ถุงมือยาง 8 หมื่นล้านป่วน ราคาร่วง-จีนเปิดศึกแย่งตลาด

ขุมทรัพย์ส่งออกถุงมือยาง 80,000 ล้านบาทระส่ำ สารพัดปัญหารุม เจอขบวนการส่งถุงมือใช้แล้วทำภาพลักษณ์ถุงมือยางไทยเสียหายหนัก รัฐบาลสั่งทูตพาณิชย์ย้ำคุณภาพประเทศคู่ค้า ขณะที่ความต้องการถุงมือยางตลาดโลกเริ่มเข้าสู่ภาวะปกติหลังโควิดคลี่คลาย กดดันราคาถุงมือยางร่วงกว่า 50% เหลือแค่ 4-6 ดอลลาร์สหรัฐต่อ 100 ชิ้น โจทย์ใหญ่โรงงานจีนเปิดศึกแย่งมาร์เก็ตแชร์ แซงไทยขึ้นที่ 2 รองมาเลเซีย

ถุงมือยางมือสองส่งเข้าสหรัฐ ทำตลาดส่งออกถุงมือยางมูลค่า 80,000 ล้านบาทของไทยระส่ำ จากการตรวจสอบของสมาคมผู้ผลิตถุงมือยาง พบปัญหามาจาก “กลุ่มเทรดเดอร์มิจฉาชีพ” ไม่ใช่เกิดจากตัวโรงงาน อาศัยช่วงจังหวะโควิด-19 ระบาดหนัก ทำการ “รีแพ็ก” ถุงมือยางมือสองเข้าสหรัฐ ทำภาพลักษณ์ถุงมือยางไทยเสียหายหนัก

ขณะที่ความต้องการถุงมือยางตลาดโลกเข้าสู่ภาวะปกติ ทำราคาถุงมือยางร่วง 100 ชิ้นเหลือแค่ 4-6 เหรียญ แถมยังถูกโรงงานถุงมือยางจีนแย่งมาร์เก็ตแชร์ แซงถุงมือยางไทยขึ้นที่ 2 รองมาเลเซีย

กรณีสำนักข่าว CNN รายงานการส่งออกถุงมือยางไนไตรล์ทางการแพทย์ “มือสอง” ถูกส่งจากประเทศไทยเข้าไปยังสหรัฐเป็นจำนวนหลายสิบล้านชิ้น โดยถุงมือยางเหล่านี้เป็น “ถุงมือไนไตรล์” ใช้ในทางการแพทย์ ซึ่งเป็นสินค้าที่มีความต้องการใช้สูงมากในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19

โดย CNN ได้เปิดชื่อ 2 บริษัท ได้แก่ บริษัท แพดดี้ เดอะ รูม เทรดดิ้ง จำกัด กับบริษัท เมืองเศรษฐกิจพอเพียง จำกัด โดยการรายงานข่าวของ CNN ได้สร้างความเสียหายให้กับประเทศไทย

จน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ต้องลงนามคำสั่งแต่งตั้ง คณะกรรมการตรวจสอบการส่งออกถุงมือยางไปนอกราชอาณาจักร ไปเมื่อวันที่ 26 ตุลาคม 2564 ที่ผ่านมา มี นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธาน

ด้านสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) รายงานว่า ได้มีการดำเนินคดีเกี่ยวกับถุงมือยางทางการแพทย์รวม 15 คดี ในจำนวนนี้มีคดีที่เกี่ยวกับ บริษัท Paddy the Room ซึ่งอัยการได้สั่งฟ้องแล้ว ส่วนกรณีที่เกี่ยวข้องกับถุงมือยางทางการแพทย์ แบรนด์ “SKYMED” นั้น

