สรท. จี้รัฐนำเข้า “ตู้คอนเทนเนอร์” 1.8 ล้านตู้ หนุนส่งออกโต 7%

ขนส่ง-ตู้สินค้า

สรท.เปิดโผสินค้าดาวรุ่งส่งออกโตพรวด 5-10% ปี’64 จี้รัฐเร่งนำเข้าตู้คอนเทนเนอร์เปล่า 1.8 ล้านทีอียู-แก้ไขปัญหาแหลมฉบังแออัด พร้อมนำเข้าแรงงานต่างด้าว 8 แสนคน รับส่งออกพุ่ง 7%

นายชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) เปิดเผยว่า สรท.ปรับคาดการณ์การส่งออกไทยปี 2564 จะขยายตัว 6-7% หากส่งออกเฉลี่ยที่ 20,000-20,400 เหรียญสหรัฐต่อเดือน จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะตลาดหลัก สหรัฐ จีน ขณะที่การส่งออกกลุ่มอุตสาหกรรมขยายตัวตามทิศทางของราคาน้ำมัน ค่าเงินบาทที่อ่อนค่า โดยคาดว่าจะอยู่ระดับ 31-32 บาทต่อเหรียญสหรัฐ

โดยรายการสินค้าไทยมีโอกาสที่จะส่งออกโตเฉลี่ยมากกว่า 10% เช่น ยางพารา มันสำปะหลัง ยานยนต์และชิ้นส่วน เม็ดพลาสติกและผลิตภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์ยาง และน้ำมันสำเร็จรูป ส่วนสินค้าที่คาดว่าจะส่งออกโตเฉลี่ย 5-10% เช่น อุตสาหกรรมอาหาร สิ่งทอ เครื่องนุ่งห่ม เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์เคมีภัณฑ์ วัสดุก่อสร้าง เครื่องจักรกลและส่วนประกอบแต่สินค้าที่ส่งออกโตต่ำกว่า 5% เช่น ข้าว น้ำตาล อัญมณีและเครื่องประดับ

อย่างไรก็ตาม ปัจจัยเสี่ยงจากปัญหาตู้สินค้าขาดแคลนยังต้องติดตามอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะกรณีที่จีนได้ปรับอัตราค่าระวางเพิ่มขึ้นในเดือนเมษายน 2564 เพื่อนำเข้าตู้เปล่า ซึ่งจะส่งผลทำให้ไทยอาจขาดแคลน ความแออัดในท่าเรือแหลมฉบังที่ยังไม่ได้รับการแก้ไข การระบาดโควิด-19 ที่กลับมาระบาดรอบใหม่ ทั้งยังมีการกลายพันธุ์ของไวรัสในประเทศคู่ค้าสำคัญหลายประเทศ อาทิ อินเดีย สหภาพยุโรป ซึ่งอาจส่งผลต่อกำลังซื้อ สถานการณ์วัตถุดิบขาดแคลนเพื่อผลิตสินค้าเพื่อการส่งออก

“สรท.ต้องการให้หน่วยงานภาครัฐเร่งแก้ไขปัญหาตู้สินค้าขาดแคลน ต้องนำเข้าตู้เปล่าเข้ามาจำนวนทั้งสิ้น 1,865,248 TEUs ให้เพียงพอรองรับการส่งออกที่จะพลิกฟื้นกลับมา เร่งแก้ไขปัญหาความแออัดในท่าเรือแหลมฉบัง เร่งจัดหาแรงงานป้อนเข้าสู่ระบบรองรับการฟื้นตัวของภาคอุตสาหกรรม ซึ่งต้องการแรงงานต่างด้าวไม่ต่ำกว่า 2-3 แสนคน รักษาเสถียรภาพของค่าเงินให้อยู่ระหว่าง 31-32 บาทต่อเหรียญสหรัฐ”

นอกจากนี้ การเพิ่มโอกาสการแข่งขันการส่งออกไทยในปี 2564 โดยเฉพาะการเจรจาเพิ่มสิทธิพิเศษทางการค้าเป็นสิ่งสำคัญ ทาง สรท.พร้อมสนับสนุนเปิดโอกาสให้ไทยเจรจา CPTPP แต่ต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ พร้อมสนับสนุนการเจรจาเอฟทีเอไทย-อียู ซึ่งเป็นสิ่งที่ภาคเอกชนต้องการให้รัฐเร่งเจรจาให้เร็วที่สุด

