ลุ้นแก้กฎหมายวัตถุอันตรายอีกรอบ เสียงแตกปมดึงต่างชาตินั่งกรรมการ

วัตถุอันตราย

ลุ้นผ่านร่างแก้ไข พ.ร.บ.วัตถุอันตรายอีกรอบ 7 ก.ค. หลังสภาล่มไม่ครบองค์ประชุม ปมเปิดช่องต่างชาติเข้าร่วมเป็นกรรมการ มีส่วนกระบวนการพิจารณา หวั่นลามกระทบมติยกเลิกการแบน 2 สารเคมีอันตราย พาราควอต คลอร์ไพริฟอส วงในคาดโควิดลากยาวไม่จบปี’64

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานว่า จากที่การประชุมสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2564 เพื่อพิจารณาเกี่ยวกับการแก้ไขร่าง พ.ร.บ.วัตถุอันตราย (ฉบับที่…) พ.ศ. …ที่รัฐสภาประสบเหตุองค์ประชุมไม่ครบจนไม่สามารถลงมติได้ อีกทั้งคณะกรรมาธิการ (กมธ.) มีความเห็นขัดแย้งในหลายประเด็น ยังหาข้อยุติไม่ได้ว่าจะถอนหรือลงมติต่อไปให้เสร็จสิ้น ซึ่งสมาชิกส่วนหนึ่งมีความเห็นว่าควรนำร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวกลับไปทบทวนใหม่อีกครั้ง ทั้งนี้สภาฯจะพิจารณาเรื่องดังกล่าวอีกครั้ง วันที่ 7 กรกฎาคม 2564

แหล่งข่าวจากกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ใจความสำคัญของการแก้ไขร่าง พ.ร.บ.วัตถุอันตราย (ฉบับที่…) พ.ศ. …ใหม่ดังกล่าวยังมีความเห็นต่างถกเถียงกันอยู่ในขณะนี้ ส่วนหนึ่งในมาตรา 56/2 คือ การให้ “ผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศ” เข้ามาเป็นกรรมการหรือเข้าร่วมอยู่ในการพิจารณาหรือไม่ โดยฝ่ายหนึ่งเห็นว่าควรมีเพื่อความเห็นในเชิงวิชาการสำหรับสารเคมีทุกชนิดที่ยังไม่เคยมีในประเทศไทยมาก่อน

แต่อีกหลายฝ่ายเห็นว่าไม่จำเป็นต้องดึงบุคคลภายนอกจากต่างประเทศเข้ามา เพราะมีผลต่อกระบวนการพิจารณา กล่าวคือ จะเป็นการเปิดช่องให้ต่างชาตินำข้อมูลการวิจัย หลักทางวิชาการต่าง ๆ มาใช้เป็นข้อมูล มีผลต่อการพิจารณา รวมถึงอาจจะชี้ช่องให้ดึงเรื่องที่ประเทศไทยแบน 3 สารเคมีอันตราย กลับมาพิจารณาใหม่

ทั้งนี้ ปัจจุบันพาราควอตและคลอร์ไพริฟอส ได้ถูกสั่งแบนไปแล้ว โดยนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ยึดมติที่ประชุมเมื่อวันที่ 30 เม.ย. 2563 ที่ออกประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่องบัญชีรายชื่อวัตถุอันตราย พ.ศ. 2563 ที่กำหนดให้พาราควอตและคลอร์ไพริฟอสเป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 ห้ามการผลิตนำเข้า ส่งออก หรือมีไว้ในครอบครองมีผลตั้งแต่วันที่ 1 มิ.ย. 2563

ส่วนไกลโฟเซตให้จำกัดการใช้ตามมติเมื่อวันที่ 23 พ.ค. 2561 เพราะที่ผ่านมาการพิจารณามีเหตุผลรองรับถึงอันตรายต่อสุขภาพอยู่แล้ว ประกอบกับหลายประเทศห้าม (แบน) ใช้สารดังกล่าวเช่นกัน

“เราไม่ได้จะให้ผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศเข้ามานั่งในบอร์ดวัตถุอันตรายและเขาจะไม่มีอำนาจอะไรในการพิจารณาอนุมัติ อนุญาตใด ๆ ทั้งสิ้น แต่ที่เราต้องเพิ่มเข้าไป เพราะบางครั้งมันจะมีสารเคมีตัวใหม่เข้ามา ซึ่งไทยยังไม่มี และยังไม่เคยใช้ แต่มีบางประเทศเขาใช้กันแล้ว เราก็จะให้ผู้เชี่ยวชาญจากประเทศเหล่านี้มาให้ความเห็นในเชิงวิชาการ มีหลักวิชาการอย่างไร ว่าใช้ในประเทศเขาแล้วมีผลดีผลเสียอย่างไร มีการควบคุมอย่างไร กระทบสิ่งแวดล้อมอย่างไร”

