“นิพนธ์ พัวพงศกร” ถอดสลักปัญหาเศรษฐกิจประเทศ

รศ.ดร.นิพนธ์ พัวพงศกร
รศ.ดร.นิพนธ์ พัวพงศกร นักวิชาการเกียรติคุณ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI)
สัมภาษณ์พิเศษ

เศรษฐกิจในไตรมาส 2 จะสามารถพลิกฟื้นกลับมาเป็นบวก 7.5% เทียบกับปีก่อน ซึ่งเป็นปีที่มีการแพร่ระบาดของโควิด-19 อย่างหนัก แต่หากเทียบกับบรรดาเพื่อนบ้านอาเซียนแล้ว เศรษฐกิจไทย “ฟื้นช้า” ตามข้อมูลที่สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติหรือสภาพัฒน์ ระบุว่า ไตรมาส 2 จีดีพีไทยมาเป็นอันดับ 4 รองจากมาเลเซียที่ฟื้นตัวเร็วที่สุดในอาเซียน ขยายตัวถึง 16.1% สิงคโปร์ 14.3% และฟิลิปปินส์ 11.8% ซึ่งแม้ว่าจีดีพีไทยจะโตมากกว่าเวียดนามที่ขยายตัว 6.61% แต่นั่นเพราะฐานเศรษฐกิจเวียดนามในปีที่ผ่านมา “เป็นบวก”

หลายฝ่ายเริ่มแสดงความเป็นห่วง ศักยภาพการแข่งขันของไทยในอนาคต “ประชาชาติธุรกิจ” ได้สัมภาษณ์พิเศษ “รศ.ดร.นิพนธ์ พัวพงศกร” นักวิชาการเกียรติคุณ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ถึงการปลดล็อกเศรษฐกิจไทยปีหน้า ตามที่หลายคนมองว่าไทยมีโอกาสจะฟื้นคืนชีพมาเท่ากับปี 2562 ก่อนระบาดโควิด-19

“ปีนี้มีการคาดการณ์ว่าจีดีพีจะ 0% หรือบวกนิดหน่อย แต่ผมว่าใกล้เคียง 0% หรืออาจจะติดลบ ที่มองว่าโอกาส GDP ปี’65 โต 6-8% นั้น ถ้าปีหน้าขึ้นไปบวกก็ได้ แต่จะเรียกว่ากลับไปเหมือนปี’62 ไม่ได้ เพราะเป็นการปรับขึ้นจากฐานที่ต่ำมากหรือติดลบ”

ฟื้นเครื่องยนต์ “การลงทุน”

ผมมองว่าเรื่องการลงทุน เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่เรายังไม่เห็นชัดเจนว่ารัฐบาลทำอะไร เพราะตอนนี้รัฐบาลมองแต่เรื่องระยะสั้น แก้ปัญหาระยะสั้นมากเกินไป ภาพเรื่องนี้ควรวางให้ชัดเจน ทั้งการกระตุ้นการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศว่าจะเป็นอย่างไร การเปิดประเทศ 1 พฤศจิกายน ทำให้เกิดความมั่นใจต่อภาคธุรกิจว่าธุรกิจไปได้

“การสร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุน กับการสร้างความมั่นใจให้นักท่องเที่ยวไม่เหมือนกัน ในส่วนของนักท่องเที่ยวมองความปลอดภัยเป็นหลัก ส่วนนักลงทุนความปลอดภัยเป็นอีกเรื่องหนึ่ง แต่เรื่องหลักคือระยะยาว เขามองว่าถ้ามาลงทุนจะมีกำไรไหม และการลงทุนที่นี่จะมีติดอุปสรรคอะไรหรือไม่ถ้าเทียบกับการลงทุนในประเทศอื่น”

แก้ 2 เรื่องดึงดูดการลงทุน

ตอนนี้หากเทียบอัตราภาษีแต่ละประเทศใกล้เคียงไม่ต่างกันมาก แต่ที่ต่างกันคือกฎระเบียบ ประเทศไทยมีกฎระเบียบเยอะมาก และเราไม่กล้าปฏิรูปกฎระเบียบเหล่านั้น นี่จึงเป็นอุปสรรค 1 ใน 2 เรื่องของเรา คือ เรื่องนี้ กับเรื่องแรงงานฝีมือ ซึ่งเราไปติดอยู่กับแรงงานไร้ฝีมือทำให้ไม่ไปไหน เราไม่มีแผนชัดเจนว่าจะไปสู่ภาคบริการและอุตสาหกรรมที่จะใช้แรงงานฝีมือ แล้วจะต้องมีการสร้างงานโดยใช้แรงงานฝีมือ