โควิดทำแรงงานขาดเร่งรัฐแก้ไข

นายสุภาพ สุวรรณพิมลกุล รองประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) กล่าวว่า ก่อนที่จะมีการแพร่ระบาดของโควิด-19 แรงงานต่างด้าวที่อยู่ในประเทศมีประมาณ 2.6-3 ล้านคน แต่ปัจจุบันจากปัญหาที่เกิดขึ้น มีแรงงานในระบบอยู่ที่ 2.1 ล้านคน

เนื่องจากกลับประเทศและไม่สามารถเข้ามาได้ ซึ่งส่งผลให้หลายอุตสาหกรรมยังต้องการแรงงานไม่ต่ำกว่า 4-8 แสนคน ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจำเป็นต้องการแก้ไขปัญหาในเรื่องนี้ โดยจำเป็นต้องหามาตรการในการนำแรงงานต่างด้าวเข้ามาในระบบให้ได้โดยเร็ว เพื่อรับกับกลุ่มภาคการผลิตซึ่งเริ่มฟื้นตัว มีคำสั่งซื้อสินค้าเข้ามาอย่างต่อเนื่อง ช่วยให้การส่งออกเติบโตตามเป้าหมายที่คาดการณ์ไว้

“ขอให้รัฐบาลนำเข้าแรงงานโดยขยายเวลาให้แรงงานต่างด้าว 3 สัญชาติ คือ กัมพูชา เมียนมา และ สปป.ลาว ในประเทศเข้ามาขึ้นทะเบียนให้ถูกต้อง ซึ่งที่ผ่านมาเข้าระบบเพียง 1.6-2 แสนคน นอกจากนี้ ต้องการให้เพิ่มรูปแบบการจ้างงานลักษณะพาร์ตไทม์ ระยะเวลาจ้างไม่ต่ำกว่า 4 ชั่วโมง เป็นต้น”

จี้รัฐนำเข้าตู้เปล่าหนุนส่งออก

นายคงฤทธิ์ จันทริก ผู้อำนวยการบริหารสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) กล่าวว่า จากการประเมินแนวโน้มการส่งออก คาดว่าการใช้ตู้คอนเทนเนอร์ในปี 2564 จะมีจำนวน 4.8 ล้านตู้คอนเทนเนอร์ โดยขณะนี้นำเข้ามาแล้วประมาณ 3.3 ล้านตู้คอนเทนเนอร์ยังต้องการนำเข้าเพิ่มอีก 1.8 ล้านตู้คอนเทนเนอร์ เพื่อรองรับการส่งออกให้เติบโตได้ 7%

“ภาครัฐจำเป็นต้องเร่งแก้ไขปัญหาการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ ให้มีปริมาณเพียงพอต่อความต้องการ รองรับการเติบโตของการส่งออกที่คาดการณ์ไว้ หากไม่สามารถนำตู้เปล่าเข้ามาได้ จะส่งผลกระทบต่อการส่งออกไทยได้ อีกทั้ง จากการติดตามความต้องการตู้เปล่านั้น พบว่า จีนมีการปรับขึ้นค่าระวางเรือ ซึ่งมีโอกาสที่ตู้คอนเทนเนอร์จะกลับไปขาดแคลนอีกครั้ง”

นอกจากนี้ ยังต้องการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องแก้ไขปัญหาความแออัดท่าเรือแหลมฉบัง และปัญหาความล่าช้าของเรือบรรทุกสินค้า พัฒนาระบบการขนส่งทางราง อำนวยความสะดวก ลดกระบวนการขออนุญาตนำเข้า-ส่งออก นำเทคโนโลยีเข้ามาปรับใช้เพื่อความรวดเร็ว

ทั้งนี้ ท่าเรือหลักที่ใช้มากสุดคือ ท่าเรือแหลมฉบัง 66% ท่าเรือคลองเตย 15% ICD ลาดกระบัง 13% ท่าเรือเอกชน 4% และท่าเรือสงขลา 2% โดยปริมาณตู้เข้ามาผ่านท่าเรือต่าง ๆ รวมเกือบ 10 ล้านตู้ ส่วนค่าระวางเรือขณะนี้มีแนวโน้มสูงขึ้น เฉลี่ย 2,979 เหรียญสหรัฐต่อตู้ 20 ฟุต