ประยุทธ์ ประชาธิปัตย์ ประกันรายได้สินค้าเกษตรทะลุ 3 แสนล้าน

ประยุทธ์ ประชาธิปัตย์ ประกันรายได้สินค้าเกษตรทะลุ 3 แสนล้าน
PRACHACHAT/Illustration/Bhattarada Manee

ปัญหางบประมาณเกินเพดานวินัยการคลัง ที่กฎหมายกำหนด ปะทุแตกในห้องประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อกระทรวงพาณิชย์ เสนอขออนุมัติงบประมาณสำหรับการประกันรายได้เกินกว่าเพดานที่กฎหมายกำหนด

ประกันรายได้เป็นส่วนหนึ่งของปัญหาภูเขาน้ำแข็ง ในยุครัฐบาล “ประยุทธ์ จันทร์โอชา” จ่ายเงินอุดหนุนเกษตรกร ในพืช 5 ชนิด 3 ปี อนุมัติไปแล้ว 3 แสนกว่าล้าน

ตามข้อเสนอของ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี รมว.พาณิชย์ ในฐานะหัวหน้าประชาธิปัตย์ พรรคร่วมรัฐบาล อันดับ 3 ภายใต้ชุดนโยบาย “ประกันรายได้สินค้าเกษตร” ที่เป็นมหากาพย์ต่อจากนโยบาย “รับจำนำข้าว”

นโยบายดังกล่าวส่งผลทางอ้อมกับระบบเศรษฐกิจ แต่ส่งผลทางตรงกับฐานเสียงทางการเมือง ในสินค้าเกษตร 5 ชนิด ประกอบด้วย ข้าว ยางพารา มันสำปะหลัง ปาล์ม และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์

เป็น 1 ใน 12 นโยบายเร่งด่วนของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา สมัยที่ 2 ที่แถลงไว้ต่อรัฐสภา เมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2562 และเป็นเงื่อนไขในการร่วมรัฐบาลของพรรคประชาธิปัตย์

ในรอบ 3 ปี มีการขออนุมัติคณะรัฐมนตรี (ครม.) จ่ายงบประมาณอุดหนุนประกันรายได้ จ่ายส่วนต่างราคาสินค้าเกษตร 5 ชนิด รวมยอด 352,273 ล้านบาท ดังนี้

ข้าว 266,391 ล้านบาท ทะลุเพดานวินัยการคลัง

วาระเพื่อพิจารณา ขออนุมัติงบประมาณเพื่อการประกันราคาข้าว มีดังนี้

27 สิงหาคม 2562 โครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปี 2562/2563 รอบที่ 1 วงเงิน 21,495.74 ล้านบาท

11 ธันวาคม 2562 มาตรการรักษาเสถียรภาพราคาข้าวเปลือก ปีการผลิต 2562/2563 (คู่ขนานโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว) วงเงิน 2,572.5 ล้านบาท งบฯจากกองทุนรวมเพื่อช่วยเหลือเกษตรกร (คชก.)

3 พฤศจิกายน 2563 โครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปี 2563/2564 รอบที่ 1 วงเงิน 23,495.71 ล้านบาท มาตรการคู่ขนาน วงเงิน 35,999.26 ล้านบาท โครงการสนับสนุนค่าบริหารจัดการและพัฒนาคุณภาพผลผลิตเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2563/2564 วงเงิน 56,093.63 ล้านบาท

1 ธันวาคม 2563 ขอเพิ่มวงเงินงบประมาณโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปี 2563/2564 รอบที่ 1 (ครั้งที่ 1) วงเงิน 28,711.29 ล้านบาท

9 มีนาคม 2564 ขอเพิ่มวงเงินงบประมาณโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปี 2563/2564 รอบที่ 1 (ครั้งที่ 2) วงเงิน 3,838.92 ล้านบาท ขยายเป้าหมายโครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี ปีการผลิต 2563/2564 เพิ่มเติมอีก 0.32 ล้านตันข้าวเปลือก วงเงิน 4,504.27 ล้านบาท

ล่าสุด 25 ตุลาคม 2564 โครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปี 2564/2565 รอบที่ 1 วงเงิน 13,604.34 ล้านบาท มาตรการคู่ขนานและโครงการสนับสนุนค่าบริหารจัดการและพัฒนาคุณภาพผลผลิตเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2564/2565 วงเงิน 18,378.90 ล้านบาท

