ผัก-ผลไม้จีนติดล็อกด่านลาว ต่อลมหายใจ “ตลาดไท”

ผักผลไม้จีนขนผ่านรถไฟจีน-ลาวชะงัก นำร่องทดลองเข้าไทยได้แค่ 33 ตู้ ด่าน สปป.ลาวไม่พร้อม ต่อลมหายใจพ่อค้า-แม่ค้าตลาดไทชั่วคราว ข่าวร้ายลาวเร่งแผนสร้างทางรถไฟเชื่อมท่าหวุ่นอ๊าง ในเวียดนามกลายเป็นโครงข่ายโลจิสติกส์ 3 ประเทศให้ลาวมีทางออกทะเลเพิ่ม ไม่ต้องพึ่งท่าเรือแหลมฉบัง

การเปิดให้บริการรถไฟความเร็วสูงจีน-ลาว (เวียงจันทน์-คุนหมิง) กว่าครึ่งเดือนที่ผ่านมา พร้อมกับการทะลักเข้ามาของผักผลไม้-ไม้ตัดดอกจากจีนผ่าน สปป.ลาว เข้าสู่ประเทศไทยภายในระยะเวลาอันรวดเร็ว ได้แสดงให้เห็นถึง “ศักยภาพ” ในการขนส่งสินค้าผ่านแดนช่องทางใหม่

จากเดิมที่จะต้องขนส่งผ่านเส้นทางรถยนต์หรือทางแม่น้ำโขงเพียงอย่างเดียว โดยปรากฏการณ์สินค้าผักจากคุนหมิงมาถึง “ตลาดไท” ด้วยการใช้เวลาไม่เกิน 2 วัน ได้สร้างความกังวลให้กับเกษตรกรไทย รวมถึงผู้ประกอบการ หากจะใช้เส้นทางรถไฟจีน-ลาวขนส่งสินค้าประเภทอื่น ๆ ข้ามแดนเข้ามาด้วย

ล่าสุดมีรายงานเข้ามาว่า สปป.ลาวเริ่มที่จะวางแผนก่อสร้างทางรถไฟเชื่อมต่อไปยังท่าเรือในเวียดนามเพื่อขยายเส้นทางออกทะเล จากเดิมที่จะต้องพึ่งพาท่าเรือแหลมฉบังแห่งเดียว จนกลายเป็นระบบโครงข่ายโลจิสติกส์เชื่อมโยงจีน-ลาว-เวียดนามที่จะเกิดขึ้นในอนาคต จะส่งผลกระทบต่อการค้าไทยในที่สุด

ขนผักล่าช้าด่านลาวติดขัด

“ประชาชาติธุรกิจ” ส่งทีมลงพื้นที่ “ตลาดไท” ซึ่งเป็นตลาดศูนย์กลางการค้าส่ง-ค้าปลีกผักสดและผลไม้ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทยที่จังหวัดปทุมธานี โดยพ่อค้า-แม่ค้าหลายรายกล่าวตรงกันว่า หลังจากรถไฟจีน-ลาวเปิดให้บริการ มีแนวโน้มในอนาคตจะมีผัก-ผลไม้จากจีนทะลักเข้ามาในประเทศไทยแน่นอน และจะส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการผักผลไม้ไทยในอนาคต

นายประหยัด เจริญ เจ้าของร้านผักสดสันกำแพง ร้านขายผักเมืองหนาวในตลาดไท กล่าวว่า โดยปกติตลาดผักในตลาดไทจะมีมาจากทั้งในประเทศและต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นจีน-เวียดนาม แบ่งออกเป็นโซนตามความต้องการของผู้บริโภค

โดยผักเมืองหนาวส่วนใหญ่มักจะมาจากประเทศจีนเป็นหลัก แต่ในช่วง 1-2 เดือนที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน การนำเข้าผักจากจีนราคาพุ่งสูงเกือบเท่าตัว เช่น บล็อกโคลีจากราคา 60 บาท/กก. พุ่งขึ้นเป็น 170 บาท/กก., ผักกาดแก้วปกติราคา 60-70 บาท/กก. เป็น 160 บาท/กก., ผักสลัดราคาปกติ 80-90 บาท/กก. ราคาเพิ่มขึ้นเป็น 100 บาท/กก. แต่ผักบางประเภทอย่างเห็ดเข็มทอง-เห็นออรินจิ กลับมีราคาถูกลงอยู่ที่ 50 บาท/กก.