“การที่นักลงทุนจะตัดสินใจมาลงทุน เขาต้องมั่นใจว่าถ้าเขามาลงทุนต้องสามารถหาคนได้ เราก็ยังเถียงกันอยู่แค่เอาแรงงานต่างด้าวราคาถูกเข้ามาหรือไม่ แค่นั้นจบ อันที่ 2 คือ กฎระเบียบ ประเทศไทยมีกฎระเบียบเก่าแก่เยอะมาก เราปฏิรูปไม่เคยสำเร็จ สาเหตุใหญ่ คือ คุณให้คนอื่นนั่งหัวโต๊ะไม่ได้ คนคนเดียวที่ต้องนั่งหัวโต๊ะคือนายกฯ ตอนนี้ถัดจากเรื่องโควิดแล้วนายกฯควรนั่งหัวโต๊ะทำ 2 เรื่องนี้ เป็นเรื่องแรก”

ที่ผ่านมาแม้ว่าจะมีการศึกษาว่าเราควรแก้กฎระเบียบอะไรบ้าง แต่ก็จะไม่มีใครกล้าทุบโต๊ะ เพราะรัฐมนตรีคนไหนทุบโต๊ะคนนั้นจะกลายเป็นหมาหัวเน่า กลายเป็นศัตรูกับข้าราชการ เพราะจะมีการตัดลดผลประโยชน์ที่ควรได้ของหน่วยงาน และเกี่ยวพันกับตำแหน่งในหน่วยงาน ซึ่งเขาก็จะไม่ทำ แต่การตัดลดเรื่องพวกนี้ลง ไม่ว่าจะเป็นกระบวนการทำงานซ้ำซ้อน หรือตำแหน่ง นั่นคือวัตถุประสงค์ในการลดภาระลง ทำให้ธุรกิจทำง่ายขึ้น ซึ่งตรงนี้เรายังไม่สามารถทำได้เลย แต่เวียดนามและใครต่อใครเขาทำกันหมดแล้ว

ไทยติดกับดักแซนด์บอกซ์

ถามว่าเวียดนามแซงไทยไหม ก่อนหน้านี้เวียดนามช้ามาก จะเห็นว่าตอนเวียดนามเปิดประเทศใหม่ ๆ กฎกติกาต่าง ๆ เยอะมาก แต่เขาเปลี่ยนแปลง ซึ่งเขาใช้ทีมศึกษาทำเรื่องกิโยตินกฎหมายชุดเดียวกับที่ทำให้ไทย แต่ตอนนี้เวียดนามมีกฎกติกาการลงทุนสะดวกมาก หรือด้วยระบบการเมือง (สังคมนิยม) ก็กล้าทำ

ดังนั้น จะเห็นว่านักลงทุนทุกชาติ จะญี่ปุ่น สิงคโปร์ ยุโรป ไปเวียดนามหมด เพราะลงทุนแล้วไม่ติดปัญหา แต่ถ้าลงทุนประเทศไทยมีประตูเดียว คือ บีโอไอ ซึ่งกว่าจะขออนุญาตได้ แล้วยังไปติดกฎระเบียบของกรมอื่น ๆ อีก เพราะไทยไม่มีระบบวันสต็อปเซอร์วิสเลย จะอำนวยความสะดวกอย่างไร

“ตอนนี้เราติดอยู่ที่ระบบทุกอย่างแซนด์บอกซ์ ติดกับดักแซนด์บอกซ์ ซึ่งมันกลายเป็นว่าเหมือนสมัยก่อนเวลาเขาจะเตะถ่วงปัญหา เขาจะตั้งคณะกรรมการขึ้นมา เพื่อที่จะไม่ตัดสินใจ พอมาตอนนี้รูปแบบแซนด์บอกซ์ดีกว่านิดหน่อย คือ ทดลองแล้วไม่เป็นรูปธรรมก็เลยไม่ตัดสินใจ เพราะไม่สามารถเอาไปปฏิบัติจริงได้ ตรงนี้เป็น politicsandbox เพื่อให้มันฟังดูดี เหมือนเป็นการแก้ปัญหา มีที่ทำกันจริง ๆ ได้ผล คือ ภูเก็ตแซนด์บอกซ์ ซึ่งเอกชนทำ”

