คิกออฟโรงไฟฟ้าขยะอุดรธานี ใหญ่สุดในอาเซียน ขายไฟ กฟภ. ปี’65

“เมโทรเอ็นเนอร์ยี่-จีเอฟอี เอเนอร์ยี่ฯ” เดินหน้าโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าจากขยะชุมชน ชูเทคโนโลยีไพโรไลซิสกำจัดขยะในพื้นที่อุดรธานี 109,500 ตัน กำลังการผลิต 9.6 เมกะวัตต์ คาดจะขายไฟฟ้าให้ “กฟภ.” ได้ภายในปี 2565

นายวีระ บูรพชัยศรี กรรมการ บริษัท เมโทรเอ็นเนอร์ยี่ จำกัด เจ้าของโรงไฟฟ้าขยะอุดรธานีไพโรไลซิสออยล์ (UWTE Power Plant) กล่าวว่า บริษัทเริ่มแผนการก่อสร้างโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าขยะชุมชน กำลังการผลิต 9.6 เมกะวัตต์ (MW) ในพื้นที่เทศบาลจังหวัดอุดรธานี

โดยลงทุนร่วมกับบริษัท จีเอฟอี เอเนอร์ยี่ บาลานซ์ จำกัด มูลค่า 710 ล้านบาท ถือเป็นโรงไฟฟ้าขยะพลังงานสะอาดแห่งแรกที่ใหญ่ที่สุดในอาเซียน ด้วยเทคโนโลยีไพโรไลซิส และกำหนดจะเริ่มขายไฟฟ้าเข้าระบบ 8 เมกะวัตต์ ตามสัญญาภายในสิ้นปี 2565 แก่การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ตามสัญญา 25 ปี ในราคาขายไฟ 5.30 บาทต่อหน่วย

“ถือเป็นโครงการที่ประสบความสำเร็จเป็นรูปธรรม นับจากที่ภาครัฐวางแผนและนโยบายพร้อมให้การสนับสนุนการกระจายอำนาจลงสู่ท้องถิ่นด้านการจัดการขยะชุมชนให้ก่อเกิดประโยชน์ต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกภาคส่วน โดยสามารถนำขยะมูลฝอยในชุมชนเมืองอุดรธานี ไปผลิตกระแสไฟฟ้า 300 ตันต่อวัน หรือ 109,500 ตันต่อปี เพื่อช่วยแก้ปัญหาขยะในเมืองได้ โดยไม่เกิดมลพิษด้านสิ่งแวดล้อม”

สำหรับบริษัท จีเอฟอี เอเนอร์ยี่ บาลานซ์ จำกัด เป็นผู้นำเทคโนโลยีด้านการจัดการของเสียแบบสะอาดครบวงจร หรือโรงไฟฟ้าขยะเทคโนโลยีไพโรไลซิสที่ใช้กับโครงการนี้ ซึ่งการนำขยะมาผลิตไฟฟ้าขนาด 9.6 เมกะวัตต์ ช่วยลดคาร์บอนไดออกไซด์ได้ถึง 300,000 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า/ปี

ด้านนายสุรเดช บัวทรัพย์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท จีเอฟอี เอเนอร์ยี่ บาลานซ์ จำกัด กล่าวว่า เทคโนโลยีไพโรไลซิสเป็นเทคโนโลยีใหม่ที่มีประสิทธิภาพสูงกว่าการผลิตไฟฟ้าจากขยะโดยการใช้เตาเผาในปัจจุบัน และเป็นเทคโนโลยีสะอาดไม่ก่อเกิดมลพิษ น่าจะมีการพัฒนาและต่อยอดไปได้อีกในอนาคต และเป็นอีกทางเลือกของการเปลี่ยนขยะพลาสติกเป็นพลังงานไฟฟ้าที่มีประสิทธิภาพ

ทั้งนี้ เทคโนโลยีไพโรไลซิส (pyrolysis technology) คือกระบวนการทางเคมีความร้อนที่เปลี่ยนรูปพลาสติกเป็นเชื้อเพลิงที่มีค่าทางความร้อนสูงขึ้นในสภาวะที่ไม่มีออกซิเจน โดยจะมีการนำขยะพลาสติกที่ผ่านการคัดแยกสู่ระบบเตาให้ความร้อนแบบควบคุมอากาศ ด้วยเทคโนโลยีไพโรไลซิส (pyrolysis) ที่ใช้อุณหภูมิระหว่าง 300-350 C

เพื่อเปลี่ยนสถานะจากของแข็งเป็นของเหลว หรือน้ำมัน (pyrolysis oil) และก๊าซสังเคราะห์ (synthetic gas) หลังผ่านกระบวนการควบแน่นน้ำมันที่เกิดขึ้นจากกระบวนการนี้จะกลั่นแยกให้คุณสมบัติเหมาะสมกับการใช้เป็นเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้า เพื่อส่งเข้าสู่ระบบสายส่งของการไฟฟ้าฝ่ายภูมิภาค

ปัจจุบันในประเทศไทยมีโครงการกำจัดขยะมูลฝอยเพื่อผลิตไฟฟ้าที่มีความพร้อมสามารถดำเนินโครงการในระยะแรก (quick win projects) 14 โครงการ ใน 9 จังหวัด ปริมาณที่ขายไฟให้รัฐ รวม 77.9 เมกะวัตต์ ประกอบด้วย 2 โครงการ ในพระนครศรีอยุธยา 13 เมกะวัตต์, 1 โครงการ ในสระบุรี 8 เมกะวัตต์, 2 โครงการ ในนนทบุรี 13 เมกะวัตต์, 1 โครงการ ในระยอง 8 เมกะวัตต์, 1 โครงการ ในหนองคาย 6 เมกะวัตต์, 1 โครงการ ในกะบี่ 4.4 เมกะวัตต์, 1 โครงการ ในตาก 5.5 เมกะวัตต์, 1 โครงการ ในอุดรธานี 8 เมกะวัตต์, 4 โครงการ ในกรุงเทพฯ 12 เมกะวัตต์