“แต่ตอนนี้ผักจีนที่เข้ามามีต้นทุนค่อนข้างสูงจากค่าขนส่ง แม้จะมีการนำเข้าผักผ่านทางรถไฟจีน-ลาวที่ช่วยร่นระยะเวลาการเดินทางไม่เกิน 3 วัน แต่เกิดความล่าช้าที่ด่านฝั่งลาว จากใช้เวลาไม่เกิน 3 วันกลายเป็น 10-15 วัน ทำให้ผักจีนแพงขึ้น” นายประหยัดกล่าว

ประกอบกับผักเมืองหนาวของประเทศไทยมีผลผลิตค่อนข้างน้อย ทั้งยังปลูกได้น้อยตามสภาพภูมิอากาศของประเทศ ทำให้ต้องอาศัยผลผลิตผักจีน ดังนั้นแนวโน้มในอนาคตคาดว่าผักจีนจะเข้ามาตีตลาดไทย มากขึ้นอย่างแน่นอน

ส่วนแม่ค้าแผงผักพื้นบ้าน กล่าวว่า ผักไทยส่วนใหญ่จะมีราคาตามฤดูกาล ยกขายเป็นถุง 15-20 กก.แล้วแต่ประเภทผักแต่ละชนิด ล้วนมาจากในประเทศทั้งหมด เช่น ราชบุรี, กำแพงเพชร, เชียงใหม่ อย่างพริกเฉลี่ยราคา 50-120 บาท/กิโลกรัม ก็มีราคาใกล้เคียงกันตามเกรด “ตอนนี้ยังไม่เห็นผลผลิตจากต่างประเทศเข้ามาในโซนผักพื้นบ้านเท่าไหร่”

ผลไม้จีนครองตลาดช่วงเทศกาล

ด้านพ่อค้าร้านขายหัวหอมรายใหญ่ กล่าวว่า สถานการณ์โดยภาพรวมตลอดปีที่ผ่านมาถึงปัจจุบัน “ยังคงไม่เปลี่ยนแปลงมากนัก” ตลาดหัวหอมในตลาดไทจะมีผลผลิตจากจีนเข้ามาทุกปี โดยเฉพาะช่วงฤดูกาลที่สินค้าไทยขาดตลาด อย่างหัวหอมใหญ่จะอยู่ที่ 35 บาท/กก. หอมแดง 45 บาท/กก. ราคาทั้งหอมไทยและจีนจะไม่ต่างกันมากนัก เมื่อถึงฤดูกาลหากมีสินค้าไทยสินค้าจากจีนก็จะเข้ามาน้อย

สำหรับตลาดผลไม้ ผู้ประกอบการค้าร้านเฉลิมชัย แอปเปิล ผลไม้ และผลไม้ต่างประเทศทุกชนิด กล่าวว่า ตลาดผลไม้ต่างประเทศค่อนข้างคึกคัก ช่วงนี้มีผลไม้จีนทะลักเข้ามาในไทยเป็นจำนวนมาก ทั้งยังตรงกับช่วงเทศกาลปีใหม่พอดี รวมถึงอยู่ในช่วงรอยต่อเดือนกุมภาพันธ์ที่เป็นช่วงเทศกาลตรุษจีนด้วย

“ผลไม้ที่ขายดีในช่วงนี้คือ ส้ม เนื่องจากมีการตีแบรนด์มาจากต้นทาง ลูกค้าส่วนใหญ่จึงให้ความสนใจซื้อไปรับประทาน สินค้าค่อนข้างขาดตลาด ส่วนผลไม้ชนิดอื่นก็มีเข้ามาให้เลือกซื้อกันอย่างคึกคักยิ่งช่วงนี้รถไฟจีน-ลาวเปิดให้บริการ คาดว่าในอนาคตจะส่งผลกระทบต่อประเทศไทยมาก เพราะพืชผัก ผลไม้ จะทะลักเข้ามาในประเทศเป็นจำนวนมาก ด้วยราคาก็ไม่ต่างกันกับผลไม้ไทยเลย พ่อค้าแม่ค้าคนจีนที่อยู่ในไทยก็ค่อนข้างเยอะ การสวมสิทธิเป็นผลไม้ไทยเพื่อการส่งออกก็น่าจะเพิ่มมากขึ้น และจะส่งผลกระทบให้ตลาดผลไม้ไทยแย่ลง”

จีนแค่ทดลองนำเข้า 33 ตู้

พ.ต.อ.ณรัชต์พล เลิศรัชตะปภัสร์ นายด่านศุลกากรหนองคาย กล่าวว่า หลังจากมีการเปิดให้บริการรถไฟจีน-ลาวอย่างเป็นทางการปรากฏ มีการทดลองนำเข้าผักผ่านทางรถไฟสายนี้เมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2564 จำนวน 33 ตู้คอนเทนเนอร์ ซึ่งเป็นครั้งแรกและครั้งเดียวเท่านั้น

