รัฐมนตรีเกษตร โต้ปิดข่าวหมูติดโรคระบาด AFS

“เฉลิมชัย” รัฐมนตรีเกษตรฯ พูดแล้ว โต้ปกปิดข่าวหมู ASF ที่ผ่านมาปศุสัตว์ทำงานหนักลุยตรวจยันเศษอาหารในบ้าน โรงแรม ลั่นอีกไม่นานไทยจะเป็นชาติแรกของโลกที่ผลิตวัคซีนป้องกัน

วันที่ 12 มกราคม 2565 นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า ภายหลังกรมปศุสัตว์มีการสุ่มตรวจพบเชื้ออหิวาห์อาฟริกาในสุกร 1 ตัวอย่าง ที่จังหวัดนครปฐม จึงได้สั่งการให้มีการประชุมคณะทำงานด้านวิชาการและด้านโรคติดต่อ โรคระบาดเพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริง

เมื่อสรุปตรงกันว่า มีเชื้อในประเทศไทย ก็มีการรายงานไปยังองค์การโรคระบาดสัตว์ระหว่างประเทศ (World Organization for Animal Health หรือ Office International des Epizooties; OIE) เพื่อแจ้งให้ประเทศสมาชิกทราบต่อไป โดยดำเนินการเป็นไปตามกระบวนการปกติของการพบโรคระบาด

ทั้งนี้ ที่ผ่านมากรมปศุสัตว์ มีการป้องกันอย่างดีเยี่ยม ปี 2563 – 2564 เกษตรกรรายเล็ก รายใหญ่ เกษตรกรผู้เลี้ยงหมู ได้ดำเนินการป้องกัน ASF อย่างดีเยี่ยม อยากให้ทุกคนกลับไปดูเรื่องนี้บ้าง อย่าลืมเรื่องนี้ ระยะหลังๆ ที่เข้มงวดขึ้น จนมีกลุ่มพ่อค้าบอกเราเข้มงวดเกินไป แม้กระทั่ง OIE เองก็มีหนังสือถึงกรมปศุสัตว์ว่ามีมาตรการดีเยี่ยมในการป้องกัน

“ไม่มีใครปิดบังการระบาด เพราะไม่เกิดประโยชน์กับใคร การตรวจพบเชื้อ ต้องเป็นไปตามมาตรฐานทางการแพทย์ที่ยอมรับกัน ปศุสัตว์ทำงานร่วมกับหลายหน่วยงาน เจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบตั้งแต่สนามบิน ตรวจด่านทุกด่าน ตรวจทุกเส้นทาง ดำเนินการตรวจกระทั่งในเศษอาหาร ที่ได้จากโรงแรม บ้านเรือนใประชาชน ที่จะเอา เศษอาหารที่เลี้ยงหมู เพื่อป้องกันไม่ให้โรคระบาดเข้าไทย มีการประชุมคณะกรรมการที่มีทุกภาคส่วนร่วมทำงานกันมาตลอด”

อย่างไรก็ตาม การแพร่ระบาดของ ASF ในโลกนี้มีมามากกว่า 100 ปี ไม่สามารถมียา หรือวัคซีนในการรักษา แต่กระทรวงเกษตรฯ โดยกรมปศุสัตว์ ได้หารือกันในกรมปศุสัตว์ และร่วมกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อคิดค้น วิจัย ผลิตวัคซีนสำหรับป้องกัน ASF เชื่อว่าอีกไม่นานไทยจะเป็นประเทศแรกที่มีวัคซีน ASF

สำหรับการดำเนินการหลังตรวจพบโรคในประเทศแล้ว กรมปศุสัตว์จะดำเนินการประกาศเขตโรคระบาด และควบคุมการขนย้ายในรัศมี 5 กิโลเมตร รอบจุดที่พบโรค และจะพิจารณาทำลายสุกรที่มีเหตุอันสมควรให้สงสัยว่าเป็นโรค

หรือมีความเชื่อมโยงทางระบาดวิทยากับฟาร์มที่เป็นโรค พร้อมจ่ายค่าชดเชยราคาสุกรที่ถูกทำลาย หลังคณะรัฐมนตรีได้อนุมัติงบกลาง จำนวน 570 ล้านบาท เมื่อวันที่ 11 มกราคม 2565 ที่ผ่านมา โดยกระทรวงเกษตรฯ จะจ่ายเงินชดเชยให้กับเกษตรกรรายเล็กและรายย่อยเท่านั้น เนื่องจากเป็นการดูแลเกษตรกรที่ต้นทุนน้อย และไม่มีความพร้อมในการดูแลฟาร์ม

นอกจากนี้ การดำเนินงานในพื้นที่อื่น ๆ ที่ไม่อยู่ในรัศมีการควบคุมโรค การเคลื่อนย้ายสุกรทุกวัตถุประสงค์จะต้องได้รับอนุญาตจากสัตวแพทย์ โดยคำนึงถึงเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรให้ได้รับผลกระทบน้อยที่สุด รวมถึงการขออนุญาตนำสุกรเข้ามาเลี้ยงต้องได้รับการอนุญาตจากเจ้าหน้าที่กรมปศุสัตว์ ซึ่งทุกการปฏิบัติต้องดำเนินการอย่างเคร่งครัด ทั้งนี้ กระทรวงเกษตรฯ มีความห่วงใยต่อผู้เลี้ยงสุกรรายย่อย โดยจะเร่งรัดการช่วยเหลือในทุกด้านต่อไป

โรคระบาดหมู ASF เสียหาย 5.5 หมื่นล้าน ส่งออกป่วน-วืดเบอร์ 1 อาเซียน
ถอดบทเรียนเวียดนาม แก้โรค ASF ระบาด อย่างไร?
อธิบดีปศุสัตว์ยอมรับเป็นทางการครั้งแรก พบโรค ASF ในหมู