พลังงานแพงทุบซ้ำโควิด ฟาดหาง “โรงงาน-ประมง”

พลังงาน-เรือประมง

ต้นทุนพลังงานพุ่งทุบอุตสาหกรรม-ประมงอ่วม ส.อ.ท.จี้รัฐต้องวางมาตรการดูแล หวั่นอั้นไม่ไหวกระทบผู้บริโภค-ขนส่ง ด้าน “ส.ประมง” กระอักพิษน้ำมันดีเซลแพงซ้ำเติมโควิด จ่อขายเรือทิ้ง 2 หมื่นลำ

นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการรวมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) เมื่อวันที่ 11 ตุลาคมที่ผ่านมา ได้หารือประเด็นปัญหาราคาน้ำมันที่พุ่งสูงขึ้นต่อเนื่องจนถึงระดับสูงสุดในรอบ 7 ปี กระทบต้นทุนการผลิต การขนส่ง การเดินทางของภาคธุรกิจ และประชาชนในวงกว้าง ประกอบกับ เงินบาทอ่อนค่าลง ทำให้ต้นทุนนำเข้าพลังงานทั้งน้ำมันและก๊าซพุ่งขึ้นในอัตราเร่ง ซึ่งแม้ว่าการอ่อนค่าของเงินบาทจะส่งผลดีต่อธุรกิจส่งออก แต่ธุรกิจและอุตสาหกรรมหลายสาขาได้รับผลกระทบตามมา

อย่างไรก็ตาม แม้ว่า (กบง.) จะมีมติลดเงินส่งเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงในส่วนน้ำมันดีเซล เพื่อให้ราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลไม่เกิน 30 บาทต่อลิตร แต่ก็เป็นการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า และคาดว่าราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกยังอยู่ในช่วงขาขึ้น ซึ่งรัฐต้องวางแผนบริหารจัดการพลังงานให้มีประสิทธิภาพ เพื่อไม่ให้ซ้ำเติมและกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ

“สถานการณ์ราคาพลังงานที่ปรับตัวสูงขึ้น โดยเฉพาะราคาน้ำมันดิบที่สูงขึ้น ส่งผลกระทบต่อต้นทุนการผลิตในทุกอุตสาหกรรม ซึ่งผลจากต้นทุนพลังงานที่ปรับขึ้นนี้ยังจะกระทบไปยังผู้บริโภค ภาคการขนส่ง ดังนั้น ภาครัฐต้องเข้ามาดูแล เพื่อให้ราคาพลังงาน โดยเฉพาะราคาน้ำมันยังคงทรงตัวไม่ให้กระทบในภาคการผลิตหรือภาพรวมอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง รวมไปถึงสาธารณูปโภค เช่น ค่าน้ำ ค่าไฟฟ้า ค่าเดินทาง ยังคงต้องดูแลอย่างใกล้ชิด เพื่อไม่ให้เกิดการขยายตัวสูงขึ้นและกระทบต่อทุกภาคส่วน”

เช่นเดียวกับนายกำจร มงคลตรีลักษณ์ ประธานสมาคมการประมงแห่งประเทศไทย กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ขณะนี้ชาวประมงทั้ง 22 จังหวัด ได้ยืนยันขายเรือทิ้งไปแล้วจากระบบเกินกว่า 50% จากเรือที่มีทั้งระบบประมาณ 20,000 ลำ เพราะทำต่อไม่ไหวแล้ว

ก่อนหน้านี้ไม่ว่าจะเป็นด้วยสถานการณ์การระบาดโควิด ทำให้ต้องการจอดเรือประมง หยุดการซื้อขายสัตว์น้ำ อีกทั้งที่ผ่านมาสมาคมเรียกร้องไปยังหน่วยงานรัฐ ในเรื่องการซื้อคืนเรือประมง และชดเชยเยียวยาชาวประมงก็ไม่มีความชัดเจน มีเพียงเงินกู้ แต่ชาวประมงก็เข้าไม่ถึง อีกทั้งขาดเเคลนแรงงานต่างด้าว

ที่สำคัญล่าสุดมาเจอปัญหาราคาน้ำมันมีราคาปรับสูงขึ้นมาก ยิ่งซ้ำเติมชาวประมงได้รับผลกระทบ 100% เต็ม ๆ เนื่องจากน้ำมันดีเซลเป็นปัจจัยหรือเป็นต้นทุนหลักคงที่ของเรือประมง เรือทุกลำใช้น้ำมันดีเซล

“หลายคนไปต่อไม่ไหว จอดทิ้งเรือ หรือแม้แต่ขายเรือลดราคากว่าเท่าตัวก็ไม่มีคนซื้อ ยิ่งตอนนี้ต้นทุนหลัก ๆ คือน้ำมันเเพงก็ยิ่งกระทบหนัก น้ำมันแพงขึ้น ทรัพยากรประมงก็ยิ่งน้อยลง ที่ผ่านมาเราเรียกร้องไปหลายข้อก็ไม่เคยเหลียวแล แรงงานขาดแคลนอีกจำนวนมาก ถ้าอยู่อย่างนี้คงล้มหายตายจากไปหมด ตอนนี้ที่ออกเรือจริง ๆ น่าจะมีแค่ 8,000 ลำ จาก 2 หมื่นกว่า”