ราคาน้ำมันโลก ทุบส่งออกปี”61 โตแค่ 5%

สภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย หรือสภาผู้ส่งออกฯ หรือ สรท. รายงานข้อมูลการส่งออกเดือนตุลาคม 2560 มีมูลค่า 20,083 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 13.1% ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

เนื่องจากการส่งออกของไทยได้รับอานิสงส์จากการขยายตัวดีขึ้นของการค้าระหว่างประเทศ สถานการณ์ด้านเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าหลัก อาทิ สหรัฐ จีน สหภาพยุโรป กลุ่มเอเชียใต้ ออสเตรเลีย ละตินอเมริกา ที่พลิกกลับมาเติบโตในช่วงไตรมาส 4 รวมถึงการฟื้นตัวของราคาสินค้าโภคภัณฑ์สำคัญ อาทิ น้ำมันสำเร็จรูป เม็ดพลาสติก เหล็ก ยางพาราและผลิตภัณฑ์ จากปัจจัยบวกดังกล่าวคาดว่าการส่งออกของไทยปีนี้จะขยายตัวได้ไม่ต่ำกว่า 8.5-9% จากเดิมที่คาดการณ์ไว้ 8%

นางสาวกัณญภัค ตันติพิพัฒน์พงศ์ ประธานสภาผู้ส่งออก มองว่า ปัญหาจากความผันผวนอัตราแลกเปลี่ยนไทยที่แข็งค่าสวนทางกับประเทศเพื่อนบ้าน จากอัตรา 33 บาทต่อเหรียญสหรัฐ อยู่ที่ 32.67 บาทต่อเหรียญสหรัฐ และมีแนวโน้มจะแข็งค่าขึ้นต่อเนื่องนั้น เป็นอุปสรรคสำคัญต่อการแข่งขันการส่งออก

ประเด็นที่ห่วง คือ หากในห้วง2 เดือน ค่าเงินยังคงอัตรานี้ ทั้งปี 2560 จะส่งออก 4% มูลค่า 7.88 ล้านล้านบาท ทำให้รายได้ของไทยหายไป 3.5 แสนล้านบาท ดังนั้นจึงอยากให้รัฐบาลโดยเฉพาะธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เร่งดูแลค่าเงินบาทให้มีเสถียรภาพลดความผันผวนค่าเงิน

สำหรับคาดการณ์การส่งออกในปี 2561 ทางสภาผู้ส่งออกฯ คาดว่าการส่งออกจะขยายตัว 5% ถือว่าชะลอลงจากปีนี้ เพราะผลกระทบจากราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่ผันผวนและความไม่มีเสถียรภาพทางการเมืองของกลุ่มประเทศตะวันออกกลาง และกลุ่มประเทศผู้ผลิตน้ำมัน ซึ่งอาจส่งผลต่อราคาและปริมาณการส่งออกสินค้าเกษตรของไทยในปี 2561

ทั้งยังต้องติดตามปัจจัยลบจากมาตรการปฏิรูปภาษีและการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐ ว่าส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทิศทางของเงินทุนเคลื่อนย้ายที่มีโอกาสที่จะไหลกลับสู่ตลาดสหรัฐและส่งผลต่อทิศทางค่าเงินบาทในอนาคตอย่างไร การขาดแคลนแรงงานเฉพาะทางที่มีคุณภาพในประเทศ เพื่อรองรับการทำงานร่วมกับเครื่องจักรและเทคโนโลยีที่ทันสมัยมากขึ้น และความตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียน-จีนที่อาจจะส่งผลกระทบต่อการส่งออกของไทยไปยังตลาดอาเซียน

พร้อมกันนี้ ทางสภาผู้ส่งออกฯ ได้มี 6 ข้อเสนอแนะต่อภาครัฐ คือ 1) กำกับดูแลค่าเงินบาทให้มีเสถียรภาพไม่แข็งค่าสูงกว่าคู่ค้าและคู่แข่งสำคัญ 2) ส่งเสริมเอสเอ็มอีทุกมิติ ระหว่างเอสเอ็มอี และผู้ประกอบการรายใหญ่ 3) รัฐบาลควรส่งเสริมภาคอุตสาหกรรมโดยยกระดับสถาบันวิชาชีพอิเล็กทรอนิกส์ขั้นสูง เพื่อตอบโจทย์นโยบายไทยแลนด์ 4.0

4) ส่งเสริมการทำวิจัยและพัฒนาภาคเกษตรและอุตสาหกรรมการเกษตร เพื่อเพิ่มมูลค่าสินค้าและพัฒนาคุณภาพสินค้า 5) รัฐบาลควรมุ่งให้ความสำคัญกับเรื่องการอำนวยความสะดวกทางการค้า เพื่อลดปัญหาอุปสรรค และต้นทุน และเร่งผลักดันการค้าข้ามพรมแดน Cross Border e-Trading และ 6) รัฐบาลควรเปิดโอกาสให้ภาคเอกชนมีส่วนร่วมในการกำหนดหลักเกณฑ์ปฏิบัติที่สอดคล้องกับการดำเนินงานของภาคธุรกิจ