ปั๊มยอดส่งออกครึ่งปีหลังสู่เป้า 4%

เรือขนส่ง

แม้ว่าแนวโน้มสถานการณ์การระบาดโควิด-19 ยังคงอยู่ แต่จากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิของประเทศต่าง ๆ รวมถึงการเร่งรัดฉีดวัคซีนจึงทำให้เห็นสัญญาณบวกของตัวเลขส่งออกของไทย ในเดือนพฤษภาคม 2564 มีมูลค่า 23,057.91 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็น 714,885.27 ล้านบาท ขยายตัว 41.59% ถือเป็นการขยายตัวที่สูงที่สุดในรอบ 11 ปี

และแม้ว่าจะหักตัวเลขส่งออกน้ำมัน ทองคำ ยุทธปัจจัยออก ก็ยังคงบวกถึง 45.87% ส่วนการนำเข้า มีมูลค่า 22,261.96 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 63.54% ทำให้ไทยเกินดุลการค้า 795.95 ล้านเหรียญสหรัฐ

เมื่อดูการส่งออกรวม 5 เดือน (ม.ค.-พ.ค.) 2564 มีมูลค่า 108,635.22 ล้านเหรียญสหัฐ ขยายตัว 10.78% และนำเข้า มีมูลค่า 107,141.12 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 21.52% เกินดุลการค้า 1,494.10 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งเท่ากับว่าตัวเลขส่งออกยังอยู่ในแดนบวก หากสามารถยืนหยัดต่อไปได้ ก็มีโอกาสสูงที่ไทยสามารถผลักดันการส่งออกให้เป็นไปตามเป้าหมายการทำงานที่กระทรวงพาณิชย์ตั้งเป้าไว้ว่าจะผลักดันให้เติบโตถึง 4%

สินค้า-ตลาดเป้าหมาย

เป้าหมายจากนี้ไปจนถึงสิ้นปียังมองว่าสินค้าที่มีแนวโน้มขยายตัวในทิศทางที่ดีขึ้น จะมีทั้งกลุ่มสินค้าเกษตรและอาหาร สินค้าที่เกี่ยวกับการทำงานที่บ้าน สินค้าที่เกี่ยวกับการป้องกันการติดเชื้อและลดการแพร่ระบาด และสินค้าอุตสาหกรรม

ส่วนตลาดเป้าหมายที่มีแนวโน้มส่งออกได้ดีขึ้น คือ ตลาดสหรัฐ และจีน ส่วนตลาดที่เริ่มเห็นสัญญาณการฟื้นตัว อาทิ ญี่ปุ่น สหภาพยุโรป เกาหลีใต้ แคนาดา ไต้หวัน มาเลเซีย และเวียดนาม

ปรับกลยุทธ์พลิกวิกฤต

ซึ่ง “นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์” รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้วางนโยบายเตรียมแผนผลักดันการส่งออกในช่วงครึ่งปีหลังไว้ โดยมุ่งเน้นแก้ไขปัญหาหลักที่เป็นอุปสรรคต่อการส่งออก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “ปัญหาการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์”

ซึ่งทางกระทรวงพาณิชย์ไม่เพียงประสานให้ปรับลดภาระค่าบริการหน้าท่าเรือลง 1,000 บาทต่อตู้ แต่ยังได้ “ปลดล็อก” ให้เรือขนาดใหญ่กว่า 400 เมตร สามารถเข้ามาเทียบท่าเรือแหลมฉบัง เพื่อขนส่งตู้คอนเทนเนอร์ แทนที่จะต้องถ่ายลงเรือที่สิงคโปร์ ซึ่งจะช่วยให้การหมุนเวียนตู้มาเร็วขึ้นและลดค่าใช้จ่าย ซึ่งในช่วงเดือนมิถุนายน นำเข้ามาได้อีก 2 ลำ เพิ่มจากเดือนพฤษภาคมที่นำเข้ามา 2 ลำ

สิ่งสำคัญในการผลักดันการส่งออกคือการ “พลิกวิกฤตเป็นโอกาส” โดยการปรับแผนการทำงานทูตพาณิชย์ 58 แห่งทั่วโลก สู่บทบาทเซลส์แมนประเทศ สร้างความต้องการสินค้าไทยในตลาดโลก (demand creation)

