ส่งออกทุเรียนทะลุ 5 หมื่นล้าน ปั้นพันธุ์ท้องถิ่นขายพรีเมี่ยม

5 เดือนส่งออกทุเรียนพุ่ง 58,000 ล้านบาท จีนตลาดเบอร์ 1 “ลาว” ตลาดน้องใหม่มาแรงนำเข้าทุเรียนสดพุ่ง 1,200% ทูตพาณิชย์ไทยในเวียงจันทน์คาดส่งผ่านไปจีน ผู้ส่งออกทุเรียนชี้ปีนี้ราคาพรีเมี่ยมทะลุ กก.ละ 250 บาท ทำตลาดออนไลน์ล่วงหน้า ท้องถิ่นระดมสร้างชื่อทุเรียนตัวเอง หมอนทองหนองคาย ภูเขาไฟศรีสะเกษ ทุเรียนน้ำแร่โนนสุวรรณ

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานภาพรวมตลาดทุเรียนในช่วงกลางฤดูการผลิตปี 2564 ปรากฏยังขยายตัวต่อเนื่อง โดยกระทรวงพาณิชย์ระบุว่า ในช่วง 5 เดือนแรก (ม.ค.-พ.ค.) 2564 ประเทศไทยส่งออกทุเรียนสดและแช่เย็นแช่แข็งรวม 58,343 ล้านบาท หรือขยายตัวเพิ่มขึ้น 39% โดยมีจีนเป็นตลาดนำเข้าอันดับ 1 มูลค่า 51,098 ล้านบาท ขยายตัว 66.1%

แต่เป็นที่น่าสังเกตว่า ตลาดในกลุ่มอาเซียนนำเข้าทุเรียนจากไทยมากขึ้น โดยเฉพาะมาเลเซีย ซึ่งก็เป็นหนึ่งในผู้ผลิตทุเรียนมูซันคิง แต่นำเข้าจากไทยเพิ่มขึ้นถึง 319% และลาวเพิ่มขึ้น 1,233% แม้ว่าจะยังมีฐานการส่งออกไม่มาก แต่ส่งผลให้ราคาทุเรียนหน้าสวนของไทย กก.ละ 150-250 บาท

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าทุเรียนพันธุ์หมอนทองยังคงได้รับความนิยมจากผู้บริโภคมาเป็นอันดับหนึ่ง แต่ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา เกษตรกรไทยเริ่มหันมาทำตลาดทุเรียนสายพันธุ์ท้องถิ่นมากขึ้น โดยเน้นชูเอกลักษณ์ท้องถิ่นเป็นจุดขาย เช่น ทุเรียนหลง-หลิน ลับแล จ.อุตรดิตถ์ ราคา กก.ละ 200 บาท ที่มีลักษณะเด่น ผลกลม ร่องพูไม่ชัดเจน เมล็ดลีบ เนื้อในสีเหลืองจัด รสชาติหอมมัน หรือทุเรียนพันธุ์นกหยิบ จ.นนทบุรี และพันธุ์สาลิกา จ.พังงา เป็นต้น

ล่าสุดมีการทำการตลาดทุเรียนหมอนทอง จ.หนองคาย โดยชูจุดเด่นปลูกบนดินทราย ทำให้กลิ่นไม่ฉุนและด้วยความที่รสชาติดี เนื้อแน่น ทานแล้วไม่ร้อนใน จึงทำให้ระดับราคาพุ่งขึ้นไปแตะ กก.ละ 150 บาท แข่งขันกับเจ้าตลาดทุเรียนภาคอีสานอย่างทุเรียนภูเขาไฟ จ.ศรีสะเกษ ซึ่งในปีนี้มีราคา กก.ละ 140-250 บาท ทุเรียนป่าละอู กก.ละ 250-300 บาท และยังมีทุเรียนน้ำแร่โนนสุวรรณ ซึ่งเป็นพันธุ์หมอนทองที่ปลูกในแหล่งที่เป็นแอ่งน้ำแร่ธรรมชาติ ก็มีผลผลิตออกสู่ตลาดด้วย จำหน่ายในราคา กก.ละ 180-200 บาท

