TU เปิดตัวโครงการพัฒนาเรือประมง-แนวปฏิบัติด้านแรงงานบนเรือประมง “VCoC”

TU เปิดตัวโครงการพัฒนาเรือประมง และแนวปฏิบัติด้านแรงงานบนเรือประมง ‘VCoC’ ต่อยอดแนวปฏิบัติตามแนวทางข้อตกลงแห่งสหประชาชาติด้านสิทธิมนุษยชน-แรงงาน

ดร. แดเรี่ยน แมคเบน ผู้อำนวยการกลุ่มการพัฒนาที่ยั่งยืนของไทยยูเนี่ยน กล่าวว่า บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ TU เปิดตัวโครงการพัฒนาเรือประมง และแนวปฏิบัติด้านแรงงานบนเรือประมง หรือที่เรียกสั้นๆ ว่า VCoC เพื่อให้แนวทางที่ชัดเจนกับเรือประมงซึ่งจัดหาวัตถุดิบให้กับบริษัท และปรับปรุงการดำเนินงานด้านแรงงานและจริยธรรมในภาคประมง

“โครงการพัฒนาเรือประมงของไทยยูเนี่ยนและแนวปฏิบัติด้านแรงงานบนเรือประมง จะช่วยวางกรอบความคาดหวังของบริษัทในเรื่องแรงงาน และการปฏิบัติต่อแรงงานอย่างมีจริยธรรมจากเรือประมงที่อยู่ในห่วงโซ่อุปทานของเรา รวมทั้งมีเป้าหมายเพื่อส่งเสริมให้คู่ค้ามีส่วนร่วมในการปรับปรุงด้านแรงงานในภาคการประมง” ดร. แมคเบน กล่าว

สำหรับแนวปฏิบัติด้านแรงงานบนเรือประมงเป็นบริบทต่อยอดจาก จรรยาบรรณธุรกิจและแนวปฏิบัติด้านแรงงาน ของไทยยูเนี่ยน ซึ่งตั้งอยู่บนหลักการพื้นฐาน 12 ประการ โดยได้ถูกจัดทำขึ้นเพื่อส่งเสริมวัฒนธรรมความมีคุณธรรมและศีลธรรม และยังสอดคล้องกับข้อตกลงแห่งสหประชาชาติด้านหลักการของความรับผิดชอบพื้นฐานต่อมนุษย์ และการเคารพสิทธิของพวกเขา โดยจรรยาบรรณธุรกิจและแนวปฏิบัติด้านแรงงานเน้นไปที่การจ้างงานและการปฏิบัติต่อแรงงาน ซึ่งกำหนดแนวทางปฏิบัติด้านสวัสดิการแรงงาน สิทธิประโยชน์ ค่าแรง อายุ และสิทธิในการมีเสรีภาพในการเข้าร่วมสมาคมหรือกิจกรรม สิทธิในการต่อรอง และกรอบการดูแลเรื่องอาชีวอนามัยและความปลอดภัยที่ไม่สามารถต่อรองได้

ทั้งนี้ หลักการ 12 ข้อจะเป็นกรอบให้กับแนวปฏิบัติทั้งสองด้าน เพราะจะนำมาปรับใช้กับทุกส่วนของธุรกิจของไทยยูเนี่ยน อย่างไรก็ตาม รายละเอียดของแนวปฏิบัติ VCoC ได้รับการออกแบบมาเพื่อใช้กับเรือประมงโดยเฉพาะ ซึ่งจะสะท้อนถึงสภาพการทำงานบนเรือประมงที่จำเป็นต้องได้รับการพิจารณาเป็นพิเศษ

ดร.แมคเบน กล่าวว่า คู่ค้าทางธุรกิจของไทยยูเนี่ยนทั้งปัจจุบัน และรายใหม่ต้องลงนามในแนวปฏิบัติด้านแรงงานบนเรือประมงในการทำธุรกิจกับบริษัท ซึ่งเป็นการยืนยันว่า มีการดำเนินการตามแนวปฏิบัติ VCoC กับเรือประมงทั้งหมดในห่วงโซ่อุปทานของบริษัท