“จากนั้นก็จะต้องส่งเรื่องเข้าที่ประชุมคณะอนุกรรมการต่าง ๆ หารือก่อนว่าคัดค้านผลวิชาการหรือไม่ อย่างไร จึงค่อยเสนอบอร์ด ซึ่งตามหลักวิชาการนั้นทางสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กระทรวงสาธารณสุข คือ หน่วยงานหลักที่จะพิจารณาก่อน แล้วเสนอเข้ามาที่บอร์ดที่เป็นคนไทยที่มีอำนาจพิจารณา อนุมัติ อนุญาต โดยเอาข้อมูลเชิงวิชาการเหล่านี้มาประกอบ”

อย่างไรก็ตาม คาดว่าจากผลกระทบโควิด จึงทำให้ไม่สามารถยืนยันได้ว่าการแก้ไขร่างฯดังกล่าวจะแล้วเสร็จทันปี 2564 หรือไม่ เพราะตามมาตรการควบคุมการแพร่ระบาด ต้องจำกัดจำนวนผู้เข้าร่วม ทำให้การนัดประชุมแต่ละครั้งยากขึ้น

ด้านนายสุกรรณ์ สังข์วรรณะ เลขาธิการสมาพันธ์เกษตรปลอดภัย กล่าวว่า ขณะนี้ตนและทางสมาพันธ์ยังคงติดตามอย่างใกล้ชิดเกี่ยวกับการโหวตรับร่าง พ.ร.บ.วัตถุอันตรายฉบับแก้ไขใหม่นี้ และยังไม่เห็นรายละเอียดความคืบหน้าใด ๆ ซึ่งตนและชาวเกษตรกร ยังคงยืนยันว่านับตั้งแต่การแบน 2 สารเคมีดังกล่าว ก็ได้รับผลกระทบอยู่จากราคาต้นทุนสารเคมีที่นำมาใช้แทน

ทั้งนี้ สำหรับการแก้ไข พ.ร.บ.วัตถุอันตราย ได้มีการประชุมคณะกรรมาธิการวิสามัญร่างพระราชบัญญัติวัตถุอันตราย (ฉบับที่…) พ.ศ. …ครั้งแรกไปเมื่อวันที่ 29 ม.ค. 2564 โดยมีนายสรวุฒิ เนื่องจำนงค์ ส.ส.ชลบุรี และรองเลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ เป็นประธานกรรมาธิการสำหรับหลักการและเหตุผลที่ต้องตราพระราชบัญญัติดังกล่าวนี้

เนื่องจากการพิจารณาวัตถุอันตรายมีความซับซ้อน ทำให้มีความจำเป็นต้องใช้ผู้เชี่ยวชาญองค์กร ผู้เชี่ยวชาญหน่วยงานของรัฐหรือองค์กรเอกชนทั้งในประเทศและต่างประเทศ ที่มีความรู้ความสามารถในเชิงลึกเพื่อดำเนินการดังกล่าว กรณีนี้จึงสมควรแก้ไขเพิ่มเติมไว้ในกระบวนการพิจารณาวัตถุอันตราย

โดยให้มีผู้เชี่ยวชาญดังกล่าวเพื่อให้การพิจารณาวัตถุอันตรายมีความรวดเร็ว และมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ทั้งนี้ในหลักการการแก้ไขเพิ่มเติมร่าง พ.ร.บ.วัตถุอันตราย จะกำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการพิจารณาวัตถุอันตราย และกำหนดอำนาจของรัฐมนตรีผู้รับผิดชอบในการกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการได้มา และการขึ้นบัญชีผู้เชี่ยวชาญองค์กร ผู้เชี่ยวชาญหน่วยงานรัฐ หรือองค์กรเอกชนทั้งในและต่างประเทศ

อัตราค่าบัตรขั้นบัญชีสูงสุดและค่าขั้นบัญชีที่จะจัดเก็บ กำหนดอัตราค่าใช้จ่ายสูงสุด ประเภทค่าใช้จ่ายที่จะจัดเก็บจากผู้ยื่นคำขอ และกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในกระบวนการพิจารณาวัตถุอันตราย รวมทั้งหลักเกณฑ์ในการรับเงิน การจ่ายเงิน และการเก็บรักษาเงินดังกล่าว