เปิดฉาก RCEP เดือนแรกฉลุย เอกชนแห่ส่งทูน่าบุกตลาดญี่ปุ่น-ทุเรียนจีน

ทูน่าทุเรียน

เปิดฉาก RCEP แค่ 1 เดือนแรก โกย 285 ล้านบาท เอกชนลุยส่งออก 2 ตลาดหลัก “ทูน่าญี่ปุ่น-ทุเรียนไปจีน” สุดฮิต ภาษี 0% ทะลวงข้อจำกัดการสะสมแหล่งกำเนิดสินค้า 15 ประเทศ ช่วยซัพพลายเชนหมุนเวียนการผลิตดี “กรมการค้าต่างประเทศ” กางแผนคิกออฟสัมมนาหนุนผู้ประกอบการใช้สิทธิเพิ่ม

นายพิทักษ์ อุดมวิชัยวัฒน์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า เมื่อวันที่ 1 มกราคม 2565 หลังจากไทยเริ่มบังคับใช้ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) ระหว่างไทยร่วมกับ 14 ประเทศ พบว่ามีผู้เข้ามาขอใช้สิทธิเพื่อลดภาษีส่งออกจากข้อตกลงนี้แล้ว รวมมูลค่า 8.52 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 285 ล้านบาท

โดยเป็นการส่งออกไปยังประเทศญี่ปุ่นมากที่สุด สำหรับสินค้าที่ส่งออกไปญี่ปุ่น เช่น ปลา สิ่งทอ ปลาทูน่า ปลาปรุงแต่ง ส่วนตลาดอันดับ 2 ในกลุ่ม RCEP ที่ใช้สิทธิส่งออกไป คือ จีน มูลค่า 73 ล้านบาท สินค้าที่ส่งออกไปมากที่สุด คือ ทุเรียน ลำไย มะพร้าว ซึ่งเป็นกลุ่มผลไม้สด และบางรายการสินค้าที่ไทยส่งออกไปก็มีการลดภาษีต่ำกว่ารายการอื่น

“การลดภาษีตามความตกลงสามารถดำเนินการ 2 รูปแบบ คือ การใช้สิทธิด้วยหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า หรือ form RCEP และการรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าด้วยตัวเอง หรือ self declaration โดยตัวผู้ส่งออกเอง ซึ่งเราพบว่าในเดือนมกราคม 2565 มีผู้ส่งออกมาขึ้นทะเบียน 19 ราย ในกลุ่มเครื่องประดับ อาหารสำเร็จรูป เครื่องใช้ไฟฟ้า และเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่ม ซึ่งกรมจะส่งเสริมให้เอกชนมาใช้สิทธิประโยชน์ด้านภาษีภายใต้ RCEP ให้มากขึ้น เพราะความตกลงนี้ไม่เพียงจะลดภาษี 0% แต่สิ่งที่เอกชนจะได้มากยิ่งขึ้นไปอีกคือ เรื่องการสะสมถิ่นกำเนิดสินค้าที่สามารถใช้วัตถุดิบได้จากประเทศ 14 ประเทศมากกว่าเดิมที่ทำไว้ระหว่างอาเซียนบวก 1”

นายพิทักษ์กล่าวว่า ในเร็ว ๆ นี้ กรมเตรียมจัดสัมมนาส่งเสริมการสร้างความรู้ความเข้าใจให้เอกชนในการใช้ประโยชน์ RCEP มากขึ้น โดยจะจัดทั้งในกรุงเทพฯและกระจายไปยังจังหวัดต่าง ๆ ตามหัวเมืองสำคัญ ภายในงานได้จัดให้มีที่ปรึกษาคอยให้คำแนะนำผู้ประกอบการที่มีปัญหาเรื่องการส่งออกและการใช้สิทธิประโยชน์ และยังได้ประสานไปยังสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ หรือทูตพาณิชย์ และพาณิชย์จังหวัดให้เข้าร่วมสัมมนาครั้งนี้ด้วย เพื่อแสดงให้เอกชนเห็นถึงประโยชน์ของข้อตกลงนี้

โดยเฉพาะเรื่องการใช้แหล่งกำเนิดสินค้าชุดเดียวกันทั้งหมด ซึ่งหากเป็นข้อตกลงอื่นจะมีแหล่งกำเนิดสินค้าแต่ละชุดออกไป เช่น ข้อตกลงอาเซียน-จีน ข้อตกลงอาเซียน-ญี่ปุ่น หากจะส่งในข้อตกลงอื่น ๆ ก็จะมีแหล่งกำเนิดถิ่นสินค้าที่ต่างกันออกไป เมื่อผู้ประกอบการผลิตสินค้าเพื่อจะส่งออกแต่ละข้อตกลงก็จะแตกต่างกันออกไป

