ประวิตร ไฟเขียว 13 มาตรการฤดูฝน รับมือน้ำหลากปี’65

“ประวิตร” ไฟเขียว 13 มาตรการฤดูฝน รับมือน้ำหลากปี’65 เตรียมพร้อมบริหารจัดการน้ำในช่วงฤดูฝนให้เร็วขึ้น

วันที่ 11 มีนาคม พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะอนุกรรมการอำนวยการด้านการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ครั้งที่ 1/2565 ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ ว่า

การประชุมในครั้งนี้ ที่ประชุมได้มีมติเห็นชอบต่อร่างมาตรการรับมือฤดูฝน ปี 2565 จำนวนทั้งสิ้น 13 มาตรการ เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้มีการเตรียมความพร้อมบริหารจัดการน้ำในช่วงฤดูฝนให้เร็วยิ่งขึ้นและเกิดประสิทธิภาพสูงสุด ได้แก่

1.คาดการณ์ชี้เป้าพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมและฝนน้อยกว่าค่าปกติ 2.การบริหารจัดการน้ำพื้นที่ลุ่มต่ำเพื่อรองรับน้ำหลาก 3.ทบทวน ปรับปรุงเกณฑ์บริหารจัดการน้ำในแหล่งน้ำขนาดใหญ่-กลาง และเขื่อนระบายน้ำ 4.ซ่อมแซม ปรับปรุงอาคารชลศาสตร์/ระบบระบายน้ำสถานีโทรมาตรให้พร้อมใช้งาน 5.ปรับปรุง แก้ไขสิ่งกีดขวางทางน้ำ 6.ขุดลอกคูคลองและกำจัดผักตบชวา

7.เตรียมพร้อม/วางแผนเครื่องจักร เครื่องมือ ประจำพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมและฝนน้อยกว่าค่าปกติ 8.เพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำและปรับปรุงวิธีการส่งน้ำ 9.ตรวจความมั่นคงปลอดภัยคัน/ทำนบ/พนังกั้นน้ำ 10.จัดเตรียมพื้นที่อพยพและซักซ้อมแผนเผชิญเหตุ 11.ตั้งศูนย์ส่วนหน้าก่อนเกิดภัย 12.การสร้างการรับรู้และประชาสัมพันธ์ และ 13.ติดตามประเมินผลปรับมาตรการให้สอดคล้องกับสถานการณ์ภัย

โดยมอบหมายให้ สทนช. เป็นหน่วยงานบูรณาการโครงการเพิ่มประสิทธิภาพบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในช่วงฤดูฝน ปี 2565 และการเก็บกักน้ำเพื่อฤดูแล้ง ปี 2565/66 เสนอ กนช. และคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อขอรับการสนับสนุนงบประมาณ รวมทั้งมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดทำแผนปฏิบัติการให้สอดคล้องกับมาตรการดังกล่าวด้วย

พล.อ.ประวิตร กล่าวอีกว่า ขณะเดียวกัน ที่ประชุมยังได้เห็นชอบให้นำงานวิจัยการกำจัดผักตบชวา โดยใช้จุลินทรีย์ชีวภาพจากสารสกัดจากสมุนไพรธรรมชาติ ซึ่งไม่ส่งผลกระทบต่อคุณภาพน้ำและสัตว์น้ำ ของสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบังและสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย เพื่อนำมาทดลองปฏิบัติงานจริงในช่วงฤดูฝนนี้

ควบคู่กับการใช้เครื่องจักรกลในการกำจัดผักตบชวาเพื่อให้สามารถกำจัดสิ่งกีดขวางทางน้ำได้อย่างยั่งยืน โดยให้มีการกำหนดพื้นที่สำหรับทดลองเพื่อตรวจสอบประสิทธิภาพของการใช้สารสกัดสมุนไพรกำจัดผักตบชวา และมอบหมายให้ สทนช.เป็นเจ้าภาพร่วมกับกรมโยธาธิการและผังเมือง กรมชลประทาน กรมเจ้าท่า และองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ที่เกี่ยวข้องบูรณาการเชิงปฏิบัติการเพื่อทดสอบประสิทธิภาพการใช้งานจริงและรายงานผลการดำเนินการให้คณะอนุกรรมการฯทราบเป็นระยะต่อไป

ด้าน นายสุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) กล่าวเพิ่มเติมว่า ที่ประชุมมีมติเห็นชอบปฏิทินการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำฉบับปรับปรุง ซึ่งได้มีการทบทวนและปรับขั้นตอนของปฏิทิน รวมถึงปรับเปลี่ยนช่วงเวลาให้สอดคล้องกับสถานการณ์

ทั้งช่วงฤดูแล้ง (1 พฤศจิกายน– 30 เมษายน) และฤดูฝน (1 พฤษภาคม-31 ตุลาคม) และให้เสนอต่อ กนช. ในการประชุมครั้งที่ 1/2565 ในวันที่ 14 มีนาคม ที่จะถึงนี้ พร้อมมอบหมายให้ สทนช. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินงานตามปฏิทินการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ เพื่อเป็นกรอบแนวทางให้หน่วยงานร่วมกันบริหารจัดการทรัพยากรน้ำช่วงฤดูฝนและฤดูแล้งอย่างมีประสิทธิภาพและทันต่อสถานการณ์

นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า ปัจจุบัน (11 มี.ค.65) มีปริมาณน้ำในอ่างฯ รวมกันทั้งสิ้น 50,418 ล้าน ลบ.ม. (66% ของความจุอ่างฯ รวมกัน) เป็นน้ำใช้การได้ 26,480 ล้าน ลบ.ม. (51% ของความจุอ่างฯรวมกัน) มีการใช้น้ำไปแล้ว 15,382 ล้าน ลบ.ม. (69%) เฉพาะ 4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยา (เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์) มีปริมาณน้ำรวมกันทั้งสิ้น 11,776 ล้าน ลบ.ม. (47% ของความจุอ่างฯ รวมกัน) ปริมาณน้ำใช้การได้ 5,080 ล้าน ลบ.ม. (28% ของความจุอ่างฯ รวมกัน) จัดสรรน้ำไปแล้ว 4,316 ล้าน ลบ.ม. (76%) ส่วนผลการทำนาปรังในช่วงฤดูแล้งปี 2564/65 ทั้งประเทศมีการทำนาปรังไปแล้วกว่า 7.54 ล้านไร่ คิดเป็นร้อยละ 117.58 ของแผนฯ เฉพาะลุ่มน้ำเจ้าพระยา มีการเพาะปลูกข้าวนาปรังไปแล้วประมาณ 4.40 ล้านไร่ คิดเป็นร้อยละ 156.46 ของแผนฯ

ทั้งนี้ ได้กำชับให้โครงการชลประทานทั่วประเทศ ติดตามสภาพอากาศจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กรมอุตุนิยมวิทยา สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ(สสน.) อย่างใกล้ชิด นำมาวิเคราะห์ในการบริหารจัดการน้ำสอดคล้องกับสถานการณ์ โดยเน้นย้ำน้ำเพื่อการอุปโภค บริโภค ต้องไม่ขาดแคลน