ไฮไลต์อีกเรื่องที่ “นายจุรินทร์” ให้ความสำคัญมาก คือ การสร้างความร่วมมือกับภาคเอกชนในรูปแบบ “คณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชน” หรือ กรอ.พาณิชย์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งกระทรวงเศรษฐกิจ ธนาคารแห่งประเทศไทย SME BANK เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูล รับฟังและวางแนวทางแก้ปัญหาลดอุปสรรคโดยเร็ว

โมเดลใหม่ Mirror-Mirror

พร้อมทั้ง โฟกัสการส่งออกในสินค้าหลักที่ไทยมีศักยภาพ เช่น สินค้าเกษตร โดยร่วมกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ยึดนโยบายการตลาดนำการผลิต ส่งเสริมการผลิตสินค้าให้ได้ตามความต้องการของตลาด เสริมด้วยนวัตกรรม และใช้กลไกการตลาดทุกรูปแบบ ทั้งออฟไลน์ ออนไลน์ และไฮบริด ปรับโมเดล Mirror-Mirror

โดยให้ผู้ประกอบการส่งสินค้าตัวอย่างไปจัดแสดงหรือมอบหมายให้ตัวแทนไปแทนการเดินทางไปร่วมงานเอง พร้อมการเจรจาการค้าผ่านระบบออนไลน์ ซึ่งจะทำให้ลูกค้าได้รับสัมผัสสินค้าตัวอย่าง และยังทำให้ผู้ส่งออกและคู่ค้าได้เจรจากันไปด้วย

ยกตัวอย่าง แผนงานการตลาดนำการผลิตสินค้าข้าว ซึ่งกระทรวงพาณิชย์วางเป้าหมายผลักดันการส่งออกให้ได้ 6 ล้านตันจากปีก่อน ที่ทำได้ 5.7 ล้านตัว โดยมุ่งไปที่ 3 ตลาด คือ ตลาดพรีเมี่ยม สำหรับข้าวหอมมะลิ ตลาดข้าวทั่วไป เน้นข้าวขาวและข้าวนึ่ง และตลาดเฉพาะ เน้นข้าวเหนียว ข้าวกล้อง ข้าวสี

ซึ่งมีการดำเนินการผ่าน 6 มาตรการ คือ การประชาสัมพันธ์ เร่งรัดการเจรจาขายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ (G to G) ใน 4 ตลาด คือ อินโดนีเซีย บังกลาเทศ อิรัก และจีน โดยล่าสุดได้เจรจา G to G ขายข้าวจีนไปแล้ว 20,000 ตัน ก่อนที่ผลผลิตข้าวนาปีจะออกสู่ตลาด เร่งรัดการขยายตลาดผ่านเซลส์แมนประเทศ ทุกช่องทาง

นอกจากการทำตลาดแล้ว ยังมุ่งเจรจาความตกลง จัดทำเขตการค้าเสรี ลดภาษีนำเข้าข้าว คู่ขนานกับการร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ ลดต้นทุนการส่งออก และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน

นอกจากแผนงานเรื่องข้าวแล้ว กระทรวงพาณิชย์ยังดำเนินการต่อเนื่องใน 7 แผนงาน ประกอบด้วย แผนงานอาหารไทยอาหารโลก แผนการกระตุ้นทุกภาคส่วนให้ใช้ระบบการค้าออนไลน์ แผนการพัฒนาศักยภาพด้านการตลาดให้ภาคบริการ แผนงานการพัฒนาศักยภาพทางการตลาดให้กับภาคการผลิตฐานรากทั้ง SMEs

และ micro SMEs แผนงานเร่งรัดการส่งออกในยุค new normal แผนงานการค้าชายแดนฝ่าวิกฤตโควิด และแผนงานเร่งรัดการเจรจาการค้ารูปแบบ mini FTA พร้อมทั้งจัดทำกิจกรรมใหม่ในยุคนิวนอร์มอล อาทิ การเร่งรัดพัฒนาองค์ความรู้ให้ผู้ประกอบการ

ปูพรมเจรจาการค้าออนไลน์

การพัฒนาช่องทางการตลาดผ่านการเจรจาการค้าผ่านช่องทางออนไลน์ หรือ online business matching (OBM) ซึ่งมีแผนจัดในปี 2564 รวม 120 กิจกรรม การเร่งพัฒนานวัตกรรมและสร้างแบรนด์สินค้าให้มีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้น

รวมถึงการให้บริการผู้ส่งออก โดยการจัดทำแอปพลิเคชั่นครบวงจร เช่น DITP one/chatbot เป็นต้น