อการปฏิรูปภาคการเกษตร จึงเริ่มจากประกาศเขตเหมาะสมต่อการปลูกพืช ปศุสัตว์ และประมงรวม 20 สินค้า (พืช 13 ชนิด และปศุสัตว์ 5 ชนิด และประมง 2 ชนิด) แต่ยังคงประสบปัญหาเนื่องจากยังขาดการบริหารจัดการที่เชื่อมโยง ขาดมาตรการจูงใจทั้งเกษตรกรเองและผู้ประกอบการ

ฉันทานนท์ วรรณเขจร
ฉันทานนท์ วรรณเขจร เลขาธิการ สศก. กระทรวงเกษตรและสหกรณ์

สศก.จึงเห็นว่าควรศึกษาความเป็นไปได้เบื้องต้นในการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจการเกษตรพิเศษผ่านโครงการศึกษาวิจัย “การศึกษาความเป็นไปได้เบื้องต้นในการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจการเกษตรพิเศษ” (SAEZ) ซึ่งจะเน้นการพัฒนาในเชิงพื้นที่ ทำให้สามารถลงลึกในรายละเอียดได้รวดเร็วกว่า และจะศึกษาวิจัยร่วมกับทางมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย รวมถึงขอรับการสนับสนุนทุนวิจัยจากสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) (สวก.) ที่เป็นหน่วยงานเครือข่ายความร่วมมือทางวิชาการและการต่อยอดงานวิจัยร่วมกัน

ดึงโมเดล EEC สู่ภาคอีสาน

สำหรับแนวทางในการศึกษา สศก.จะศึกษาตลอดห่วงโซ่การผลิต ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ โมเดลต้นแบบจากพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก หรือ Eastern Economic Corridor : EEC โดยจะมีการสนับสนุนโครงสร้างพื้นฐาน สิทธิประโยชน์ด้านการลงทุน การบริหารจัดการแรงงาน และการให้บริการจุดเดียวแบบเบ็ดเสร็จ หรือ one stop service และจะศึกษาถึงความเป็นไปได้ทางด้านการเงินและด้านเศรษฐศาสตร์อีกด้วย

เบื้องต้นจะกำหนดเป้าหมายสินค้าเกษตรเศรษฐกิจ อาทิ ข้าว ยางพารา และมันสำปะหลัง โดยคาดว่าจะเริ่มศึกษาสินค้าข้าว อย่างข้าวหอมมะลิเป็นชนิดแรกในพื้นที่แหล่งผลิตสำคัญภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เพราะเป็นสินค้าเกษตรเศรษฐกิจที่สร้างรายได้หลักให้ประเทศ ซึ่งไทยมีศักยภาพมูลค่าการส่งออกสูง ส่งผลต่อรายได้เกษตรกรและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องจำนวนมาก

“ช่วง 5 ปีที่ผ่านมา (ปี 2559-2563) การส่งออกสินค้าเกษตรสร้างรายได้ให้ประเทศเฉลี่ยปีละ 6.5-7.5 แสนล้านบาท เฉพาะกลุ่มสินค้าเกษตรสำคัญในเขตเกษตรเศรษฐกิจ เช่น ข้าว ยางพารา มันสำปะหลัง และผลไม้ มีมูลค่าการส่งออกสูงมาก เพียงแต่ขาดการพัฒนา ซึ่งโครงการ SAEZ จะเป็นกลไกสำคัญในการพัฒนาภาคการเกษตรตลอดห่วงโซ่การผลิต ช่วยสร้างรายได้ พัฒนาคุณภาพชีวิตเกษตรกร ส่งเสริมผู้ประกอบการ และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องก้าวสู่เกษตรอุตสาหกรรมที่เชื่อมโยงตลาดทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาสนับสนุนทุนวิจัยคาดว่าจะสามารถเริ่มดำเนินการโครงการได้ในเดือนนี้”

วางกลยุทธ์แนวคิดหลัก “9 P”

นางสาวสุกัลยา กาเซ็ม ผู้อำนวยการส่วนส่งเสริมสร้างนวัตกรรมด้านวิจัยเศรษฐกิจการเกษตร สำนักวิจัยเศรษฐกิจการเกษตรกล่าวเสริมว่า การศึกษาวิจัยดังกล่าวจะวางกลยุทธ์แนวคิดองค์ประกอบหลัก “9 P”

