แรงงานไทยหนี้ท่วมสูงสุดเป็นประวัติการณ์ เงินสะพัดวันแรงงานหด 19%

ม.หอการค้าไทย คาดเงินสะพัดวันหยุดแรงงานหงอยหดตัว 19.7% ครั้งแรก เหลือ 1,793 ล้านบาท ผงะโพลล์ชี้แรงงานไทยหนี้ท่วมสูงสุดเป็นประวัติการณ์ พบสัญญาแรงงานกว่า 85% เริ่มผิดนัดชำระหนี้ เงินออมหด 30% หวั่นตกงานสูงสุดในรอบ 5ปี ชี้หาก 3 เดือนไม่ฟื้น บัณฑิตจบใหม่ 5 แสนคนเตรียมแตะฝุ่น

ผศ.ดร.ธนวรรน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย แถลงข่าว โพล”สถานภาพแรงงานไทย ปีที่ 2564 : กรณีศึกษากลุ่มตัวอย่างแรงงานไทย ที่มีรายได้ต่ำกว่า 15,000 บาทต่อเดือน ซึ่งได้สำรวจกลุ่มตัวอย่าง 1,256 ตัวอย่างระหว่างวันที่ 18-22 เมษายน 2564 พบว่า ภาพรวมการจับจ่ายในช่วงวันแรงงานปีนี้คาดว่าจะมีเม็ดเงินสะพัด. 1,793 ล้านบาท ต่ำสุดในรอบ 10ปี ซึ่งปรับลดลง 19.7% จากปีก่อน และถือเป็นการหดตัวครั้งแรกจากที่เคยทำการสำรวจมากตั้งแต่ปี 2552

“จากการสำรวจปีนี้แรงงานไทยส่วนใหญ่ทำงานเท่าเดิม รายได้ไม่เพิ่ม อาชีพเสริมก็หด ทั้งยังประสบปัญหาภาระหนี้ครัวเรือนสูงสุดเป็นประวัติการณ์ เฉลี่ยรายละ 2.05 แสนบาทต่อคน เพิ่มขึ้น 30% จากปีก่อน เพื่อกู้มาใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน และกู้ใช้หนี้ ทำให้เงินออมลดลง 30% ”

ทั้งนี้ แรงงานไทยเสี่ยงว่างงานสูงสุดในรอบ 5ปี โดยอัตราการว่างงานเฉลี่ยตอนนี้อยู่ที่ 1.6%ซึ่งอาจถือว่าเป็นอัตราไม่สูง เพราะไทยไม่มีการปลดคน และพยายามประคองการจ้างงาน แต่หากไม่สามารถควบคุมการแพร่ระบาดโควิดได้ สถานการณ์เศรษฐกิจยังไม่ดีขึ้น ต่อเนื่องไป 3เดือนก็อาจจะมีแรงงานกลุ่มบัณฑิตจบใหม่ออกมาอีก 5-7แสนคน ที่เสี่ยงจะออกมาแล้วหางานทำไม่ได้

 แรงงานไทย รายได้น้อยหนี้ท่วม

นางอุมากมล สุนทรสุรัติ ผู้ช่วยผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวถึงรายละเอียดของผลสำรวจ ว่า กลุ่มตัวอย่าง ส่วนใหญ่ชี้ว่าระดับรายได้ก่อนและหลังการแพร่ระบาดของโควิด – 19 ยังมีอัตราเท่าเดิม และ 67.6%ไม่มีเงินออม นอกจากนั้น 78.6% ไม่มีรายได้จากอาชีพเสริม

ขณะที่แรงงานส่วนใหญ่ 98.1% ระบุว่ามีภาระหนี้สินเพิ่มมากขึ้นกว่าปี2562 ซึ่งมาจากการกู้เพื่อนำเงินมาใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน นำมาลงทุน กู้ยืมเพื่อนำมาใช้หนี้เงินกู้ จ่ายค่ายานพาหนะ และเป็นที่น่าสังเกตว่าส่วนหนึ่งกู้มาเพื่อใช้เป็นค่าการศึกษา เพื่อพัฒนาตนเอง

“สำหรับภาระหนี้ต่อคนเพิ่มขึ้นเป็น 205,809.81 บาท ซึ่งเพิ่มขึ้นประมาณ 29.56% ซึ่งแบ่งเป็นการกู้ในระบบ 71.6%และนอกระบบ 29.56% ซึ่งมีเหตุมากจากรายได้ไม่พอรายจ่าย เพราะภาระหนี้สูงขึ้น ราคาสินค้าอุปโภคบริโภคแพงขึ้น ดอกเบี้ยสุงขึ้น และมีแรงงานส่วนใหญ่ถึง 85.1% ที่มีการผิดนัดชำระหนี้ในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา ”

ทั้งนี้ เมื่อสำรวจสถานะทางการเงินของแรงงาน จากพฤติกรรมการใช้เงิน พบว่า มีแรงงานที่มีการใช้มากกว่ารายได้ 19.9% ซึ่งสัดส่วนการใช้ส่วนใหญ่จะนำไปเป็นค่าอาหาร ใช้หนี้่ ค่าที่อยู่อาศัย ค่าเครื่องใช้ไฟฟ้า และการเลี้ยงดูบุตร และมีส่วนหนึ่งที่กู้ไปใช้เพื่อการศึกษา

แรงงานชื่นชมมาตรการรัฐ พักหนี้

นางอุมากมล กล่าวว่า แรงงานที่ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่ 86% มีการใช้โครงการช่วยเหลือของภาครัฐ ทั้งการลด การพักชำระหนี้ และมองถึงผลดีของโครงการคนละครึ่ง เราชนะ เรารักกันว่าเป็นโครงการที่มีประโยชน์ ซึ่งควรจะมีการดำเนินการต่อเนื่อง

อย่างไรก็ตาม จากการสำรวจแรงงานยังมีความกลัวว่าจะตกงาน โดยเฉพาะแรงงานที่รับค่าจ้างเป็นรายวันในอุตสาหกรรที่เกี่ยวข้องกับภาคบริการการท่องเที่ยว มีโอกาสตกงานคิดเป็น 64.2% ทั้งนี้แรงงานกังวลเกียวกับการหางานใหม่จากสภาวะตลาดงานตึงตัว โอกาสหางานยากกว่า 70% และมีเงินสำหรับใช้เพื่อรอดการหางานใหม่เพียง 1 เดือนเท่านั้น

 

ปัญหาหลักที่ต้องการให้รัฐดูแล

พร้อมกันนี้ยังได้สำรวจทัศนะต่อประเด็นต่างๆ เพิ่มเติมพบว่า แรงงานส่วนใหญ่กังวล 5 ประเด็นหลัก คือ สถานการณ์เศรษฐกิจ ซึ่งมองว่าอยู่ในระดับแย่ถึงแย่มากในขณะนี้ การแพร่ระบาดของโควิด วัคซีนล่าช้า ปัญหาราคาสินค้าในปัจจุบันและอนาคต

สิ่งที่ต้องการให้รัฐบาลเข้ามาดูแล มีทั้งการเพิ่มค่าแรงงานขั้นต่ำ การช่วยเหลือแรงงาน การดูแลปัญหาการว่างงาน การดูแลหนี้สินของแรงงาน และปัญหาค่าครองชีพ