สตช.ได้รับไปดำเนินการสืบสวนสอบสวนต่อไป โดยทางบริษัท เมืองเศรษฐกิจพอเพียง จำกัด ผู้จำหน่ายแบรนด์ SKYMED ประกาศจะดำเนินคดีเรียกร้องค่าเสียหาย 1,500 ล้านบาท กับ Paddy, Medico Titan, Lund Entertainment, VLSG ที่ทำให้บริษัทเสียชื่อเสียง

ขณะที่ทางกลุ่มผู้ประกอบการโรงงานผลิตถุงมือยางในประเทศยอมรับว่า ข่าวดังกล่าวได้สร้างความวิตกให้กับผู้ผลิตในแง่ของความเชื่อมั่นสินค้าถุงมือยางจากประเทศไทยเป็นอย่างมาก ท่ามกลางสภาวการณ์ที่ตลาดกำลังแข่งขันกันอย่างดุเดือด

สั่งทูตพาณิชย์ทั่วโลกแจงคู่ค้า

นายภูสิต รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ และในฐานะกรรมการและเลขานุการ คณะกรรมการตรวจสอบการส่งออกถุงมือยางไปนอกราชอาณาจักร กล่าวถึงผลการประชุมคณะกรรมการ เมื่อวันที่ 27 ต.ค.ว่า

เบื้องต้นที่ประชุมได้มอบหมายให้ทุกหน่วยงานไปหาข้อมูล แนวทางแก้ไขและข้อเสนอแนะในประเด็นดังกล่าว คาดว่าจะใช้ระยะเวลา 3 สัปดาห์ ซึ่งในส่วนของกรมได้มอบหมายให้ สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ (ทูตพาณิชย์) ทั่วโลก โดยเฉพาะประเทศตลาดส่งออกถุงมือยางดำเนินการ

พร้อมกันนี้ได้เร่งประชาสัมพันธ์สร้างความเข้าใจในสินค้าถุงมือยางไทยมีคุณภาพ มาตรฐานในการส่งออก แต่เชื่อว่าจากปัญหาที่เกิดขึ้นจะไม่ส่งผลกระทบต่อภาคการส่งออกถุงมือยาง เนื่องจากไทยยังคงได้รับความเชื่อมั่นจากผู้นำเข้าอยู่

ทั้งนี้ กรมศุลกากรระบุว่า การส่งออกถุงมือยางของไทย 9 เดือน (มกราคม-กันยายน 2564) มีมูลค่า 80,064.34 ล้านบาท หรือขยายตัว 77.73% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยตลาดส่งออกหลัก ได้แก่ สหรัฐ มูลค่า 36,457.51 ล้านบาท ขยายตัว 108.2%

รองลงมาคือ เยอรมนี 4,350.52 ล้านบาท ขยายตัว 121.27%, เนเธอร์แลนด์ 3,423.02 ล้านบาท ขยายตัว 103.64%, จีน 3,029.86 ล้านบาท ขยายตัว 20.02% และญี่ปุ่น 3,027.02 ล้านบาท ขยายตัว 22.02%

ถุงมือยางมือสองไม่เกี่ยวโรงงาน

ด้านนายวีรสิทธิ์ สินเจริญกุล นายกสมาคมผู้ผลิตถุงมือยางไทยชี้แจงว่า ปัญหานี้เกิดขึ้นจาก “มิจฉาชีพ” จากบุคคลที่เข้ามาแสวงหาผลประโยชน์ในช่วงที่มีการระบาดของโควิด-19 ซึ่งมีความต้องการใช้ถุงมือยางเพิ่มขึ้นมาก จนผู้ผลิตทั่วโลกผลิตไม่ทัน

ทำให้เกิดมี “เทรดเดอร์หน้าใหม่” ที่ไม่มีโรงงานนำเข้าถุงมือจากจีนและมาเลเซีย ซึ่งพฤติกรรมแบบนี้เป็นเรื่องที่เกิดกับประเทศผู้ผลิตและส่งออกถุงมือยางทุกประเทศทั้งมาเลเซีย-จีน-ไทย และต้องย้ำว่า เรื่องที่เกิดขึ้นไม่ได้เกี่ยวกับโรงงานผู้ผลิตในสมาคมผู้ผลิตถุงมือยางไทย