เพราะจนถึงวันนี้ยังไม่มีการนำเข้าผักและผลไม้ผ่านทางรถไฟเข้ามาอีก เนื่องจากสถานีรถไฟของจีนและ สปป.ลาวยังไม่มีความพร้อมในการให้บริการมากนัก ประกอบกับรูปแบบการขนส่งผักที่เข้ามาตามเส้นทางรถไฟจีน-ลาวยังไม่มีการเชื่อมต่อกับฝั่งไทย

ดังนั้นผักที่นำเข้ามาจะต้องลงรถไฟที่สถานีเวียงจันทน์ หลังจากนั้นจะนำขึ้นรถบรรทุกวิ่งข้ามด่านพรมแดนสะพานมิตรภาพไทย-ลาวแห่งที่ 1 อำเภอเมือง จังหวัดหนองคาย ส่วนวันที่ 15 ธันวาคม 2564 ที่ผ่านมาก็มีการนำเข้าดอกไม้ แต่มีปริมาณเพียงเล็กน้อยเท่านั้น

“เป็นความตื่นตระหนักและเข้าใจที่คลาดเคลื่อนกันมากกว่าว่า จะมีผักจากจีนทะลักเข้ามา เพราะตอนนี้ทดลองเข้ามาครั้งเดียว ยังไม่มีเข้ามาอีก สินค้าผักผลไม้ที่มาจากจีนเพื่อส่งไปที่ตลาดไทก็ยังไม่ได้รับแจ้งว่าจะมีการนำเข้ามา” พ.ต.อ.ณรัชต์พลกล่าว

ด้าน นายอภิวัฒน์ สุขพันธ์ ผู้อำนวยการสายงานบริหารพื้นที่ บริษัท ดอนเมืองพัฒนา จำกัด ผู้บริหารตลาดสี่มุมเมือง จังหวัดปทุมธานี กล่าวว่า ที่ผ่านมาตลาดสี่มุมเมืองจะนำเข้าเฉพาะผักจากจีน ซึ่งปัจจุบันเท่าที่ติดตามตัวเลขนำเข้าก็ยังมีปริมาณปกติประมาณวันละ 30 ตู้คอนเทนเนอร์ ด้านภาวะราคาก็ยังปกติเมื่อเทียบกับช่วงที่ผ่านมา

แผนเชื่อมท่าเรือเวียดนาม

ดร.จตุรงค์ บุนนาค ประธานสภาธุรกิจไทย-ลาว กล่าวว่า รัฐบาล สปป.ลาวกำลังพัฒนาระบบสาธารณูปโภคฝั่ง “ท่าบก-ท่านาแล้ง” ซึ่งอยู่ตรงข้ามกับจังหวัดหนองคายอย่างมาก โดยเฉพาะการเตรียมขยายเส้นทางรถไฟเชื่อมต่อรถไฟจีน-ลาวจากสถานีท่านาแล้ง (เวียงจันทน์) ไปสู่ “ท่าเรือหวุ่นอ๊าง”ประเทศเวียดนาม เพื่อเพิ่มช่องทางการส่งออกสินค้าทางทะเล จากเดิมที่สินค้าจากลาวจะต้องพึ่งพาการส่งผ่านมายังท่าเรือแหลมฉบัง เพื่อหาทางไปออกทะเล

“ตอนนี้ลาวได้ทำบันทึกความเข้าใจ (MOU) เพื่อศึกษาความเป็นไปได้ในการก่อสร้างทางรถไฟไปยังเวียดนาม ซึ่งคาดว่าจะสามารถเริ่มก่อสร้างได้ในปี 2568 แต่ถ้าจีนร่วมลงทุนในเส้นทางนี้ด้วยก็จะเร็วขึ้น”

ในขณะที่ยังไม่มีทางรถไฟก็สามารถใช้รถบรรทุกขนส่งเพื่อไปลงเรือทางด้านเวียดนามได้ แม้ตอนนี้ท่าเรือหวุ่นอ๊างสร้างเสร็จแล้ว แต่ก็ยังไม่เท่ากับที่แหลมฉบัง แต่การส่งผ่านท่าเรือนี้จะช่วยเปิดเส้นทางขนสินค้าไปยังตลาดญี่ปุ่น-อินโดนีเซีย-สหรัฐได้ จากปัจจุบันใช้เป็นเส้นทางการขนส่งแร่โพแทช

ไทยขาดดุล 6,000 ล้านบาท

ด้าน รศ.ดร.อัทธ์ พิศาลวานิช ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวเพิ่มเติมว่า หลังจากรถไฟจีน-ลาวเริ่มใช้เต็มรูปแบบในปี 2565 ประเทศไทยมีโอกาสจะ “ขาดดุลการค้ากับจีน” มากขึ้น ประมาณปีละ 6,000 ล้านบาท จากปกติที่ส่งออกไปจีนเฉลี่ย 13,000 ล้านบาท และนำเข้า 19,000 ล้านบาท และมีแนวโน้มที่ไทยจะขาดดุลให้กับญี่ปุ่น-เวียดนามมากขึ้นอีก หลังจากความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจภูมิภาค (RCEP) มีผลบังคับใช้ปี 2565 อีกด้วย