ปัญหาที่ซุกอยู่ใต้วาระมานาน ปะทุขึ้นเมื่อเอกสารแนบท้ายระบุว่า “ในการประชุม นบข. เมื่อวันที่ 23 ส.ค. 2564 รัฐมีภาระการคลังประมาณ 29.48% ของงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2564 และปัจจุบันมียอดคงค้างทั้งหมด 29.88% ของกรอบวงเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปี ซึ่งเป็นระดับภาระการคลังที่ใกล้ทะลุเพดาน วินัยการคลัง ตามมาตรา 28 แห่ง พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังภาครัฐ พ.ศ. 2561 ที่กำหนดว่า…

“กรณีที่รัฐบาลเข้าไปรับภาระ ชดเชยค่าใช้จ่าย หรือการสูญเสียรายได้ในการดำเนินการจากโครงการที่มอบหมายให้หน่วยงานของรัฐไปดำเนินการนั้น ภาระค่าใช้จ่ายในการดำเนินการดังกล่าวจะต้องมียอดคงค้างไม่เกินอัตราที่คณะกรรมการนโยบายการเงินการคลังของภาครัฐกำหนด คือไม่เกิน 30% ของงบประมาณรายจ่ายประจำปี”

ส่งผลให้ในปีงบฯ 2564 รัฐบาลไม่มีเงินเพียงพอต่อการดำเนินโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปี 2564/2565 รอบที่ 1 และมาตรการคู่ขนาน เพราะกระทรวงการคลังชี้แจงว่า “รัฐมีภาระทางการคลัง ประมาณร้อยละ 29.38 ของงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2564 แต่ปัจจุบันรัฐมียอดคงค้างทั้งหมด ทะลุถึงร้อยละ 29.88”

ขัดกับมาตรา 28 แห่งพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 ระหว่างนี้ทั้งกระทรวงการคลังและพาณิชย์ จึงต้องประสานการเบิกจ่าย เป็นงวด ๆ ไป

ยางพาราขยายแล้วขยายอีก จ่ายแล้ว 37,821 ล้านบาท

มติ ครม.สั่งจ่ายเงินให้กับโครงการประกันรายได้ยางพารา เรียบตามลำดับ คือ 15 ตุลาคม 2562 โครงการประกันรายได้เกษตรกรชาวสวนยาง ระยะที่ 1 วงเงิน 24,278.62 ล้านบาท ขยายวงเงินสินเชื่อและปรับปรุงวิธีการดำเนินงานโครงการสนับสนุนสินเชื่อผู้ประกอบการผลิตผลิตภัณฑ์ยาง วงเงินสินเชื่อ 15,000 ล้านบาท และขออนุมัติงบประมาณ (เพิ่มเติม) ชดเชยดอกเบี้ยตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกินร้อยละ 3 ต่อปี เป็นเงิน 2,100 ล้านบาท

และขยายระยะเวลาดำเนินการโครงการสนับสนุนสินเชื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียนแก่ผู้ประกอบกิจการยาง (ยางแห้ง) วงเงินสินเชื่อ 20,000 ล้านบาท

ขยายระยะเวลาดำเนินการโครงการสนับสนุนสินเชื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียนแก่สถาบันเกษตรกรเพื่อรวบรวมยาง วงเงินสินเชื่อ 10,000 ล้านบาท ออกไปอีก 4 ปี (1 เม.ย. 63-31 มี.ค. 67) มีค่าดำเนินการ 1,400 ล้านบาท

ขยายระยะเวลาและปรับปรุงวิธีการดำเนินงานโครงการส่งเสริมการใช้ยางของหน่วยงานภาครัฐ ต.ค. 62-ก.ย. 65 มีค่าจัดการ 1.5 ล้านบาท

จากนั้น 3 พฤศจิกายน 2563 โครงการประกันรายได้เกษตรกรชาวสวนยาง ระยะที่ 2 วงเงิน 10,042.82 ล้านบาท

ปาล์มขอเงินทันทีหลังแถลงนโยบาย 22,186 ล้านบาท

โครงการประกันรายได้สินค้าปาล์ม ถูกนำส่งวาระ ครม. ตั้งแต่หลังแถลงนโยบายได้ 1 เดือน ครม. 27 สิงหาคม 2562 อนุมัติโครงการประกันรายได้เกษตรกรชาวสวนปาล์มน้ำมัน ปี 2562-2563 ภายในกรอบวงเงิน 13,378.99 ล้านบาท

9 กุมภาพันธ์ 2564 โครงการประกันรายได้เกษตรกรชาวสวนปาล์มน้ำมัน ปี 2564 วงเงิน 8,807.54 ล้านบาท

ทยอยอนุมัติมันสำปะหลัง 20,372 ล้านบาท

วันที่ 12 พฤศจิกายน 2562 ครม.อนุมัติ โครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลัง ปี 2562/2563 วงเงิน 9,671.58 ล้านบาท โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการเพาะปลูกมันสำปะหลัง ปี 2562/2563 วงเงินชดเชย 69 ล้านบาท โครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมมันสำปะหลังและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร ปี 2562/2563 วงเงินชดเชย 45 ล้านบาท

28 เมษายน 2563 โครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลัง ปี 2562/2563 (เพิ่มเติม) วงเงิน 458.97 ล้านบาท

18 สิงหาคม 2563 โครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลัง ปี 2563/2564 วงเงิน 9,789.98 ล้านบาท

มาตรการคู่ขนานโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลัง ปี 2563/2564 จำนวน 3 โครงการ 1.โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการเพาะปลูกมันสำปะหลัง 69 ล้านบาท 2.โครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมมันสำปะหลังและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตร 45 ล้านบาท 3.โครงการชดเชยดอกเบี้ยเก็บสต๊อกมันสำปะหลัง ชดเชยดอกเบี้ย 225 ล้านบาท

ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ไม่น้อยหน้า 5,503 บาท

มติ ครม. วันที่ 11 ธันวาคม 2562 อนุมัติโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ปี 2562/2563 วงเงิน 923.33 ล้านบาท มาตรการบริหารจัดการข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ปี 2562/2563 ได้แก่ โครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวโพดเลี้ยงสัตว์และสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร ปี 2562/2563 วงเงิน 45 ล้านบาท

26 พฤษภาคม 2563 ขยายกรอบระยะเวลาและของบประมาณโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ปีการผลิต 2562/2563 วงเงิน 669.08 ล้านบาท

18 สิงหาคม 2563 โครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ปี 2563/2564 วงเงิน 1,913.11 ล้านบาท มาตรการคู่ขนานโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ปี 2563/2564 วงเงิน 45 ล้านบาท

25 ตุลาคม 2564 อนุมัติโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ปี 2564/2565 วงเงิน 1,863.50 ล้านบาท มาตรการคู่ขนานโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ปี 2564/2565 จำนวน 2 โครงการ วงเงิน 45 ล้านบาท

ห่วงรัฐขาดวินัยการคลัง ภาระหนี้เพิ่มสูงเป็นประวัติการณ์

รศ.ดร.อธิภัทร มุทิตาเจริญ คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า การประกันรายได้เกษตรกร เรียกได้ว่าเป็นกิจกรรมกึ่งการคลัง ที่ทำผ่านการรับประกันรายได้เกษตรกร ครม.มอบหมายให้ SFIs (สถาบันเฉพาะกิจของรัฐ) เป็นผู้ดำเนินการและสัญญาว่าจะชดเชยค่าใช้จ่ายให้ในภายหลังตามกรอบเพดานที่กำหนดตาม พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง

โดยกำหนดว่า “จะชดเชยภาระการคลังนี้ได้ไม่เกิน 30% ของงบประมาณรายจ่ายประจำปี พูดง่าย ๆ คือรัฐบาลให้ SFIs ทำไปก่อนแล้ว รัฐคืนให้ทีหลัง คือรัฐสามารถค้างจ่ายไปเรื่อย ๆ ได้ โดยที่อาจมองไม่เห็นต้นทุนที่เกิดขึ้นในทันที ทั้งที่มีต้นทุน

และในที่สุดต้นทุนเหล่านั้นก็จะสะท้อนมาที่งบประมาณแผ่นดินทั้งหมดอยู่ดี และอาจส่งผลให้รัฐวิสาหกิจ ซึ่งในที่นี่คือ ธ.ก.ส.นำส่งรายได้รัฐลดลง”

เมื่อดูจากเอกสารงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2565 ระบุว่า ระหว่างปี 2565-2568 รัฐบาลจะมีภาระการคลังกับ SFIs จำนวน 360,000 ล้านบาท และในจำนวนนี้ 80% เป็นของ ธ.ก.ส. นั่นแสดงว่า ในอนาคตจะเห็นภาระการคลังเพิ่มขึ้นเป็นประวัติการณ์