จากปัจจุบันสมาคมมีสมาชิกไม่เกิน 20 บริษัท โรงงานทุกโรงงานผลิตและขายถุงมือยางใหม่ ไม่ได้ขายถุงมือใช้แล้ว ซึ่งขณะนี้ทางผู้ผลิตทุกรายยังคงเดินหน้าผลิตถุงมือยางคุณภาพสูงส่งมอบให้ลูกค้าต่อไป

“เรื่องนี้ถือเป็นเรื่องภาพลักษณ์ของประเทศไทยแน่ ๆ ถ้าคู่ค้าใหญ่ ๆ อย่าง สหภาพยุโรป-สหรัฐอเมริกา แบนประเทศไทยขึ้นมา ปัญหาที่ตามมาคือ อุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องคงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะมีผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญ

แม้ว่าลูกค้าที่ซื้อกันมานาน 30-40 ปีจะเข้าใจ และไม่กระทบการสั่งซื้อ แต่โดยรวมก็อาจเสียชื่อเสียงประเทศไทย โดยเฉพาะแบรนด์สินค้าที่ถูกละเมิด ก็จะถูกศุลกากรของประเทศคู่ค้าอย่างสหภาพยุโรป-สหรัฐจับตามองเป็นพิเศษ” นายวีรสิทธิ์กล่าว

ส่วนการแก้ปัญหานี้ “ต้องอย่าหลงประเด็น” ผู้เกี่ยวข้องต้องแยกระหว่าง “ผู้ผลิตตัวจริง” กับ “ตัวปลอม” เพราะกลุ่มมิจฉาชีพไม่มีโรงงาน คุมคนดีแล้วปล่อยคนชั่วลอยนวล จะทำให้ศักยภาพการส่งออกถุงมือยางของไทยตกต่ำไปอีก

ที่ผ่านมาภาพลักษณ์ของผู้ผลิตไทยดีอยู่แล้ว ผลิตกันมา 20-30-40 ปี ดังนั้น ไม่มีเหตุผลอะไรที่จะให้ตัวเองเสื่อมเสียชื่อเสียง แต่พวกที่ไม่ใช่ผู้ผลิต เช่น พวกพ่อค้าคนกลาง หรือ “เทรดเดอร์ใหม่” ไม่มีโรงงานของตัวเองด้วยซ้ำไป แต่ไปเอาถุงมือยางจากไหนไม่รู้มาส่งออก เพิ่งจดทะเบียนใหม่ใน 2-3 ปีนี้

“พวกนี้มารีแพ็กเถื่อนใหม่ ฉวยโอกาสเพราะตลาดถุงมือยางยังมีโอกาสเติบโตสูง และการผลิตทั่วโลกยังไม่เพียงพอ ภาครัฐควรต้องเพ่งเล็งกลุ่มนี้เป็นพิเศษ ที่ผ่านมารัฐมีการจับกุมกลุ่มรีแพ็กเถื่อน แต่ไม่ได้ขยายผลไปจนถึงตัวผู้ว่าจ้าง

ส่วนผู้ซื้อโดยเฉพาะรายใหม่ ๆ ขอให้ตรวจสอบข้อมูลตรงมาที่สมาคมผ่าน www.TRGMA.org จะทำให้ทราบรายชื่อผู้ผลิต ซึ่งทางสมาคมมีการคัดเลือกสมาชิกมาอย่างเข้มงวด สมาชิกทุกรายผ่านมาตรฐานทั้งการผลิตและการใช้วัตถุดิบในการผลิตได้มาตรฐานสหรัฐ สหภาพยุโรป และทั่วโลก” นายวีรสิทธิ์กล่าว

