ดีเซลลด 2 บาท ยังไม่พอ สหพันธ์ฯ รถบรรทุกขึ้นค่าขนส่ง 20%

สัมภาษณ์พิเศษ

นับเป็นเวลา 4 เดือนเศษที่สหพันธ์การขนส่งทางบกแห่งประเทศไทยนำสมาชิกรวมตัวเรียกร้องการแก้ไขปัญหาราคาน้ำมัน ซึ่งแม้ว่าล่าสุดคณะรัฐมนตรี (ครม.) จะพิจารณาอนุมัติให้ปรับลดภาษีสรรพาสามิตน้ำมันดีเซล 3 บาทต่อลิตรไปเมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมาแล้วก็ตาม

แต่สิ่งนั้นยังไม่สามารถบรรเทาความเดือดร้อนของสมาชิกรถบรรทุก 4 แสนคันได้ “ประชาชาติธุรกิจ” สัมภาษณ์พิเศษ “อภิชาติ ไพรรุ่งเรือง” ประธานสหพันธ์ถึงแนวทางการดำเนินการหลังจากนี้ที่จะมีการประกาศปรับขึ้นราคาค่าโดยสาร

Q : มติ ครม.ลดภาษีดีเซลแล้ว

ตอนแรกที่ฟังมติ ครม.ให้ลดภาษีดีเซล 3 บาท เราเข้าใจว่าจะมีผลให้ลดราคาน้ำมันลง 3 บาทต่อลิตร แต่มันไม่ใช่ เพราะเงินดังกล่าวจะถูกแบ่งไปใช้หนี้กองทุนน้ำมันฯ และนำมาลดราคาดีเซลลงบ้างแต่ไม่มากนัก ทางเราจะประชุมกันในวันที่ 19-20 กุมภาพันธ์นี้ เพื่อกำหนดแนวทางดำเนินการร่วมกัน แต่คงไม่ใช่การยื่นข้อเรียกร้องอะไรต่อรัฐบาลอีกแล้ว เพราะตอนนี้หมดเวลาแล้ว เรายื่นมา 3-4 ครั้ง ถ้าไม่ซัพพอร์ตให้เราพร้อมดำเนินการตามมาตรการที่ประกาศไว้ก่อนหน้านี้ คือ การปรับขึ้นราคาค่าขนส่ง ต่อไปหากรัฐบาลจะปล่อยลอยตัวราคาน้ำมัน เราก็จะพร้อมที่จะลอยตัวค่าขนส่งเช่นกัน

Q : ปรับขึ้นค่าขนส่งเท่าไร

ตอนนี้สรุปกันว่าจะปรับขึ้น 15-20% มีผลทันทีทั่วประเทศ เพราะเราเรียกร้องไป 3-4 ครั้งจากการจัดกิจกรรม Truck Power ซึ่งเป็นการดำเนินการเคลื่อนไหวภายใต้กฎหมาย และเราผ่อนปรนข้อเสนอจากตอนแรกที่เรียกร้องขอให้ตรึงดีเซล ลิตรละ 25 บาท เมื่อเรื่องเข้าสู่ที่ประชุม กบง. เราขอตรึง 28 บาท แต่ผ่านมา 4 เดือน รัฐบาลยืนยันที่ 30 บาท และมีสถานีบริการที่ให้ความร่วมมือเฉพาะสถานีบริการน้ำมัน 2 แบรนด์ (บางจากและ ปตท.) ส่วนปั๊มน้ำมันอื่นของต่างประเทศไม่อยู่ในอำนาจที่รัฐจะไปกำกับดูแล เขาก็ขยับขึ้นเป็น 32-33 บาทต่อลิตร ทางรถบรรทุกก็เลือกใช้แบรนด์ที่ราคาต่ำสุด

Q : ประเมินผลกระทบจากต้นทุนดีเซล

ตอนนี้สมาชิกสหพันธ์มีรถบรรทุกประมาณ 4 แสนคันที่เดือดร้อน เพราะต้นทุนน้ำมันที่แท้จริงที่จะอยู่ได้ คือ ลิตรละ 25 บาท เป็นจุดคุ้มทุน ที่เราขอคือ 27-28 บาท แต่ตอนนี้ 30 บาท ซึ่งต้องยอมรับว่ามีสมาชิกที่ไม่สามารถแบกรับต้นทุนได้ก็มีผ่อนรถ ผ่อนไม่ไหวก็มีการคืนรถบรรทุกไปแล้วนับร้อยคัน และไม่รู้จะเดือดร้อนเพิ่มอีกมากน้อยเพียงใด