“ไทยยูเนี่ยน มีสิทธิ์ในการขอตรวจสอบการดำเนินงานตามแนวปฏิบัติ VCoC ของคู่ค้า ยกตัวอย่างเช่น การให้มีการตรวจสอบจากหน่วยงานภายนอก ในช่วงเวลาใดก็ได้ตลอดที่มีการดำเนินธุรกรรมทางธุรกิจ โดยไทยยูเนี่ยนจะมีโครงการตรวจสอบแนวปฏิบัตินี้เป็นประจำทุกปี”

นอกจากนั้น แนวปฏิบัติด้านแรงงานบนเรือประมงยังครอบคลุมถึงความมุ่งมั่นของคู่ค้าในการพัฒนาโครงการพัฒนาเรือประมง (Vessel Improvement Program: VIP) เพื่อให้เป็นไปตามข้อกำหนด และการจัดการในประเด็นต่างๆ ที่ไม่ปฏิบัติตามข้อกำหนดที่อยู่ในข่ายที่น่ากังวล แนวปฏิบัตินี้จะช่วยเพิ่มความโปร่งใสให้กับคู่ค้า รวมทั้งเป็นการแสดงความรับผิดชอบและแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น

โครงการพัฒนาเรือประมงและแนวปฏิบัติด้านแรงงานบนเรือประมง สอดคล้องกับ SeaChange® กลยุทธ์ความยั่งยืนของไทยยูเนี่ยน ไทยยูเนี่ยนวาง SeaChange® เป็นแนวทางที่ครอบคลุมทุกด้านของการทำธุรกิจอาหารทะเล นับตั้งแต่วิธีการที่บริษัทอนุรักษ์ท้องทะเล ไปจนถึงการบริหารจัดการของเสีย รวมถึงความรับผิดชอบที่ไทยยูเนี่ยนมีต่อพนักงานไปจนถึงการสร้างอนาคตที่ดีขึ้นให้กับชุมชนในพื้นที่ที่บริษัทมีการดำเนินการ

นอกจากนี้ แนวปฏิบัติ VCoC ได้ร่างขึ้นจากโครงการตรวจสอบเรือประมงที่มีอยู่ และเป็นส่วนขยายจากจรรยาบรรณธุรกิจและแนวปฏิบัติด้านแรงงาน อีกทั้งยังสนับสนุนพันธสัญญาที่ได้ให้คำมั่นไว้ในข้อตกลงกับองค์กรกรีนพีซในเดือนกรกฎาคม 2560

“ภารกิจของเราคือ การเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงเชิงบวกในธุรกิจอาหารทะเล เราจะยังคงเดินหน้าทำหน้าที่ของเราต่อไปในการส่งเสริมเรื่องสิทธิมนุษยชน และเรายังคงมุ่งมั่นที่จะส่งเสริมให้แรงงานทำงานอย่างปลอดภัยและถูกกฎหมาย รวมทั้งมีสิทธิเสรีภาพในการเลือกทำงาน” ดร. แดเรี่ยน กล่าว “การดำเนินการตามภารกิจนี้ ครอบคลุมไปถึงการบังคับใช้จรรยาบรรณธุรกิจและแนวปฏิบัติด้านแรงงานอย่างเข้มงวด และตอนนี้ เรามีแนวทางปฏิบัติด้านแรงงานบนเรือประมงเพิ่มขึ้นอีกฉบับหนึ่ง คู่ค้าที่ไม่สามารถปฏิบัติได้ตามมาตรฐานที่กำหนดไว้จะไม่สามารถคงสถานะการเป็นคู่ค้าให้กับไทยยูเนี่ยนได้”

อนึ่ง ผู้สนใจสามารถศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับแนวปฏิบัติด้านแรงงานบนเรือประมงได้ที่นี่: http://www.thaiunion.com/en/download/sustainability