จีนชิงมาร์เก็ตแชร์

อย่างไรก็ตาม ปัญหาที่เกิดขึ้นยังไม่ส่งผลกระทบต่อธุรกิจถุงมือยางที่ดำเนินกิจการมานาน และไม่กระทบต่อการรับ “คำสั่งซื้อ” เพราะมีการทำสัญญาระยะยาว (long term) อยู่แล้ว โดยปกติมีการสั่งออร์เดอร์ล่วงหน้าไปถึงกลางปีหน้าแล้ว

ส่วนแนวโน้มตัวเลขส่งออกประเทศไทยยังเหมือนเดิมคือ “เติบโต 2 หลัก ปีนี้ต่อเนื่องถึงปีหน้า” เพราะดีมานด์ยังทรงตัวสูงอยู่ แม้ว่าจะเทียบกับปีที่มีดีมานด์พุ่งสูงสุดในช่วงการระบาดโควิด-19 (adhoc demand) ดังนั้นความต้องการในปี 2565 จะเริ่มอยู่ตัว ซึ่งปกติที่ปีที่ไม่มีโควิดก็โต 8-10% ต่อปีอยู่แล้ว

ตลาดถุงมือยางในปี 2564 ทางสมาคมโรงงานผู้ผลิตถุงมือยางมาเลเซีย (MARGMA) คาดการณ์ว่า จะเติบโต 17% หรือประมาณ 500,000 ล้านชิ้น ด้านราคาก็จะมีเสถียรภาพมากขึ้น ความผันผวนราคาน้อยลง

แต่ตอนนี้ที่กังวลก็คือจะโดน “จีน” ซึ่งเป็นผู้ผลิตถุงมือยางหน้าใหม่เข้ามาแย่ง “มาร์เก็ตแชร์” เนื่องจากจีนขยายได้เยอะกว่า โดยเฉพาะถุงมือยางไนไตรล์และไวนิล ทำให้มาร์เก็ตแชร์ของจีนขณะนี้เพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัว

ปัจจุบันประเทศไทยมีการผลิตและส่งออกถุงมือยางรองจากมาเลเซีย โดยมีสัดส่วนมาร์เก็ตแชร์อยู่ประมาณ 18% ขณะที่มาเลเซียอยู่ที่ 67% แต่เป็นที่น่าสังเกตว่า ส่วนแบ่งการตลาดได้เปลี่ยนแปลงไปแล้ว จาก “จีน” ซึ่งเป็นผู้เล่นหน้าใหม่เข้ามาแทรก

ประกอบกับมาเลเซียประสบปัญหาโควิด-19 ทำให้ส่วนแบ่งตลาดมาเลเซียลดลงเหลือ 60% ขณะที่จีนมีส่วนแบ่งตลาดเพิ่มขึ้นทันที จาก 10% ขยับเป็น 23% ส่วนอินโดนีเซียทรงตัวอยู่ที่ 3%

มีแต่รายเก่าขยายกำลังผลิต

ส่วนแนวโน้มการลงทุนในอุตสาหกรรมผลิตถุงมือยางที่ชัดเจนก็คือ การขยายกำลังการผลิตของผู้ประกอบการรายเดิม ส่วนผู้ผลิตรายใหม่ที่ประกาศ ๆ ออกมาในช่วงโควิด-19 แทบไม่มีการตั้งโรงงานอย่างมีนัยสำคัญเลย ตอนนี้โรงงานใหม่ที่เกิดขึ้นไม่น่าเกิน 2 ราย

ส่วนใหญ่จะเป็นรายเดิมขยาย เช่น บริษัทศรีตรังฯก็ยังขยายตามแผนเดิมไปถึงปี 2026 และรายอื่น ๆ ก็มีการขยายเช่นกัน แต่ด้วยเหตุที่บริษัทผู้ผลิตของไทยส่วนใหญ่จะเป็น บริษัทจำกัดรายเล็ก มีเพียง 2 รายเท่านั้นที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ฯ จึงไม่ทราบข้อมูลชัดเจนกันว่า ใครขยายเท่าไรบ้าง

