“ทาคูนิ” เลิกทำตลาด LPG เปิดเสรี-ดัมพ์ราคาหนัก

ภาพ : www.takunigroup.com

“ทาคูนิ” ถอดใจเลิกทำตลาดก๊าซ LPG ภาคขนส่ง หลังส่วนต่างราคาก๊าซกับน้ำมันไม่จูงใจ ด้านดีลเลอร์ก๊าซหุงต้มก่อสงครามถล่มราคาดุเดือด กรมธุรกิจพลังงานชี้เหมือนราคาน้ำมันเพราะเปิดตลาดเสรีสมบูรณ์ ส่วนปั๊มก๊าซตลาดอย่าง “เวิลด์แก๊ส” กลับขยายตัวไม่หยุด มองสวนทางน้ำมันมีโอกาสปรับราคาสูงขึ้นในอนาคต

ราคาน้ำมันดิบตลาดโลกที่ยังยืนราคาต่ำต่อเนื่อง ส่งผลให้ผู้ประกอบการค้าก๊าซ LPG รายเล็ก-รายกลางภาคขนส่งต้องปิดตัวลง สวนทางกับรายใหญ่ที่ยังคงมองภาพราคาน้ำมันมีโอกาสปรับตัวสูงขึ้น แม้ส่วนต่างระหว่างราคาก๊าซกับน้ำมันจะมีไม่มากเหมือนในอดีต ในขณะที่ตลาด LPG ภาคครัวเรือน
กลับมีสัญญาณการแข่งขันทางด้านราคามากขึ้น

ทาคูนิเลิกทำปั๊มก๊าซ

นางสาวนิตา ตรีวีรานุวัฒน์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ทาคูนิ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ขณะนี้บริษัททาคูนิได้ “เลิก” ทำการตลาดโดยรวมไปจนถึงเลิกการส่งเสริมการขายและการขยายสถานีบริการก๊าซ LPG เพื่อรองรับการใช้ในภาคขนส่งแล้ว โดยบริษัทดำเนินการเพียงเป็นผู้ค้าส่งก๊าซให้กับผู้แทนจำหน่าย รวมถึงลูกค้าอื่น ๆ ที่ต้องการ

เนื่องจากความต้องการใช้ก๊าซ LPG สำหรับภาคขนส่งลดลงอย่างมาก ผู้บริโภคหันไปเติมน้ำมันทดแทน และเมื่อราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่ปรับลดลงอย่างมากได้ส่งผลต่อราคาขายปลีกน้ำมันในประเทศลดลงตามไปด้วย จน “ส่วนต่าง” ระหว่างราคาก๊าซ LPG กับราคาน้ำมันแคบลง ยกตัวอย่าง น้ำมันแก๊สโซฮอล์ (E85) ที่ 20.84 บาท/ลิตร ในขณะที่ราคาก๊าซ LPG อยู่ที่ 13 บาท/ลิตร หรือมีส่วนต่างประมาณ 7 บาท/ลิตร จากก่อนหน้านี้ที่ส่วนต่างราคาเคยมากกว่า 10 บาท/ลิตรด้วยซ้ำ

สำหรับการดำเนินการของบริษัทหลังเลิกทำตลาดก๊าซ LPG บริษัทจะให้ความสำคัญกับธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง ซึ่งเป็นจุดแข็งของบริษัทและมีทิศทางขยายตัวต่อเนื่องแทน จากเดิมที่ธุรกิจก๊าซ LPG มีสัดส่วนรายได้อยู่ที่ร้อยละ 90 จนถึงขณะนี้อยู่ที่ไม่ถึงร้อยละ 50 โดยรายได้ส่วนที่เหลือมาจากธุรกิจรับเหมาก่อสร้างเป็นหลัก อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันบริษัททาคูนิมีสินทรัพย์ที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจก๊าซ LPG เหลือเพียงโรงบรรจุก๊าซ 1 แห่งในพื้นที่ลาดกระบังเท่านั้น ในขณะที่สถานีบริการก๊าซ LPG ทั้งหมดเป็นของลูกค้าและผู้แทนจำหน่าย แต่ในอนาคตหากราคาน้ำมันตลาดโลกปรับราคาสูงขึ้น จนทำให้ส่วนต่างราคาน้ำมันกับก๊าซ LPG เพิ่มขึ้น บริษัทอาจจะตัดสินใจเข้ามาทำการตลาดก๊าซ LPG อีกครั้ง

“มีช่วงหนึ่งที่เราพยายามบูตธุรกิจค้าก๊าซ LPG ขึ้นมาแล้ว แต่ดีมานด์ไม่ขยับเพิ่มเลย เราก็ต้องตัดสินใจที่จะเลิกทำตลาดนี้ไปก่อน รวมถึงการแข่งขันก็ยังสูงเป็นเรื่องปกติ ผู้ค้าแต่ละรายก็มีต้นทุนที่ต่างกัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการขนส่งและอื่น ๆ” นางสาวนิตากล่าว