อย่างไรก็ตาม ในอีก 1-2 ปีนี้ จีนได้วางเป้าให้ลาวเป็น “ศูนย์กลางการผลิตสินค้าในอาเซียน” เพื่อส่งออกไปขายทั่วโลก เพราะการเชื่อมต่อเส้นทางโลจิสติกส์จากจีนไปลาว และเชื่อมต่อไปท่าเรือหวุ่นอ๊าง จังหวัดฮ่างติง ประเทศเวียดนาม

รวมถึงการเชื่อมต่อเส้นทางรถไฟจากลาวใต้ไปยังกัมพูชาอีกเส้นหนึ่งที่จะสร้างใน 4-5 ปีข้างหน้า ทำให้เกิดได้เปรียบซึ่งจะมีผลต่อการตัดสินใจของนักลงทุนที่จะเข้าไปใช้ประโยชน์ในเส้นทางนี้และใช้วัตถุดิบจากลาวในการผลิต โดยเฉพาะการลงทุนในด้านโลจิสติกส์จะเข้าไปก่อน

ตามด้วยเกษตรแปรรูปเพื่อใช้วัตถุดิบลาวแปรรูปในเขตเศรษฐกิจพิเศษ (SEZ) ซึ่งขณะนี้นักลงทุนจีนขยายการลงทุนเข้าไปในลาวมากเป็นอันดับ 1 ส่วนไทยเป็นอันดับ 2 แต่ในอนาคตมีแนวโน้มว่านักลงทุนจากเวียดนามจะเข้าไปลงทุนในลาวมากขึ้นจนแซงหน้านักลงทุนไทยในที่สุด

“การใช้เส้นทางรถไฟจะทำให้ต้นทุนการขนส่งเฉลี่ย กก.ละ 3 บาท เทียบกับการขนส่งทางเรือ กก.ละ 22-25 บาท และการขนส่งรถบรรทุก กก.ละ 26-29 บาท ทั้งยังใช้ระยะเวลาสั้นกว่ามากเพียงไม่ถึง 2 วันเท่านั้น” รศ.ดร.อัทธ์กล่าว

บายพาสผ่านประเทศไทย

นายเกรียงไกร เธียรนุกูล รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า การพัฒนาเส้นทางรถไฟจีน-ลาวจะเป็นไปตามนโยบายเส้นทางสายไหม BRI ของจีน ที่จะนำสินค้าจีนขยายตลาดไปยังต่างประเทศ ซึ่งจะมีผลต่อการตัดสินใจลงทุนของนักลงทุนแน่นอน

เพราะไม่ใช่แค่จะมีเส้นทางโลจิสติกส์ที่สะดวก แต่การตั้งฐานการผลิตสินค้าที่ลาวจะให้ “แต้มต่อ” ด้านสิทธิประโยชน์ในด้านภาษี โดยเฉพาะการส่งออกไปยังสหภาพยุโรป ซึ่ง สปป.ลาวยังได้รับสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร (GSP) ขณะที่ไทยถูกตัด GSP ไปนานแล้ว และลาวยังมีวัตถุดิบ-ค่าแรงงานขั้นต่ำที่ถูกกว่า

หากลาวมีการเชื่อมโยงการผลิตกับเวียดนามก็จะยิ่งทวีความได้เปรียบ เพราะเวียดนามมีข้อตกลงเขตการค้าเสรีจำนวนมากถึง 53 ประเทศ ขณะที่ไทยมี FTA กับประเทศต่าง ๆ เพียง 17-18 ประเทศเท่านั้น

“การค้าชายแดนจากลาวมาไทยแต่ละปีสูงมาก เพราะพ่วงการนำเข้า-ส่งออกสินค้าที่ผ่านแดนมาจากเวียดนามเข้ามาด้วย แต่พอมีเส้นทางโลจิสติกส์เชื่อมจีน-ลาว-เวียดนาม เขาอาจจะบายพาสข้ามประเทศไทยไปเลย ส่วนการลงทุนก็เช่นกันเมื่อไม่ได้ผ่านไทยก็ไม่ได้เข้ามาลงทุน  เพราะไทยไม่ได้อยู่ในจุดที่เป็นฮับ เส้นทางรถไฟจีน-ลาว-เวียดนาม จะเป็นการลดทอนความสำคัญของไทยลง ประเด็นนี้ ส.อ.ท.ก็จะหยิบยกไปหารือในที่ประชุมคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนด้านการพาณิชย์ในรอบต่อไปประมาณปลายเดือนนี้” นายเกรียงไกรกล่าว