สุกัลยา กาเซ็ม
สุกัลยา กาเซ็ม ผู้อำนวยการส่วนส่งเสริมสร้างนวัตกรรมด้านวิจัยเศรษฐกิจการเกษตร สำนักวิจัยเศรษฐกิจการเกษตร

ได้แก่ problem การสังเคราะห์ปัญหาเพื่อตอบโจทย์ place พื้นที่ที่เหมาะสมในการกำหนดโมเดลต้นแบบ product สินค้าเกษตรที่จะขับเคลื่อนในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ premium value การสร้างมูลค่าและสร้างรายได้เป็นพิเศษ proximity value

ปัจจัยที่เป็นองค์ประกอบให้เกิดการรวมกันเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ เช่น ทรัพยากรต่าง ๆ privilege สิทธิพิเศษที่ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องจะได้รับ preemptive right สิทธิของคนที่อยู่เดิมในพื้นที่ต้นแบบจะได้รับ public-private-people partnership การสร้างความร่วมมือทุกภาคส่วน และ policy นโยบาย มาตรการ และกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ให้สามารถขับเคลื่อนการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจการเกษตรพิเศษเกิดขึ้นได้จริง

ปัจจุบันมีการกำหนดเขตเกษตรเศรษฐกิจ 2 แบบ คือ เขตเกษตรเศรษฐกิจรายสินค้า (commodities approach) ตามเป้าหมายของการผลิต พื้นที่ที่มีศักยภาพ แบบรายอำเภอ และตำบลตามพื้นที่ปลูกจริง จากข้อมูลดาวเทียมและการสำรวจภาคสนาม การกำหนดเขตเกษตรเศรษฐกิจตามศักยภาพการผลิตของพื้นที่ (area approach)

ในขั้นตอนนี้เป็นการนำเขตเกษตรเศรษฐกิจเป็นรายสินค้ามาซ้อนทับกัน จะทำให้ทราบถึงศักยภาพของพื้นที่ว่ามีความเหมาะสมในการผลิตสินค้าชนิดใดได้บ้าง เพื่อเป็นข้อมูลให้กับเกษตรกรได้เลือกว่าควรจะผลิตพืชชนิดใดที่มีความเหมาะสมกับศักยภาพพื้นที่ตัวเอง ตรงตามความต้องการของตลาด

นางสาวสุกัลยาย้ำว่า กระบวนการในการศึกษาในครั้งนี้จะมองภาพความต้องการสินค้าเกษตร (demand) ในระดับปลายน้ำ และย้อนมาสู่การพัฒนาผลผลิตสินค้าเกษตร (supply) ในระดับต้นน้ำ โดยในเดือนเมษายน 2564 สศก.จะลงนามในสัญญาเพื่อศึกษาวิจัยร่วมกันกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งจะถือเป็นการ kick off อย่างเป็นทางการ

เอกชน-ชาวนา ไม่รู้เรื่อง

สำหรับการนำร่องใช้เขตเศรษฐกิจพิเศษนี้นำร่องใน “สินค้าข้าวหอมมะลิ” นั้น นายสุเทพ คงมาก นายกกิตติมศักดิ์สมาคมเกษตรกรและชาวนาไทย และกรรมการในคณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าว (นบข.) กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ยังไม่ทราบรายละเอียด แต่จากการได้รับข้อมูลเบื้องต้นนี้ มองว่าเป็นโครงการที่ดีมาก ซึ่งภาคอีสานตอนบน มีเขตเศรษฐกิจพิเศษอยู่นครพนมอยู่แล้ว หากจะพัฒนายกระดับเป็นเศรษฐกิจพิเศษเกษตรก็พร้อมสนับสนุนแนวคิด

โดยนครพนมมีข้าวหอมมะลิคุณภาพ น่าจะตอบโจทย์ได้ดี และสามารถเชื่อมโยงยกระดับมูลค่าสินค้าไปถึงข้าวอินทรีย์พื้นที่ใกล้เคียงได้ ทั้งนี้ ขอให้รัฐบาลโดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เร่งรัดขับเคลื่อนให้เป็นรูปธรรม และควรกำหนดแผนให้ชัดเจน จะทำอย่างไร ขายที่ไหน มูลค่าเท่าไร เป็นต้น

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” สอบถามไปยังนายวิชัย ศรีนวกุล นายกสมาคมโรงสีข้าวภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และ ร.ต.ท.เจริญ เหล่าธรรมทัศน์ นายกสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญในการผลิตและส่งออกข้าวหอมมะลิ “ยังไม่ทราบ” ที่มาและรายละเอียดของการก่อตั้งโครงการ