“ในมาเลเซีย อุตสาหกรรมถุงมือยางถือเป็น ‘อุตสาหกรรมลูกรัก’ ของรัฐ ทำให้มีการอำนวยความสะดวกในการขยายธุรกิจ ขณะที่จีนก็ยิ่งตั้งโรงงานได้ง่ายมาก ทั้งยังมีบุคลากร เทคโนโลยี วัตถุดิบ และพื้นที่ พร้อมสำหรับการตั้งโรงงานใหม่

ส่วนไทยการขออนุมัติตั้งโรงงานยังล่าช้าและยิ่งในปีที่ผ่านมาการก่อสร้างติดเรื่องการควบคุมโควิด-19 ต้องขออนุญาตข้ามจังหวัดอีก ในเรื่องการตลาดขอให้รัฐช่วยเจรจาลดกำแพงภาษี ทำความตกลงการค้าเสรีในตลาดส่งออกใหม่ต่าง ๆ เช่น อินเดีย ปากีสถาน

เพราะหากเปรียบเทียบกันแล้วพบว่า อัตราภาษีนำเข้าปากีสถานของไทยอยู่ที่ 20% ส่วนมาเลเซียอยู่ที่ 2% ทำให้เกิดความได้เปรียบเรื่องราคา” นายวีรสิทธิ์กล่าว

ถุงมือยางราคาขาลง

ด้าน ดร.สมบูรณ์ วราห์บัณฑูรวิทย์” กรรมการผู้จัดการ บริษัท ด๊อกเตอร์ บู จำกัด อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี กล่าวว่า กรณีการตรวจสอบพบการส่งออกถุงมือยางคุณภาพต่ำจากประเทศไทยไปสหรัฐได้ส่งผลกระทบมากต่อโรงงานผู้ผลิตถุงมือยางที่แท้จริงของไทย “ได้รับความเดือดร้อนไปด้วยอย่างมาก”

เนื่องจากสินค้าที่ส่งออกไป เวลามีปัญหาคนที่มาต่อว่า ไม่ใช่ต่อว่าบริษัทใดบริษัทหนึ่ง แต่เหมารวมผู้ผลิตผู้ส่งออกถุงมือยางของประเทศไทยทั้งหมด ทำให้ประเทศไทยเสียชื่อมาก

“ในส่วนโรงงานของ ดร.บูเอง มีลูกค้าทั้งในประเทศและต่างประเทศสอบถามเข้ามา ลูกค้าในยุโรปและสหรัฐส่งลิงก์ข่าวดังกล่าวมาให้ดูพร้อมสอบถามว่า ทำไมถุงมือยางของไทยเป็นอย่างนี้ เนื่องจากช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา

เมื่อเกิดสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ความต้องการถุงมือยางในตลาดโลกเพิ่มขึ้นอย่างมาก ทำให้มีคนที่อยู่นอกวงการถุงมือยางมากมายต่างโดดเข้ามาทำธุรกิจ เป็นพ่อค้าคนกลาง ขายถุงมือยางในตลาดกันจนมั่วกันไปหมด

ไปสั่งซื้อถุงมือยางจากที่ไหนก็ไม่มีการตรวจสอบแหล่งผลิต คุณภาพเป็นอย่างไรก็ไม่มีความรู้ เพียงขอให้มีสินค้าถุงมือยางส่งออกไปขายได้ตามออร์เดอร์ โดยที่รัฐบาลไทยไม่มีมาตรการควบคุม”

ตามปกติการส่งออกถุงมือยางไปตลาดอเมริกา แบ่งออกเป็น 2 รูปแบบ แต่ใช้พิกัดสินค้าส่งออกตัวเดียวกัน กล่าวคือ 1) ถุงมือยางทางการแพทย์ ทางสหรัฐกำหนดโรงงานผลิตที่ส่งออกเอง และพ่อค้าคนกลางที่เข้ามาทำธุรกิจส่งออก ต้องไปจดทะเบียนเพื่อขอใบอนุญาต (license) กับหน่วยงานของสหรัฐ ซึ่งจะมีหมายเลขมาให้ชัดเจน