แต่การที่มีข้อตกลง RCEP ทำให้สามารถใช้กฎว่าด้วยแหล่งกำเนิดสินค้าเป็นชุดเดียวกัน มีการจัดทำกฎเฉพาะรายสินค้า และอำนวยความสะดวกให้กับผู้ประกอบการสะดวกในการสะสมแหล่งกำหนดสินค้า สามารถซื้อวัตถุดิบในแต่ประเทศมาผลิตคิดรวมกันได้ช่วยการคำนวณแหล่งถิ่นกำเนิดได้มากขึ้น ถือเป็นการต่อยอดสายการผลิตและขยายมูลค่าเพิ่มของห่วงโซ่อุปทานระดับภูมิภาค

สำหรับการใช้สิทธิประโยชน์การลดภาษีนั้น ทางผู้ประกอบการสามารถพิจารณาเลือกใช้สิทธิในกรอบที่ให้ประโยชน์มากที่สุด ซึ่งเบื้องต้นได้ให้เจ้าหน้าที่จัดทำข้อมูลเปรียบเทียบสิทธิประโยชน์ในแต่ละความตกลง เช่น ข้อตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่น (JTEPA) ข้อตกลงเอฟทีเออาเซียน-ญี่ปุ่น และ RCEP ว่ากรอบใดให้สิทธิประโยชน์แตกต่างกันอย่างไร ข้อตกลงใดดีสำหรับสินค้าใด

ซึ่งเราพบว่าเดิมการใช้ JTEPA ให้สิทธิประโยชน์ประมาณ 80% แต่หากเป็นข้อตกลง FTA อาเซียน-ญี่ปุ่น ใช้สิทธิประโยชน์ไม่ถึง 20% เทียบกันแล้วการทำความตกลงแบบทวิภาคีจะให้สิทธิประโยชน์ในการลดภาษีมากกว่า แต่ถ้าถ้าเทียบเรื่องแหล่งกำเนิดสินค้าแล้วความตกลง RCEP ให้สะสมแหล่งกำเนิดสินค้ามากกว่า

ขณะที่เกาหลีใต้ให้สิทธิลดภาษีสินค้าไทยใน RCEP มากกว่าในเอฟทีเออาเซียน-เกาหลี 413 รายการ เช่น ผักและผลไม้ เนยแข็ง แชมพู แป้งที่ทำจากรากหรือหัวของพืช พลาสติกและเคมีภัณฑ์ และเครื่องยนต์และส่วนประกอบ เป็นต้น

และจีนให้สิทธิประโยชน์ใน RCEP กับไทยมากกว่าในเอฟทีเออาเซียน-จีน ถึง 33 รายการ เช่น พริกไทย สับปะรดแปรรูป น้ำมะพร้าว โพลิเอทิลีน เครื่องยนต์ดีเซล และกระดาษ เป็นต้น ส่วนญี่ปุ่นลดภาษีเพิ่มให้กับไทย 207 สินค้า เช่น สินค้าประมง ผลไม้และลูกนัดปรุงแต่ง น้ำมันถั่วเหลืองและน้ำผลไม้ผสม เป็นต้น

ในส่วนของไทย เปิดตลาดให้คู่ค้า RCEP เพิ่มขึ้น เช่นกัน เช่น เปิดตลาดให้สินค้าเกาหลีใต้ 456 รายการ เช่น ชิ้นส่วนยานยนต์ ปลาสดแช่เย็นแช่แข็ง ชิ้นส่วนอุปกรณ์ไฟฟ้า ผลิตภัณฑ์ที่ทำด้วยเหล็ก, สินค้าจีน 59 รายการ เช่น เมล็ดพืช หินทรายและหินอื่น ๆ ที่ใช้ในการก่อสร้าง กระดาษหนังสือพิมพ์ และญี่ปุ่น 10 รายการ ชิ้นส่วนยานยนต์

พร้อมกันนี้ ความตกลง RCEP ยังช่วยให้ลดขึ้นพิธีการศุลกากร เช่น กำหนดให้มีการตรวจปล่อยสินค้าให้แล้วเสร็จใน 48 ชั่วโมง และให้ตรวจปล่อยสินค้าที่เน่าเสียง่าย ภายใน 6 ชั่วโมงทันทีที่สินค้าส่งถึง

รายงานข่าวระบุว่า ในส่วนการเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการเปิดเขตการค้าเสรีนั้น เดิมกรมการค้าต่างประเทศได้รับงบประมาณสนับสนุนกองทุนเอฟทีเอ แต่ภายหลังจากที่มีการแพร่ระบาดของโควิดทำให้ไม่ได้รับการจัดสรรมา 2 ปีแล้ว จากเดิมในอดีตกองทุน FTA เคยได้รับการจัดสรรประมาณปีละหลัก 100 ล้านบาท แล้วค่อยลดและระยะหลังถูกพิจารณาจัดสรรงบฯให้ประมาณ 50 ล้านบาทกระทั่งถูกตัดงบฯไป

และล่าสุดกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศอยู่ระหว่างการผลักดันการยกร่างกฎหมาย พ.ร.บ.กองทุนเอฟทีเอขึ้นมา โดยอยู่ระหว่างการพิจารณาในส่วนของกรมบัญชีกลาง คาดว่าจะเสนอเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีพิจารณาต่อไป