ไม่กล้าตัดสินใจ

อย่างเรื่องการเข้าร่วมเจรจาความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (CPTPP) นี้ ต้องเข้าใจก่อนว่าประเทศไทยเป็นประเทศเล็ก เมื่อเป็นเศรษฐกิจเปิดและเป็นประเทศเล็กแล้วทุกประเทศเข้ากันหมด ถ้าเข้าความตกลงนี้ทำให้ได้สิทธิประโยชน์ทางการค้าเยอะแยะไปหมด ถ้าไม่เข้าจะไม่ได้สิทธิประโยชน์ทางการค้าเลย แล้วเราเป็นประเทศที่ค้าขาย เราต้องคิดถึงประโยชน์โดยรวม

แน่นอนการเข้า CPTPP มีต้นทุน แต่ว่าต้นทุนโดยเทียบกับตัวรวมแล้วอันไหนสูงกว่า ทำไมเราไม่เถียงกันบนพื้นฐาน อย่าเถียงกันบนอารมณ์ โดยความกลัวบริษัทต่างชาติ ซึ่งเรากลัวเรื่องใหญ่ ๆ อยู่ คือ เรื่องอนุสัญญาคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่ (UPOV1991) และเรื่องวิทยาศาสตร์การแพทย์ (life science) แล้ว 2 กลุ่มนี้จะกลายเป็นกลุ่มที่เข้มแข็งในการต่อต้านมาก

ปม CPTPP ควรแก้แบบไหน

“ไทยต้องมีระบบ commission เดิมเราก็มีรัฐสภา มีตั้งคณะกรรมาธิการ รับฟังความเห็นไปไม่รู้กี่ปีต่อกี่ปีไม่เคยได้ผล แต่ประเทศไทยไม่เคยฝึกเรื่องนี้ว่าระบบเป็น commission ตั้งขึ้นมาเป็นพิเศษ ให้คนกลุ่มที่ได้รับความเชื่อถือจากสังคมแล้ว มาสร้างระบบการรับฟังที่รอบด้านทั่วถึง ซึ่งไม่เคยสำเร็จเช่น ที่ทำเรื่องคณะกรรมการปฏิรูป”

“ขณะที่ในต่างประเทศเขาสร้างระบบนี้ขึ้นมา มีการรับฟังความเห็นแล้วก็เสนอความเห็น แต่ต้องทำตามข้อเสนอ ถ้ารัฐบาลไม่ทำตามข้อเสนอของกรรมาธิการชุดนี้ ๆ รัฐบาลต้องอธิบายว่าทำไมจึงไม่ทำตาม บนพื้นฐานของข้อเท็จจริง โดยยึดเอาผลประโยชน์ของคนส่วนใหญ่เป็นตัวตั้ง”

“โลกของไทยเป็นโลกที่เปิด เราต้องอาศัยเทคโนโลยีต่างประเทศ แต่เทคโนโลยีเราเองก็ไม่มี คือ เราพยายามทำตัวปิดตัวเหมือนเกาหลีเหนือ เรานึกว่าเราจะปิดตัวเองอยู่คนเดียวได้หรือ มันไม่ใช่”

“กลไกการแก้ไขมีแค่รับฟังทุกคนแล้ว ต้องตัดสินใจ และเมื่อตัดสินใจแล้วต้องยอมรับ ไม่ใช่ว่าไม่ยอมรับ แล้วยังมาประท้วงอีก สังคมประชาธิปไตย ถ้าเรามีระบบที่มีธรรมาภิบาลรับฟังอะไรต่าง ๆ ด้วยธรรมาภิบาลหลัก คือ เราเลือกรัฐบาลมาเพื่อเป็นคนตัดสินนโยบาย รัฐบาลมานั่งเฉย ๆ ไม่กล้าทำอะไร ความล้มเหลวของประชาธิปไตย คือ รัฐบาลไม่กล้าตัดสินใจอะไรที่ยาก ๆ”

“เรื่องพวกนี้ยากมาก คือ ต้องมีคนที่ทำงานเรื่องพวกนี้ เช่น มีคณะกรรมการปฏิรูปทำเฉพาะเรื่องเรื่องนี้ และรัฐบาลต้องมีหลักว่าจะพิจารณาตัดสินใจจากผลการทำงานของคณะกรรมการนี้ ต้องกล้าที่จะตัดสินใจ แล้วก็เปิดเผยรายงานออกมา สร้างระบบแบบนี้เป็นระบบของการมีส่วนร่วม

“ขณะที่ประชาชนก็ต้องเข้าใจในบทบาทของตัวเองว่าไม่มีหน้าที่ในการตัดสินใจ แต่มีส่วนในการให้ความคิดเห็นหรือคัดค้านได้ แต่เมื่อถึงจุดที่ตัดสินใจแล้วต้องยุติ ถ้าผ่านกระบวนการประชาธิปไตยที่แท้จริงแล้ว อย่าไม่รู้จักแพ้”