รัฐลุยแผนปฏิบัติการสกัดโควิด 3 พันโรงงาน

โรงงาน
แฟ้มภาพ

4 กระทรวงผนึกกำลังขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการสกัดโควิดคลัสเตอร์โรงงาน อุตสาหกรรมหัวหอกลุย 3 พันโรงงานขนาดใหญ่เป้าหมายหลัก ให้ตรวจสอบประเมินตนเองผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ Thai Stop Covid แบบ 100% เดดไลน์ 15 มิ.ย.นี้ ชูแนวทาง “Online-Onsite-Upgrade-Vaccine” ส.อ.ท.-หอการค้าฯประสานเสียงหนุน นิคมอุตฯ 27 แห่งคิกออฟฉีดวัคซีนสร้างภูมิคุ้มกันแรงงาน

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดผยว่า ตามที่ศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. มอบหมายให้กระทรวงอุตสาหกรรมเป็นเจ้าภาพหลัก ร่วมกับกระทรวงแรงงาน กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงมหาดไทย หน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง ควบคุมและป้องกันโรคโควิด-19 ในสถานประกอบกิจการโรงงาน ทั้งในระดับประเทศ และจังหวัด เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดในโรงงาน และปกป้องเศรษฐกิจของประเทศ

จากการหารือมีความเห็นร่วมกันว่า การขับเคลื่อนมาตรการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในสถานประกอบกิจการโรงงาน จะทำด้วยหลักการ “Online-Onsite-Upgrade-Vaccine”

คิกออฟแผนปฏิบัติการ

1.Online-ให้โรงงานประเมินตนเอง พร้อมเร่งประชาสัมพันธ์และขอความร่วมมือโรงงานทั่วประเทศ ประเมินตนเองผ่าน platform online : Thai Stop COVID plus และ Thai Save Thai ให้แล้วเสร็จภายในสิ้นเดือนมิถุนายน 2564 โดยกลุ่มเป้าหมายแรกเป็นโรงงานที่มีคนงานตั้งแต่ 200 คนขึ้นไป ซึ่งมีจำนวน 3,304 ราย ให้แล้วเสร็จภายใน 15 มิถุนายน 2564 ซึ่งจากรายงานล่าสุดพบว่า

กลุ่มเป้าหมายมีการประเมินตนเองผ่าน platform ดังกล่าว ณ วันที่ 10 มิถุนายน 2564 เพิ่มขึ้นเป็นจำนวน 1,722 ราย หรือคิดเป็นร้อยละ 52 แสดงให้เห็นว่า ผู้ประกอบการให้ความสำคัญ และเริ่มดำเนินการเพิ่มมากขึ้น

2.Onsite-จัดทีมแนะนำและติดตามการประเมินตนเอง โดยให้สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัด และหน่วยงานในพื้นที่ของกระทรวงแรงงาน กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงมหาดไทย และ BOI ร่วมกันจัดทีมสุ่มตรวจประเมินโรงงานในพื้นที่ (onsite) ให้ได้ร้อยละ 10-20 ของสถานประกอบการเป้าหมาย อาทิ สถานประกอบการขนาดใหญ่ที่มีความสำคัญในพื้นที่ สถานประกอบการที่มีการระบาดของโรคโควิด-19 สถานประกอบการที่ได้คะแนนการประเมินตนเองในแฟลตฟอร์ม Thai Stop COVID Plus ต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐาน

โดยให้สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดกำกับและติดตาม ผลการประเมินตนเองของโรงงานในพื้นที่ และรายงานข้อมูลตามแผนการตรวจประเมิน เสนอผลการรายงานมายังกระทรวงอุตสาหกรรมเป็นรายสัปดาห์ โดยกำหนดให้แล้วเสร็จภายใน 30 มิถุนายน 2564

เร่งฉีดวัคซีนสร้างภูมิคุ้มกันหมู่

3.Upgrade-จัดมาตรการลดความเสี่ยง เพิ่มศักยภาพ ด้วยการจัดทำมาตรการฟื้นฟูสถานประกอบการจากโควิด-19 หลังจากโรงงานประเมินตนเองผ่านแฟลตฟอร์ม Thai Stop COVID Plus และการลงพื้นที่ onsite ประเมินโรงงานเป้าหมายจะมีมาตรการเพื่อช่วย upgrade สถานประกอบการให้ผ่านเกณฑ์มาตรฐาน รวมทั้งมีมาตรการเสริมแกร่งเพื่อช่วยให้โรงงานสามารถอยู่รอดและแข่งขันได้ในสถานการณ์ปัจจุบัน โดยจะร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ผลักดันการดำเนินงานต่อไป

4.Vaccine-เร่งรัดฉีดวัคซีนเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ในโรงงาน เร่งผลักดันการเป็นศูนย์ให้บริการฉีดวัคซีนในพื้นที่ นิคม/เขต/สวนอุตสาหกรรม และโรงงานขนาดใหญ่ที่มีคนงานมากกว่า 2,000 คน เพื่อสนับสนุนเป้าหมายของรัฐบาลในการเร่งฉีดวัคซีนให้กับกลุ่มเสี่ยงที่เป็นแรงงานภาคอุตสาหกรรม

รวมถึงประชาชนที่อยู่บริเวณโดยรอบ นักลงทุน และผู้เชี่ยวชาญต่างประเทศ เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ รวมทั้งเพื่อสนับสนุนให้อุตสาหกรรมส่งออก ที่จะมีคำสั่งซื้อจากต่างประเทศเข้ามาในไตรมาส 3 และ 4 โดยเฉพาะตลาดสหรัฐ ยุโรป และจีน ซึ่งขยายตัวมากกว่าร้อยละ 10 จากการฉีดวัคซีนอย่างทั่วถึง

