กยท.ยันไม่ปรับขึ้นเงินเซสส์ ค่าธรรมเนียมผู้ส่งออกยาง ย้ำคงอัตราเดิม 2 บาท

กยท.แจงผู้ไม่หวังดี ปล่อยข่าว กยท. จะปรับขึ้นอัตราค่าธรรมเนียมที่ผู้ส่งออกนอกราชอาณาจักรต้องชำระ หรือเงินเซสส์ (Cess) ย้ำคงเดิมที่อัตรา 2 บาทต่อกิโลกรัม

วันที่ 19 พฤศจิกายน 2564 นายณกรณ์ ตรรกวิรพัท ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) กล่าวว่า ยืนยันว่า การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) ไม่มีการปรับขึ้นค่าธรรมเนียมผู้ส่งออกตามกระเเสข่าว เนื่องจาก กยท. ไม่มีอำนาจในการปรับขึ้นค่าธรรมเนียม เพราะจะต้องผ่านการเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี ซึ่งปัจจุบันอัตราค่าธรรมเนียมการส่งออกยางออกนอกราชอาณาจักรคงเดิมที่อัตรา 2 บาทต่อกิโลกรัมตามประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เรื่อง กำหนดอัตราค่าธรรมเนียมที่ผู้ส่งยางออกนอกราชอาณาจักรต้องชำระ ประกาศเมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2560

ณกรณ์ ตรรกวิรพัท
ณกรณ์ ตรรกวิรพัท

รายงานข่าวระบุ ปัจจุบันการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) จัดเก็บเงินค่าธรรมเนียมส่งออก (CESS) ที่เก็บในอัตราตายตัวที่ กก.ละ 2 บาทได้ปีละประมาณ 6,000-7,000 ล้านบาท โดยเงินที่เก็บได้นี้จะแบ่งออกเป็น 6 กองด้วยกัน คือ กองที่ 1 ค่าบริหารจัดการของ กยท.ตามมาตรา 49 (1) พ.ร.บ.การยางแห่งประเทศไทยไม่เกินร้อยละ 10 หลังจากมีการตั้ง กยท.ที่รวม 3 องค์กรเข้าด้วยกัน

คือ สถาบันวิจัยยาง, กองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง และองค์การสวนยาง ปรากฏมีเงินประเดิมตั้งต้นในการบริหารจัดการประมาณ 4,000 ล้านบาท แต่ในอนาคตอันใกล้อาจเกิดปัญหาเพราะเงิน CESS ที่เก็บได้ในแต่ละปีจะแบ่งมาอยู่ในกองนี้ปีละประมาณ 600-700 ล้านบาทเท่านั้นเมื่อรวมกับเงินประเดิมตั้งต้น 4,000 ล้านบาท คาดว่าจะไม่เพียงพอเนื่องจาก กยท.มีพนักงานในสังกัดสูงถึง 4,000 คน

กองที่ 2 เงินสนับสนุนส่งเสริมการปลูกยางพาราใหม่ทดแทนยางพาราที่มีอายุมากตามมาตรา 49 (2) ไม่เกินร้อยละ 40 ปัจจุบัน กยท.ได้ตั้งเป้าโค่นยางปีละ 400,000 ไร่ จ่ายเงินทดแทนให้ชาวสวนที่โค่นไร่ละ 16,000 บาท 3) เงินส่งเสริมสนับสนุนชาวสวนยาง สถาบันเกษตรกร ผู้ประกอบกิจการยางไม่เกินร้อยละ 35 ตามมาตรา 49

กองที่ 3 เพื่อการส่งเสริม สนับสนุน และให้ความช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนยาง สถาบันเกษตรกรชาวสวนยางและผู้ประกอบกิจการยาง คือมีวัตถุประสงค์เพื่อให้เกษตรกรชาวสวนยางกู้ยืมเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายสำหรับประกอบอาชีพการทำสวนยางในด้านการปรับปรุงคุณภาพผลผลิต การผลิต การแปรรูป และให้สถาบันเกษตรกรชาวสวนยางและผู้ประกอบกิจการยางกู้ยืมเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายสำหรับการปรับปรุงคุณภาพผลผลิต การผลิต การแปรรูป การตลาด และอุตสาหกรรมแปรรูปยางขั้นต้นอุตสาหกรรมการผลิตผลิตภัณฑ์ยาง อุตสาหกรรมไม้ยาง และการดำเนินการอื่นที่เกี่ยวข้องกับยางพารา รวมถึงการรวบรวมผลผลิต

กองที่ 4 เงินสนับสนุนด้านวิชาการ การวิจัยและพัฒนายาง กองที่ 5 เงินสวัสดิการแก่ชาวสวนยางไม่เกินร้อยละ 7 ตามมาตรา 49 (5) เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการจัดสวัสดิการเพื่อเกษตรกรชาวสวนยาง จะต้องตรงตามหลักเกณฑ์คุณสมบัติการขอรับความช่วยเหลือของเกษตรกรชาวสวนยาง

กรณีสวนยางประสบภัย จะต้องเป็นเกษตรกรชาวสวนยางที่สวนยางประสบภัยจนเสียสภาพสวนยาง ที่ดินสวนยางที่ประสบภัย ต้องมีกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองโดยชอบด้วยกฎหมาย เกษตรกรที่ต้องการขอรับความช่วยเหลือจะต้องแจ้งขอรับความช่วยเหลือต่อพนักงานที่ปฏิบัติงานอยู่ในพื้นที่ที่เกิดภัยพิบัติภายใน 15 วัน นับจากวันที่ประสบภัยหรือนับจากวันที่เหตุพิบัติภัยนั้นได้สิ้นสุดลงแล้วแต่กรณี

และกองที่ 6 เงินส่งเสริม สนับสนุนสถาบันเกษตรกรชาวสวนยางไม่เกินร้อยละ 3 ตามมาตรา 49 (6) เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการส่งเสริมและสนับสนุนสถาบันเกษตรกรชาวสวนยาง โดยมีวัตถุประสงค์การให้เงินกองทุนพัฒนายางพาราเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการส่งเสริมและสนับสนุนสถาบันเกษตรกรชาวสวนยาง ได้แก่ ค่าใช้จ่ายในการจัดประชุมเกษตรกรชาวสวนยาง