2) ถุงมือยางทั่วไป ทั้งโรงงานผู้ผลิตและพ่อค้าคนกลางสามารถส่งออกได้โดยไม่ต้องมีใบอนุญาต (license) ซึ่งปัญหาที่เกิดขึ้นคงอาศัยช่องโหว่ถุงมือยางทั่วไปประเภทนี้ส่งออกไป ทั้ง ๆ ที่ปกติผู้นำเข้าในสหรัฐ ไม่ว่าจะสั่งซื้อถุงมือยางแบบใด จะมีการกำหนดสเป็กที่ต้องการมา แต่คนขายจริง ๆ คงไม่ได้ทำตามสเป็กที่กำหนด

ดังนั้นการแก้ปัญหาดังกล่าวจึงอยากให้หน่วยงานภาครัฐของไทยควรจะเข้ามาช่วยดูแลควบคุมการส่งออกสินค้าถุงมือยาง ถ้าไม่มีการควบคุมใครก็ส่งออกได้ จะทำให้ประเทศไทยเสียชื่อเสียงอีก

โดยเฉพาะมีการนำเข้าถุงมือยางคุณภาพต่ำไม่ได้สเป็กเข้ามาประเทศไทยผ่าน คลังสินค้าทัณฑ์บน (bonded warehouse) ปลอดภาษี 1 ปี แล้วนำไปแพ็กส่งออกไปตลาดสหรัฐในนามประเทศไทยก็เป็นปัญหาเหมือนกัน แต่หากนำเข้าถุงมือยางคุณภาพสูงก็ไม่มีปัญหา

“ยกตัวอย่าง พวกบริษัทเทรดดิ้งที่จะมาติดต่อซื้อถุงมือยางทางการแพทย์จากโรงงาน ดร.บูเอง ทางโรงงานก็ต้องมีใบอนุญาต (license) นำสินค้าเข้าไปขายในตลาดสหรัฐได้ แต่เวลาบริษัทเทรดดิ้งเหล่านี้จะนำเข้าถุงมือยางของ ดร.บู ไปขายยังตลาดสหรัฐ ต้องไปจดทะเบียนขอใบอนุญาต (license) นำเข้าถุงมือยางทางการแพทย์กับหน่วยงานของสหรัฐโดยตรง

ไม่สามารถอ้างอิงใช้ license ของโรงงาน ดร.บูได้ ในบทบาทผู้นำเข้าใบอนุญาต (license) ของใครของมัน ไม่สามารถใช้อ้างสิทธิ์กันได้ แม้โรงงาน ดร.บู จะออกเอกสารอินวอยซ์ต่าง ๆ ให้ว่า มาซื้อสินค้าจากโรงงานเราก็ตาม ซึ่งใบอนุญาต (license) ถุงมือยางทางการแพทย์ทางสหรัฐมีเงื่อนไขมากมาย

ไม่ได้อนุญาตให้ง่าย ๆ ไลเซนส์การทำการค้ากับสหรัฐควบคุมแม้แต่เรื่องการใช้แรงงานต้องทำถูกต้องตามกฎหมาย ยกเว้นการนำเข้าสินค้าถุงมือยางทั่วไปไม่ต้องใช้ไลเซนส์ ตรงนี้ถือเป็นช่องโหว่” ดร.สมบูรณ์กล่าว

ปัจจุบันความต้องการถุงมือยางในตลาดโลกชะลอตัวลง และราคาไม่ได้สูงอย่างช่วงที่ผ่านมา โดยราคาเริ่มปรับลงมาตั้งแต่ช่วงเดือนเมษายน-พฤษภาคม 2564 เรื่อยมา ตอนนี้ถือว่าตลาดถุงมือยางเริ่มกลับเข้าสู่ภาวะปกติใกล้เคียงกับช่วงก่อนโควิด-19 แพร่ระบาด

