ปตท.สผ. งัดแผน 2 กู้เอราวัณ ดึงอาทิตย์-บงกช ช่วยเติมก๊าซ

ปตท.สผ.-1

ปตท.สผ.กางแผนสำรองดึงก๊าซแหล่งบงกช-อาทิตย์ ทดแทน 300 ล้าน ลบ.ฟุต/วัน แก้เกมเชฟรอนไม่ให้เข้าพื้นที่แหล่งเอราวัณ มั่นใจผลิตได้ตามเงื่อนไขสัญญาแบ่งปันผลผลิต PSC 800 ล้าน ลบ.ฟุต/วัน

นางสาวเมธ์ลดา ชยวัฒนางกูร ผู้จัดการอาวุโส ในฐานะผู้จัดการโครงการ G1 แหล่งเอราวัณ (Project Manager) บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. (PTTEP) เปิดเผยว่า

ตามแผนงาน ปตท.สผ.จะต้องเข้าไปดำเนินการผลิตก๊าซในโครงการ G1/61 (เอราวัณ) ตามสัญญาแบ่งปันผลผลิต (PSC) ต่อเนื่องจากบริษัท เชฟรอน ประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด

ผู้ดำเนินการรายเดิมที่จะหมดสัญญาในช่วงเดือน เม.ย. 2565 ทันที และต้องมีกำลังการผลิตที่ 800 ล้าน ลบ.ฟุต/ต่อวัน แต่ผ่านมากว่า 1 ปี บริษัทยังไม่สามารถเข้าพื้นที่เพื่อติดตั้งแท่นหลุมผลิตและเจาะหลุมผลิต

โดยปัจจุบันยังอยู่ระหว่างการเตรียมลงนามสัญญาเข้าพื้นที่ระยะที่ 2 ซึ่งยังไม่มีข้อสรุปที่ชัดเจนจากรายเดิม ส่งผลกระทบต่อการดำเนินงานทั้งหมด

“ที่ผ่านมาบริษัทได้วางแผนดำเนินการตามกำหนดการมาตลอด ทั้งผลิตแท่นหลุมผลิต 8 แท่นเพื่อนำไปติดตั้งในพื้นที่แหล่งเอราวัณ เพื่อผลิตก๊าซต่อเนื่องแล้ว แต่เมื่อยังไม่สามารถเข้าพื้นที่ได้จึงต้องเก็บแท่นดังกล่าวไว้ก่อน

หากมีการเซ็นสัญญาเข้าพื้นที่ระยะที่ 2 ภายใน 1-2 เดือนนี้ ก็จะต้องใช้เวลาดำเนินการอีก 6-9 เดือน ทั้งประสานงานกับเรือติดตั้ง และติดตั้งแท่นขุดเจาะ รวมถึงการแปรสภาพแท่นขุดเจาะเดิมให้สามารถใช้งานได้ต่อเนื่อง

ประกอบกับอุปสรรคการทำงานหากต้องดำเนินการในช่วงมรสุม จะทำให้ระยะการทำงานเหลือน้อยลงไปประมาณ 3-4 เดือนก่อนที่จะถึงระยะกำหนดตามสัญญาพีเอสซี

“ต้องยอมรับว่าขณะนี้ยังไม่สามารถดำเนินการได้ เกิดความล่าช้า และเบื้องต้นคาดว่าจะไม่สามารถคงสัดส่วนการผลิตแหล่งเอราวัณที่ 800 ล้าน ลบ.ฟุต/วันได้ทันเวลา เดิม

จากการวางแผนจะมีการดำเนินการผลิตได้ช่วงแรกเต็มที่อยู่ที่ 500 ล้าน ลบ.ฟุต/วัน และจะหายไป 300 ล้าน ลบ.ฟุต/วัน” นางสาวเมธ์ลดากล่าว

ล่าสุดบริษัทเร่งจัดหาก๊าซจากแหล่งบงกชและแหล่งอาทิตย์ ซึ่งเป็นแหล่งที่บริษัทเป็นผู้ดำเนินการมาเพิ่ม เพื่อให้ได้ปริมาณก๊าซครบตามสัญญาที่ 800 ล้าน ลบ.ฟุต/วัน

ในส่วนของการประเมินพื้นที่แหล่งเอราวัณนั้น มั่นใจว่าจะสามารดำเนินการผลิตด้วยกำลังการผลิต 800 ล้าน ลบ.ฟุต/วันได้ต่อเนื่องไม่ต่ำกว่า 10 ปีแน่นอนแต่จะได้มากกว่าหรือนานกว่านี้หรือไม่นั้นทั้งหมดขึ้นอยู่กับช่วงเวลาที่สามารถเข้าไปดำเนินการได้

โดยคาดว่าในปี 2565-2566 คาดว่าจะประเมินศักยภาพที่แท้จริงของพื้นที่ได้ชัดเจนมากขึ้น

รายงานข่าวระบุว่า ก่อนหน้านี้กลุ่มปตท.สผ.ซึ่งเป็นผู้ชนะการประมูล พยายามเข้าพื้นที่มาโดยตลอด โดยมีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ เป็นหน่วยงานกลางในการเจรจาร่วมระหว่าง 3 ฝ่าย