ก๊าซครัวเรือนขายตัดราคา

ด้านแหล่งข่าวจากผู้ค้าก๊าซ LPG ระบุว่า จากความต้องการใช้ก๊าซ LPG ในภาคขนส่งที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง จนส่งผลให้มีผู้ค้าก๊าซ LPG ทยอยปิดกิจการลงโดยเฉพาะรายเล็ก หรือผู้ค้าอิสระ (ไม่มีแบรนด์) รวมถึงบริษัทพลังอัศวินก็ได้แจ้งยกเลิกกิจการไปก่อนหน้านี้นั้น ส่วนการค้าก๊าซ LPG ภาคครัวเรือนนั้นได้มีสัญญาณจะแข่งขันทางด้านราคากันมากขึ้น แม้ว่าตลาดนี้จะมีเจ้าตลาดอย่างบริษัท สยามแก๊ส แอนด์ ปิโตรเคมีคัลส์ จำกัด (มหาชน) หรือ SGP อยู่แล้วก็ตาม

“ผู้ค้าก๊าซรายอื่นเริ่มขยับเข้ามาทำตลาดมากขึ้น เมื่อพิจารณาจากราคาขายปลีกที่ผู้ค้าก๊าซ LPG ทุกรายจะต้องแจ้งต่อสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) พบว่า ก๊าซ LPG บรรจุถังสำหรับภาคครัวเรือนมีผู้แทนจำหน่ายของบริษัททาคูนิขาย “ถูกกว่า” ผู้ค้ารายอื่นเกือบทุกขนาด ตั้งแต่ถังก๊าซขนาด 4 กิโลกรัม/ถัง ไปจนถึงถังขนาด 48 กิโลกรัม โดยเฉพาะถังขนาดใหญ่ที่สุดขายถูกกว่ารายอื่นถึง 80 บาท/ถัง” แหล่งข่าวกล่าว

ด้านนายวิฑูรย์ กุลเจริญวิรัตน์ อธิบดีกรมธุรกิจพลังงาน กล่าวว่า ราคาก๊าซ LPG ได้เข้าสู่ตลาดเสรีอย่างแท้จริงเหมือนกับตลาดค้าปลีกน้ำมันแล้ว โดยจะเห็นได้ชัดจากการแข่งขันด้านราคา ซึ่งสุดท้ายแล้วผู้บริโภคจะได้ประโยชน์

เวิลด์แก๊สขยายปั๊มสวนทาง

อย่างไรก็ตาม แม้ภาพรวมตลาดก๊าซ LPG ในภาคขนส่งจะซบเซา แต่กลุ่มผู้ค้าก๊าซ LPG รายใหญ่กลับยังลงทุนขยายสถานีบริการอย่างต่อเนื่อง โดยกรมธุรกิจพลังงานรายงานจำนวนสถานีบริการก๊าซ LPG ในช่วงไตรมาส 3 ของปี 2560 นี้ พบว่าบริษัท ดับบลิวพี เอ็นเนอร์ยี จำกัด (มหาชน) เจ้าของแบรนด์ “เวิลด์แก๊ส” มีสถานีบริการมาเป็นอันดับ 1 รวม 514 แห่ง รองลงมา คือ บริษัทสยามแก๊สฯ 450 แห่ง, บริษัทยูนิคแก๊ส 130 แห่ง และบริษัททาคูนิ 127 แห่ง “สวนทาง” กับผู้ค้าก๊าซ LPG รายเล็กที่ไม่พบว่ามีการลงทุนเพื่อขยายสถานีบริการ อย่างเช่น บริษัทแสงทองอุตสาหกรรมถังแก๊ส มีสถานีบริการเพียง 20 แห่ง บริษัทเอ็นเอสแก๊ส
แอลพีจี 23 แห่งเท่านั้น

นายนพวงศ์ โอมาธิกุล ผู้อำนวยการฝ่ายบัญชีและการเงิน บริษัท ดับบลิวพี เอนเนอร์ยี จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า จำนวนสถานีบริการก๊าซ LPG ของบริษัทที่เพิ่มขึ้นมาเป็นอันดับ 1 รวม 514 แห่งนั้นเป็นการลงทุนขยายของผู้แทนจำหน่ายหรือดีลเลอร์ทั้งหมด เนื่องจากมองว่าสถานการณ์ราคาน้ำมันในตลาดโลกกำลังปรับตัวขึ้น ส่งผลให้ผู้แทนจำหน่ายภายใต้แบรนด์เวิลด์แก๊สต่างขยายล่วงหน้าเอาไว้เพื่อรองรับความต้องการใช้ก๊าซ LPG ที่อาจจะเพิ่มขึ้นในอนาคต