เห็นได้จากราคาถุงมือยางตอนเกิดโควิดใหม่ ๆ เคยพุ่งขึ้นไปสูงสุด 100 ชิ้น ราคา 10-12 เหรียญ แต่ปัจจุบัน 100 ชิ้น ปรับลงมาเฉลี่ยอยู่ที่ 4-6 เหรียญ แล้วแต่คุณภาพวัสดุและความหนาบางที่แตกต่างกันไป ทำให้ผู้นำเข้าต่างชะลอดูสถานการณ์ราคา โดยบางคนมองว่าราคาอาจปรับตัวลงอีกจึงชะลอการซื้อไป

สำหรับโรงงาน ดร.บู มีกำลังการผลิตถุงมือยาง 30,000 กว่าชิ้น/ชม. หรือผลิตได้ 1,000 ล้านชิ้น/ปี ตั้งเป้าจะขยายเพิ่มอีก 3 โรงงาน ตอนนี้เฟสแรกแล้วเสร็จ ผลิตได้เพิ่มอีก 3,000 ล้านชิ้น/ปี ส่วนอีก 2 เฟสที่เหลือค่อย ๆ ดูสถานการณ์ไปก่อน

แต่หากขยายเต็ม 3 เฟส หรือ 3 โรงงาน ใช้เงินลงทุนประมาณ 4,000 ล้านบาท จะสามารถผลิตถุงมือยางได้ 10,000 ล้านชิ้นต่อปี

“ช่วงนี้ถุงมือยางไม่ได้ราคาดีเหมือนที่ผ่านมา เพราะสหรัฐซึ่งเป็นผู้นำเข้ารายใหญ่ชะลอการซื้อ มาร์จิ้นไม่ได้มากเหมือนก่อนแล้ว ถึงจะมีการระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ในอนาคต แต่ราคาถุงมือยางคงไม่ปรับขึ้นไปเป็นเท่าตัวอย่างที่ผ่านมา ตอนนี้ราคาลงต่างชะลอกันหมด มองว่าเดี๋ยวราคาก็ลงอีก” ดร.สมบูรณ์กล่าว

ทั้งนี้ ปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่ต้องติดตามต่อเนื่อง ซึ่งอาจจะมีผลต่อการส่งออกคือ เรื่องค่าระวางเรือที่ปรับสูงขึ้น อัตราแลกเปลี่ยน และการแข่งขันที่รุนแรงกับผู้ผลิตมาเลเซีย และผู้ผลิตหน้าใหม่ของจีน (ซึ่งเป็นเจ้าที่มีขนาดใหญ่พอ ๆ กับศรีตรังฯ หรือใหญ่กว่า เช่น อินโค บลูเฟล ฮงเร พูหลิง)แข่งกันทั้งด้านราคาและคุณภาพในทุกตลาดทั่วโลก โดยเฉพาะตลาดอเมริกา สหภาพยุโรป ส่วนปัจจัยเรื่องการป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด แต่ละโรงงานมีการเฝ้าระวัง และจัดให้พนักงานฉีดวัคซีนได้จำนวนมากแล้ว บางบริษัทครบ 100% แล้ว

ด้านนางสาวจริญญา จิโรจน์กุล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ศรีตรังโกลฟส์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ STGT กล่าวว่า ข่าวการลักลอบส่งถุงมือยางมือสองไม่ได้ส่งผลกระทบต่อการรับคำสั่งซื้อของบริษัท โดยแนวโน้มคำสั่งซื้อในไตรมาส Q4 และปี 2565 ยังดีต่อเนื่อง

ความต้องการใช้ของถุงมือยังแข็งแกร่งมาก ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งถุงมือยางธรรมชาติ ด้านลูกค้าประจำทราบอยู่แล้วว่า เป็นเรื่องของปลอมแปลง ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับบริษัทศรีตรังโกลฟส์