ม.หอการค้าคาดจีดีพีปี 65 โต 4.2% หนุนคลายล็อกธุรกิจบริการ

ม.หอการค้า คาดปี’65 จีดีพีไทยโต 4.2% หนุนคลายล็อกธุรกิจบริการรับนทท. 5 ล้านคน

เปิดประเทศ-มาตรการกระตุ้นศก. เงินสะพัด 2.5 แสนล้าน ดันจีดีพี Q4 โต 2.1% ม.หอการค้า ฟันธงปี 65 เศรษฐกิจไทยโตต่อเนื่อง 4.2% คุมโควิด-ฉีดวัคซีนเปิดธุรกิจบริการ รับนักท่องเที่ยว 5 ล้านคน

วันที่ 18 พฤศจิกายน 2564 รศ.ดร.ธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจ เปิดเผยว่า มหาวิทยลัยหอการค้าฯ จัดทำข้อสมมติประกอบการพิจารณาวิเคราะห์ปี 2564 -2565 แยกเป็น 3 เคส คือ กรณีฐาน (Base) จากการเปิดเมืองและเปิดธุรกิจไม่ได้ทำให้จำนวนผู้ติดเชื้อสูงขึ้นจนเกินกว่าระบบสาธารณะสุขรองรับได้ จะทำให้จีดีพีปีนี้ขยายตัว 1.5% ปีหน้ามีโอกาสขยายตัว 4.2% เคสนี้มีโอกาสเกิดถึง 65%

กรณีที่แย่กว่า (Worse case) คือ จำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นในในบางพื้นที่ภายหลังจากการเปิดเมือง และเปิดธุรกิจ จนต้องใช้มาตรการควบคุมแบบเข้มงวด ซึ่งอาจจะทำให้จีดีพีปีนี้ขยายตัวได้ 1.3% ปีหน้าถ้าคนติดเชื้อยังสูง หรือราคาน้ำมันแพงมาก จีดีพีปีหน้าอาจจะลดลง 3.6%

หรือกรณีที่ดีกว่า Better case คือรัฐบาลออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมในช่วงปลายปี 2564 ใช้วงเงิน 30,000-  40,000 ล้านบาท ซึ่งอาจจะทำให้จีดีพีปีนี้ขยายตัวได้ถึง 1.7% และปีหน้าขยายตัวเพิ่มไปถึง 4.5%”

“ปีนี้มีโอกาสที่จีดีพีจะเติบโตตามกรอบ 1.5% ภายหลังจากเมื่อมีการเปิดประเทศ และการใช้มาตรการต่างๆช่วยเติมเม็ดเงินพิเศษเข้ามาในเศรษฐกิจ 2.5 -3.0  แสนล้านบาท ซึ่งมาจากรายได้เม็ดเงินจากการเปิดประเทศซึ่งนับให้ตั้งแต่ ต.ค.-ธ.ค. ประมาณ 130,000-150,000 ล้านบาท จากนักท่องเที่ยว 2 แสนคน การเติมมาตรการคนละครึ่งเฟส 3 อีก 45,000 ล้านบาท และมาตรการอื่นๆ เพิ่มเติมที่รัฐบาลช่วยอีก 50,000-90,000 ล้านบาท

หักลบผลกระทบจากน้ำท่วม 44 จังหวัด เสียหายประมาณ 22,401 ล้านบาท ทั้งหมดนี้จะช่วยให้เศรษฐกิจไทยในไตรมาส 4 /2564 ขยายตัว 2.1% จากกรอบประมาณการณ์ 2-3% ซึ่งอาจเรียกว่าปีนี้ประเทศไทยผ่านจุดต่ำสุดมาแล้ว สะท้อนจากดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 นับจากันยายน – ตุลาคม

เช่นเดียวกับดัชนีความเชื่อมั่นภาคธุรกิจต่างชาติ ดัชนีความเชื่อมั่นโมเดิร์นเทรด ซึ่งเป็นผลจากการคลายมาตรการล็อกดาวน์ เปิดประเทศและมีการจัดกิจกรรมทางเศรษฐกิจ และไทยสามารถควบคุมการแพร่ระบาดการติดเชื้อลดลงต่อเนื่อง และการฉีดวัคซีนเร็วขึ้น”

อย่างไรก็ตาม จากที่มีการประชุมร่วมกับประธานหอการค้าภูมิภาค และจัดทำการสำรวจความเห็นทางออนไลน์ 350 ตัวอย่างวานนี้ กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ยังมองว่าเศรษฐกิจไทยขณะนี้ยังไม่ฟื้นตัว และน่าจะเริ่มฟื้นตัวตั้งแต่ไตรมาส 2 ปี 2565 เป็นต้นไป

นั่นสะท้อนว่า ภาพเศรษฐกิจมหาภาคฟื้น เห็นผลในธุรกิจขนาดใหญ่ แต่ยังไม่ไปถึงระดับภูมิภาค แม้ว่าจะมีการเปิดประเทศแต่ก็เปดเฉพาะพื้นที่สีฟ้า 4 จังหวัดซึ่งเอสเอ็มอียังเข้าไม่ถึงโอกาสทางธุรกิจ ฉะนั้นไตรมาส 4 ประโยชน์จากการเปิดประเทศจะไม่โดดเด่น และปัญหาหนี้ครัวเรือนกำลังเป็นปัญหาใหญ่ในปี 2565

สำหรับข้อเสนอที่ภาครัฐควรเร่งดำเนินการ 6 เรื่องคือ 1)การควบคุมการแพร่ระบาดและการเร่งกระจายวัคซีนให้เป็นไปตามเป้าหมาย 2)การเปิดดำเนินการธุรกิจ โดยเฉพาะธุรกิจบริการ โดยเฉพาะธุรกิจกลางคืนควรเปิดให้ได้ในปีหน้า เพราะจะมีนักท่องเที่ยวมาถึง 5 ล้านคน 3) การดูแลธุรกิจเอสเอ็มอีที่กำลังมีปัญหาสภาพคล่อง โดยการจัดหาซอฟต์โลนมาช่วยเพื่อให้เข้าถึงแหล่งเงินทุน

4) การดูแลระดับราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศ ไม่ให้หลุดในระดับ 30 บาทต่อลิตรซึ่งทางหอการค้าเชื่อว่ารัฐบาลมีมาตรการดูแลต่อเนื่องไปถึงไตรมาส 1 ปีหน้า อย่างไรก็ตามรัฐบาลควรดูแลไม่ให้น้ำมันทะลุ 35 บาทต่อลิตรไปจนกว่าเศรษฐกิจจะฟื้น

5) การใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ทั้งโครงการคนละครึ่งควรขยายวงเงินเพิ่มอีกรายละ 3,000 บาท ซึ่งทำให้มีเม็ดเงินในระบบเศรษฐกิจ 90,000 ล้านบาท โครงการช็อปดีมีคืนควรขยายระยะเวลาไปจนถึงช่วงเทศกาลตรุษจีน และการผลักดันให้องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น องค์การบริหารส่วนตำบลต่างๆ เร่งการใช้งบประมาณ และ 6) การวางรากฐานเพื่ออนาคต โดยการผลักดันการลงทุนในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC)

นายวิเชียร แก้วสมบัติ ผู้ช่วยผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยรายละเอียดข้อมูลการประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2564-2565 ว่า ผลจากการเปิดเมือง 1 พ.ย. 2564 ทำให้มีเม็ดเงินจับจ่ายเพิ่มขึ้นสะพัดวันละ 2,200 ล้าน หรือประมาณ 66,000 ล้านบาทต่อเดือนรวม 2 เดือน ประมาณ 1.32 แสนล้านบาท

ส่งผลให้จีดีพีขยับขึ้น 0.83% คาดการณ์ว่าไตรมาส 4 จีดีพีจะขยายตัว 2.1% จากกรอบ 2-3% ส่งผลให้ทั้งปี 2564 ขยายตัว 1.5% ส่วนในปี 2565 คาดว่าจะขยายตัว 4.2% พระเอกคือการส่งออก จะขยายตัว 5.4% จากปีนี้ที่คาดว่าจะขยายตัว 16.5% และการลงทุนภาครัฐ 7.1% จากปีนี้ 6.0%

ทั้งนี้ หากพิจารณาตามรายสาขา พบว่า จีดีพี ภาคเกษตรช่วยขับเคลื่อนจีดีพี 3.3% จากปีนี้ 2.7% จากปัจจัยบวกภาวะฝนดีทำให้ผลผลิตดี และราคาน้ำมันทำให้ราคาสินค้าเกษตรทดแทนน้ำมันมีราคาสูงขึ้นดี ขณะที่ภาคอุตสาหกรรม ปีนี้ 5.5%  ลดลงเล็กน้อยปีหน้า 3.4% และที่สำคัญภาคบริการที่เคยติดลบ 0.7% ในปีนี้มีโอกาสจะปรับเพิ่มขึ้นเป็น 3.7% ในปีหน้า

สำหรับปัจจัยบวกต่อเศรษฐกิจในปีหน้าจากจำนวนการฉีดวัคซีน ดีกว่าเป้าหมายคาดว่าจะครบ 70% ในเดือนธันวาคม 2564 และจำนวนผู้ติดเชื้อลดลงอย่างต่อเนื่อง การประกาศเปิดประเทศและผ่อนคลายการทำธุรกิจให้เศรษฐกิจฟื้นตัวได้เร็วขึ้น ภาคการผลิตและภาคบริการทั่วโลกมีแนวโน้มฟื้นตัวภายหลังจากการคลายล็อกดาวน์ ภาครัฐมีการออกมาตรการเยียวยา กระตุ้น และฟื้นฟูเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง การลงทุนของภาครัฐเร่งตัวดีขึ้น และความเสี่ยงจากสถานการภัยแล้งและฝนทิ้งช่วงปี 2565 มีแนวโน้มลดลง

ส่วนปัจจัยลบที่ยังต้องติดตาม มีเรื่องการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ยืดเยื้อและยาวนานทำให้เกิดแผลเป็นทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะเรื่องหนี้ครัวเรือนที่อาจใช้เวลา 5 ปีในการแก้ไขปัญหา ธนาคารกลางของประเทศมีแนวโน้มปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย เศรษฐกิจจีนมีความไม่แน่นอนเพิ่มขึ้น จากวิกฤตพลังงาน ราคาน้ำมันปรับตัวสูงขึ้น และปัญหาในภาคอสังหาริมทรัพย์

ปัญหาการขาดแคลนชิปส่งผลต่อห่วงโซ่การผลิตสินค้า การขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ และความไม่แน่นอนของความตึงเครียดระหว่างสหรัฐและจีนที่แม้ว่าจะมีการประชุมกันแต่ไม่มีการออกมาแถลงการณ์ร่วม

ทั้งนี้ ข้อสมุมติฐานในการพิจารณาประมาณการเศรษฐกิจคำนวนจาก 1)ปริมาณการค้าโลกปี 2565 คาดว่าจะมีปริมาณ 6.7% จากปีนี้ 9.7% จีดีพีโลก ปี 2565 ขยายตัว 4.9% จากปีนี้คาดว่าจะขยายตัว 5.9% 2) จำนวนท่องเที่ยวต่างชาติ 5 ล้านคน จากปีนี้ที่มีจำนวน 2 แสนคน

3)อัตราแลกเปลี่ยนที่ 32.65 บาทต่อเหรียญสหรัฐจากปีนี้ 31.85 บาทต่อเหรียญสหรัฐ 4) ราคาน้ำมันดิบในตลาดดูไบ 75.8 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรลจากปีนี้ 67.2 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล 5) รายจ่ายภาคสาธารณะจาก 3.06 ล้านล้านบาทจากปีนี้ 2.94 ล้านล้านบาท 6) อัตราดอกเบี้ยนโยบายคงที่ 0.50%