Advertisment

อีกเรื่องที่เราขอคือ เรื่องไบโอดีเซล เพราะราคาน้ำมันต้นทุนที่ 20 กว่าบาทต่อลิตร แต่ตอนนี้ราคาไบโอดีเซลไปที่ 51 บาทต่อลิตร ไม่เข้าใจว่าทำไมต้องเอาของแพงมาผสมของถูก หากยกเลิกการผสมไบโอจะทำให้ราคาน้ำมันลดลง 2-3 บาท แต่ตอนนี้มันเหมือนกับเอาประชาชนที่ใช้รถ 50-60 ล้านคนไปอุ้มชาวสวนที่มีประมาณล้านครอบครัว ถ้าเว้นไปก่อนจะดีหรือไม่

Q : เอฟเฟ็กต์ต่อต้นทุนการผลิตสินค้า

ประเด็นนี้เราเข้าใจจึงไม่ได้ปรับขึ้นราคาตั้งแต่แรก ทั้งที่ทำได้ เพราะรู้ว่าน้ำมันดีเซลมันไม่ใช่มิติเดียว แต่เกี่ยวข้องกับราคาสินค้า แต่ต้องยอมรับว่าตอนนี้ราคาค่าขนส่งไม่ขึ้นแต่ราคาสินค้าขึ้นไปรอแล้ว พอต้นทุนค่าขนส่งมากผลที่ออกมาคือมันจะกระทบเพิ่มอีก 4-5 ต่อ ตั้งแต่การขนส่งออกจากโรงงานไปโกดังและไปที่่ค้าปลีกเป็นทอด ๆ แต่รัฐบาลไม่สนใจ เทียบกับการดูแลราคาน้ำมันอื่น เช่น น้ำมันเครื่องบิน (JET) ที่รัฐปรับลดภาษีสรรพสามิตให้ 7.44 บาท จนเหลือ 20 สตางค์ต่อลิตร ทั้งที่ของเราเกี่ยวข้องกับคนมากกว่า และลดมาแล้ว 3 บาทก็ไม่ได้เอามาซัพพอร์ตเรา จนถึงตอนนี้เราคิดว่าถ้ารัฐจะลอยตัวน้ำมันก็ลอยตัวไปเลยแล้วกัน เราก็จะลอยตัวค่าโดยสาร เพราะสะท้อนปัญหาไปแล้ว 3-4 ครั้ง

Q : ร่วมกับกลุ่มแท็กซี่หรือไม่

ไม่ การปรับราคาเฉพาะสหพันธ์การขนส่งฯเท่านั้น เพราะทางแท็กซี่จะมีต้นทุนเชื้อเพลิงอื่นที่แตกต่างกัน เช่น บางคันใช้ NGV บางคันใช้ LNG ทางเขาจะไปดูตามต้นทุนของเขา

และอีกอย่างที่อยากฝากไปด้วยคือ ตอนนี้คนใช้น้ำมันเบนซินก็เริ่มจะเดือดร้อนแล้ว ราคาขึ้นไป 30-40 บาท เงินเดือนคนทำงานไม่กี่หมื่นบาทพอจ่ายค่าน้ำมันหรือไม่ ทำไมประชาชนไม่ออกมาเรียกร้องยกตัวอย่างเช่นในกรุงเทพฯมีรถ 10 ล้านคัน ใช้เบนซิน รองจากดีเซล การตรึงดีเซลแต่ไม่ตรึงเบนซินจะกระทบประชาชนลำดับต่อไป ตอนนี้ปริมาณการใช้น้ำมัน 160 ล้านลิตรต่อวันเป็นดีเซล 60-70 ล้านลิตร รองลงมาคือเบนซิน

Advertisment

ท้ายที่สุด “นายอภิชาติ” ให้มุมมอง “เรื่องโครงสร้างราคาที่เรายังใช้ราคาน้ำมันดิบสิงคโปร์ ซึ่งเราไม่ได้ผลิตจากตรงนั้น หากเราใช้ตรงนั้นเป็นต้นทางมันมีค่าใช้จ่ายค่าระวาง และอินชัวรันซ์ด้วยเป็นกลไกราคาที่ย้อนแย้ง รัฐบาลควรปรับ”