เฉลิมชัยรุกเปิดตลาด UAE ดันส่งออกสินค้าเกษตร อาหาร

เฉลิมชัย จับมือ UAE ดันส่งเสริมการผลิตสินค้าเกษตรและอาหาร มุ่งสู่มาตรฐานและความปลอดภัยระดับสูง พร้อมชงกรมปศุสัตว์เป็นหน่วยงานหลักในการขึ้นทะเบียนรับรองโรงงานแปรรูปไก่ ก่อนส่งออก

วันที่ 9 มีนาคม 2565 นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ หารือด้านความร่วมมือด้านการเกษตร ร่วมกับ ดร. ธานี บิน อาเหม็ด อัล เซยูดี (H.E. Dr. Thani bin Ahmed Al Zeyoudi) รัฐมนตรีด้านการค้าระหว่างประเทศแห่งสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ณ กระทรวงเศรษฐกิจแห่งสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เมืองดูไบ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (UAE)

โดยได้มีการหารือในเรื่องการส่งเสริมการค้าสินค้าเกษตรและอาหาร ซึ่งทั้งสองฝ่ายมีมูลค่าประมาณ 303 ล้านเหรียญสหรัฐ/ปี (หรือประมาณ 10,029 ล้านบาท ณ อัตราแลกเปลี่ยนธนาคารแห่งประเทศไทย วันที่ 8 มีนาคม 2565 โดย 1 เหรียญสหรัฐ = 33.10 บาท) และมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยร้อยละ 4.6 ซึ่งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์มุ่งหวังให้มีการผลักดัน/ส่งเสริมการค้าสินค้าเกษตรและอาหารระหว่างกันให้มากยิ่งขึ้น

อย่างไรก็ตาม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์พร้อมที่จะร่วมมือและสนับสนุน UAE ให้บรรลุวัตถุประสงค์ในการเป็นประเทศที่มีความมั่นคงทางอาหาร ซึ่งวิสัยทัศของ UAE นั้น มุ่งมั่นจะเป็นประเทศที่มีความมั่นคงทางอาหารภายในปี 2051 โดยการนำเทคโนโลยี นวัตกรรม และองค์ความรู้ด้านการเกษตร รวมถึงการลงทุนในประเทศอื่น ๆ และการนำเข้าสินค้าเกษตรและอาหารจากประเทศคู่ค้าที่สำคัญ ซึ่งประเทศไทยเป็นประเทศผู้ผลิตสินค้าเกษตรและอาหารที่มีคุณภาพมาตรฐานและความปลอดภัยสูง มีการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมต่าง ๆ มาใช้ตลอดห่วงโซ่การผลิต

จึงมุ่งหวังว่าทั้งสองฝ่ายจะสามารถผลักดันให้มีกลไกความร่วมมือด้านการเกษตรระหว่างกัน ตลอดจนส่งเสริมให้เกิดความร่วมมือด้านการลงทุนด้านการเกษตรของภาคเอกชนระหว่างทั้งสองประเทศ

นอกจากนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ยังหารือถึงการรับรองให้กรมปศุสัตว์เป็นหน่วยงานหลักในการขึ้นทะเบียนรับรองโรงงานแปรรูปไก่ (system approach) เพื่อการส่งออกไปยัง UAE แทนการส่งเจ้าหน้าที่ไปตรวจสอบรับรองเป็นรายโรงงาน เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของ Covid-19 ส่งผลให้การเดินทางมีความยากลำบาก โดยระบบนี้จะทำให้เกิดความสะดวกและประโยชน์ต่อทั้งสองฝ่าย

ปัจจุบันการรับรองดังกล่าว กรมปศุสัตว์ของไทยได้การรับรองจากหลายประเทศแล้ว เช่น EU ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ เป็นต้น