Miss.Jiaoling pan (นางสาวเจียวหลิง พาน) กรรมการผู้จัดการ บริษัท รอยัล ฟาร์ม กรุ๊ป จำกัด (Thailand) บริษัทผู้ส่งออกทุเรียนไทยไปจีน และรองนายกสมาคมการค้าผลไม้ยุคใหม่ ฝ่ายต่างประเทศ และกรรมการสมาคมผู้ประกอบการทุเรียน มังคุด กล่าวว่า ราคารับซื้อทุเรียนหน้าสวนปีนี้ปรับราคาสูงขึ้น โดยเฉพาะทุเรียนพรีเมี่ยมราคา กก.ละ 210 บาท

จากปัจจัยหลักตลาดจีนตลาดส่งออกหลัก มีเศรษฐกิจฟื้นตัวหลังจากผ่านวิกฤตโควิด ประกอบกับผู้บริโภคชาวจีนที่เคยเดินทางมาเที่ยวประเทศไทยรู้จักชื่อเสียงทุเรียนไทยมากขึ้น เมื่อขึ้นชื่อว่าเป็นทุเรียนไทยสั่งซื้อเรียกว่าแทบจะไม่พอกับความต้องการ โดยเฉพาะผู้บริโภครุ่นใหม่จะนิยมทุเรียนเกรดพรีเมี่ยมด้วยวิธีการรับพรีออร์เดอร์ซื้อผ่านช่องทางออนไลน์เพิ่มขึ้น และขนส่งทางเครื่องบินแทน ซึ่งสะดวกรวดเร็วกว่าเดิมที่ขนส่งทางรถยนต์หรือทางเรือทำให้สินค้าไปกระจุกตัวที่ด่านโหย่วอี้กวนใช้เวลาหลายวัน ส่งผลกระทบต่อผลทุเรียนกว่าจะถึงมือลูกค้า

“หมอนทองยังได้รับความนิยมมากที่สุด แต่ระยะหลังพฤติกรรมผู้บริโภคเปิดใจเปลี่ยนไปนิยมทุเรียนไซซ์เล็กขนาด 2-4 กก. และเริ่มชอบหลากหลายพันธุ์ ไม่ใช่แค่หมอนทอง แต่ยังมีพันธุ์อื่น ๆ เช่น ชะนี ก้านยาว พันธุ์ลูกผสมจันทบุรี 10 นวลทองจันทร์ กระดุม พวงมณี ลูกค้าตอบรับดีมาก เพราะขนาดลูกไม่ใหญ่ คุณภาพสม่ำเสมอ เนื้อสีสวย เหลือง รสชาติดี ต่างจากที่เคยนิยมหมอนทองไซซ์ใหญ่ ขนาด 5-6 กก. เคยเจอตัดอ่อนขายยาก แต่ปีนี้ไม่มีปัญหานี้”

ด้านนายกวิน วิริยพานิชย์ ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครเวียงจันทน์ สปป.ลาว กล่าวว่า ภาพรวมลาวมีการนำเข้าทุเรียนมากขึ้น โดยส่วนใหญ่นำเข้าผ่านบริเวณชายแดนเป็นหลัก มี 4 ด่านสำคัญ คือ นครพนม เชียงราย มุกดาหาร และบึงกาฬ เพื่อนำเข้าไปจำหน่ายใน สปป.ลาว และมีการส่งออกผ่านแดนไปตลาดจีน โดยใช้เส้นทาง สปป.ลาว เวียดนาม-จีน

“แม้ว่าจะมีปัญหาโควิด แต่ปัจจุบันการขนส่งยังปกติ แต่จะติดปัญหาเรื่องของรถสะสมหน้าด่านตรงด่านชายแดนเวียดนาม-จีนอยู่บ้าง เนื่องจากจีนเข้มงวดเรื่องการตรวจสอบสินค้าเพื่อป้องกันปัญหาเชื้อโควิด-19”