นิคมอุตฯ 27แห่งพร้อมฉีด

ซึ่งขณะนี้มีความพร้อมเป็นศูนย์ฉีดวัคซีนให้กับแรงงานภาคอุตสาหกรรมแล้ว รวมจำนวน 27 แห่ง ผู้ว่าราชการจังหวัดเห็นชอบแล้ว 6 แห่ง (นิคมอุตสาหกรรมสินสาคร นิคมอุตสาหกรรมสมุทรสาคร นิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ (ชลบุรี) นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด สวนอุตสาหกรรมบางกะดี และโรงไฟฟ้าแม่เมาะ) และอยู่ระหว่างขอความเห็นชอบ 21 แห่ง ทั้งนี้ จะขอความอนุเคราะห์จาก ศบค. พิจารณาให้ความสำคัญต่อการจัดสรรวัคซีนให้กับศูนย์ฉีดวัคซีน พร้อมกับเจ้าหน้าที่ที่จะร่วมสุ่มตรวจ onsite ในโรงงานกลุ่มเป้าหมายดังกล่าวข้างต้น

ให้วัคซีนต่างด้าว 2 แสนโดส

นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า กระทรวงแรงงานห่วงแรงงานในสถานประกอบกิจการโรงงานจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 โดยร่วมมือกับกระทรวงอุตสาหกรรม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หารือแนวทางเพื่อกำหนดมาตรการเร่งรัดการฉีดวัคซีนให้กับบุคลากร และแรงงานในสถานประกอบกิจการโรงงาน ซึ่งเป็นการบูรณาการร่วมกันในการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในสถานประกอบกิจการโรงงาน

รวมทั้งสร้างภูมิคุ้มกันหมู่แก่แรงงาน ให้สถานการณ์กลับเข้าสู่ภาวะปกติ เตรียมความพร้อมของศูนย์กระจายฉีดวัคซีนในสถานประกอบกิจการโรงงานทั้งในและนอกนิคมอุตสาหกรรม และการฉีดวัคซีนให้กับผู้ประกันตนตามมาตรา 33 ตลอดจนแผนการตรวจเยี่ยมศูนย์กระจายฉีดวัคซีนในนิคมอุตสาหกรรม สวนอุตสาหกรรมบางกะดี จังหวัดปทุมธานี นิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ จังหวัดชลบุรี และนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด จังหวัดระยอง

นอกจากนี้จะจัดสรรวัคซีนรวม 200,000 โดส ฉีดให้แรงงานต่างด้าว 3 สัญชาติ คือ เมียนมา, สปป.ลาว และกัมพูชา เป็นวัคซีนที่ได้รับการจัดสรรจากรัฐบาลรวม 1 ล้านโดส ได้ทยอยฉีดไปแล้วเมื่อ 7 มิ.ย.ที่ผ่านมา

หลักการพิจารณาว่าแรงงานต่างด้าวที่ควรได้รับวัคซีน นอกจากใช้เกณฑ์เรียงตามคิวการลงทะเบียนในระบบออนไลน์ของ ก.แรงงาน และเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 33 แล้ว ต้องเข้าเกณฑ์ดังนี้ 1) เป็นแรงงานอยู่ในพื้นที่สีแดง โดยเฉพาะ กทม.และปริมณทล ซึ่งคาดว่าจะมีแรงงานต่างด้าว 100,000 คน 2) ประเภทธุรกิจ อย่างภาคส่งออก เพื่อลดผลกระทบทางเศรษฐกิจ

สำหรับชาวต่างชาติที่เป็นเจ้าของกิจการ และต่างชาติที่เข้ามาทำงานในไทย ขณะนี้อยู่ระหว่างให้สำนักงานแรงงานจังหวัดสำรวจ เบื้องต้นพบว่ามี 10,000 คน จะพิจารณาจัดสรรให้ช่วงที่วัคซีนลอตใหม่เข้ามา

ส.อ.ท.-หอการค้าฯหนุน

นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า แนวทางการขับเคลื่อนมาตรการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดโรคโควิด-19 ที่ได้มีการหารือกันนั้นถือว่าเป็นสิ่งที่ดี ที่จะช่วยเสริมภูมิคุ้มกันของประเทศให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้น เนื่องจากคนที่เกี่ยวข้องในภาคอุตสาหกรรมนั้นมีเป็นจำนวนมาก

ซึ่งหอการค้าฯพร้อมสนับสนุนภาครัฐอย่างเต็มที่ ในมาตรการป้องกัน การเฝ้าระวัง รวมถึงการควบคุมการระบาด และยินดีเป็นจุดเชื่อมโยง ประสานความร่วมมือไปยังเครือข่ายต่าง ๆ ทั้งหอการค้าจังหวัด และสมาคมการค้า ให้เข้ามามีส่วนร่วมขับเคลื่อนตามแนวทางที่ได้มีการหารือกันไว้

นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธาน ส.อ.ท. กล่าวว่า ความร่วมมือครั้งนี้ถือเป็นมาตรการที่ดีมากที่จะทำให้ทุกฝ่ายมีความเชื่อมั่นในความปลอดภัยจากไวรัสโควิด-19 ซึ่งก่อนหน้านี้การประเมินตนเองอาจไม่ครอบคลุมทุกโรงงาน แต่หลังจากนี้ กระทรวงอุตฯจะเข้าไปดูก็จะทำให้ครอบคลุมมากขึ้น อย่างไรก็ตาม สิ่งสำคัญรัฐจะต้องเร่งกระจายวัคซีนให้เป็นไปตามแผน ซึ่งจะฟื้นฟู ศก.โดยเร็ว