ทั้งนี้ ภาพรวมการค้าสินค้าเกษตร สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์เป็นประเทศคู่ค้าสินค้าเกษตรอันดับที่ 27 ของไทย ในระหว่างปี 2562-2564 มีสัดส่วนการค้าสินค้าเกษตรร้อยละ 0.53 ของมูลค่าการค้าสินค้าเกษตรของไทยกับโลกโดยในปี 2562 มีมูลค่าการค้าสินค้าเกษตร 9,554 ล้านบาทแต่ในปี 2563 มีมูลค่าลดลงเหลือ 8,638 ล้านบาทและในปี 2564 มีมูลค่าเพิ่มขึ้นเป็น 10,462 ล้านบาท คิดเป็นมูลค่าการค้าสินค้าเกษตรเฉลี่ยปีละ 9,551 ล้านบาท โดยมีอัตราการค้าเพิ่มขึ้นเฉลี่ยปีละ 4.64 ต่อปี ทั้งนี้ ไทยเป็นฝ่ายได้เปรียบดุลการค้ากับสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์มาโดยตลอด

โดยด้านการส่งออกสินค้าเกษตร สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์เป็นตลาดส่งออกสินค้าเกษตรอันดับที่ 24 ของไทย ในระหว่างปี 2562 – 2564 ไทยมีสัดส่วนการส่งออกไปสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ร้อยละ 0.60 ของมูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตรไปโลก โดยในปี 2562 ไทยส่งออกไปสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์เป็นมูลค่า 7,468 ล้านบาท และในปี 2563 มีมูลค่าลดลงเหลือ 6,939 ล้านบาท

และเพิ่มขึ้นอีกครั้งในปี 2564 เป็น 8,487 ล้านบาท คิดเป็นมูลค่าการส่งออกเฉลี่ยปีละ 7,631 ล้านบาท โดยมีอัตราการส่งออกเพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 6.60 ต่อปี โดยมีสินค้าส่งออกสำคัญ 5 อันดับแรก ได้แก่ ปลาปรุงแต่ง เบียร์ที่ทำจากมอลต์ ข้าว สับปะรดปรุงแต่ง อาหารสุนัขหรือแมวสำหรับขายปลีก

สำหรับการนำเข้าสินค้าเกษตร ไทยนำเข้าสินค้าเกษตรจากสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์เป็นอันดับที่ 38 ของไทย ในระหว่างปี 2562 – 2564 ไทยมีสัดส่วนการนำเข้าจากสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ร้อยละ 0.36 ของมูลค่าการนำเข้าสินค้าเกษตรจากโลกโดยในปี 2562 ไทยนำเข้าจากสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์เป็นมูลค่า 2,086 ล้านบาท และในปี 2563 มีมูลค่าลดลงเหลือ 1,698 ล้านบาท และเพิ่มขึ้นอีกครั้งในปี 2560 เป็น 1,975 ล้านบาท คิดเป็นมูลค่าการนำเข้าเฉลี่ยปีละ 1,920 ล้านบาท มีอัตราการนำเข้าลดลงเฉลี่ยร้อยละ 2.68 ต่อปี

โดยมีสินค้านำเข้า 5 อันดับแรก ได้แก่ 1) กากน้ำมัน (ออยล์เค้ก) และกากแข็งอื่น ๆ ที่ได้จากการสกัดไขมันหรือน้ำมันพืช 2) บุหรี่ 3) แวฟเฟิลและเวเฟอร์ 4) ปลาอื่น ๆ แช่เย็นจนแข็ง เช่น ปลาอินเดียนแมคเคอเรล ปลาจะละเม็ดขาว 5) ไม้ต้น ไม้พุ่ม และไม้กอ ชนิดที่ให้ผลไม้หรือลูกนัตที่บริโภคได้ และมีภาพรวมการค้าสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรม สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์เป็นประเทศคู่ค้าอันดับที่ 13 ของไทย

โดยระหว่างปี 2562-2564 การค้ารวมระหว่างไทยกับสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์มีมูลค่าเฉลี่ยปีละ 311,182 ล้านบาท จำแนกเป็นมูลค่าการส่งออกเฉลี่ยปีละ 76,581 ล้านบาท และมูลค่าการนำเข้าเฉลี่ยปีละ 234,601 ล้านบาท โดยเป็นมูลค่าการค้าสินค้าเกษตรเฉลี่ยปีละ 9,551 ล้านบาทหรือคิดเป็นร้อยละ 3.07 ของมูลค่าการค้ารวมทุกสินค้า