สถาบันส่งเสริมศิลปหัตถกรรมไทย เตรียมลุย 3 ภารกิจเพิ่มรายได้หัตถกรรมไทย

ศิลปหัตกรรมไทย

“พรพล” กางแผนขับเคลื่อนสถาบันส่งเสริมศิลปหัตถกรรมไทย เตรียมลุย 3 ภารกิจหลัก สืบสาน สร้างสรรค์ และส่งเสริม และเพิ่มช่องทางการจำหน่ายแบบออนไลน์และออฟไลน์ พร้อมดึงศิลปิน ดารา มาช่วยโปรโมต ปลื้มปี ’65 องค์กรได้ประเมิน ITA ระดับ A

วันที่ 4 สิงหาคม 2565 นายพรพล เอกอรรถพร รักษาการแทนผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมศิลปหัตถกรรมไทย (sacit) เปิดเผยถึงแผนการขับเคลื่อนงานศิลปหัตถกรรมไทยภายหลังการเปลี่ยนชื่อองค์กร ว่าการขับเคลื่อนการทำงานยังคงเดินหน้าภารกิจเดิม แต่จะเพิ่มความเข้มข้นมากขึ้น และกว้างขึ้น เพื่อผลักดันให้งานศิลปหัตถกรรมของไทยยังคงอยู่ได้ และช่วยสร้างงาน สร้างอาชีพให้กับเศรษฐกิจชุมชน โดยมีแผนการดำเนินงานใน 3 ด้านคือ สืบสาน สร้างสรรค์ และส่งเสริมงานศิลปหัตถกรรมไทยในทุกมิติอย่างยั่งยืน

สำหรับงานด้านการสืบสาน จะผลักดันให้มีการถ่ายทอดองค์ความรู้และภูมิปัญญางานศิลปหัตถกรรมไทยจากรุ่นสู่รุ่น ไม่ให้สูญหายไป โดยผ่านกิจกรรมสำคัญในการยกย่องเชิดชูกลุ่มผู้สร้างสรรค์งานศิลปหัตถกรรมไทยให้เป็นครูศิลป์ของแผ่นดิน ครูช่างศิลปหัตถกรรม และทายาทช่างศิลปหัตถกรรม ซึ่งได้คัดเลือกเป็นประจำทุกปี นำมายกย่องเชิดชูให้เป็นที่รู้จัก สร้างพื้นที่ทางการตลาดต่าง ๆ ให้มีโอกาสถ่ายทอดองค์ความรู้ ภูมิปัญญา และทักษะเชิงช่างให้เป็นที่รู้จักในวงกว้างมากขึ้น

ด้านการสร้างสรรค์ จะเข้าไปช่วยพัฒนางานศิลปหัตถกรรมให้เหมาะกับยุคสมัยและกลุ่มลูกค้า เช่น กลุ่มที่ต้องการงานดั้งเดิม ชื่นชอบในอัตลักษณ์ของงานศิลปหัตถกรรมก็ยังคงรักษาไว้ สำหรับกลุ่มคนรุ่นใหม่ ก็ให้มีการสร้างสรรค์ทั้งในเรื่องของงานดีไซน์และบรรจุภัณฑ์ให้มีความสวยงาม ตอบโจทย์การใช้งานคนรุ่นใหม่ ส่งเสริมการใช้นวัตกรรมต่าง ๆ เข้ามาช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับงานศิลปหัตถกรรมไทย รวมถึงการลดต้นทุนการผลิต แต่ให้คงไว้ซึ่งจุดเด่นของงานศิลปหัตถกรรมไทยเช่นเดิม

ด้านการส่งเสริม จะมุ่งเน้นด้านการตลาดที่ครอบคลุมทั้งแบบออนไลน์และออฟไลน์ เช่น การทำแพลตฟอร์มจำหน่ายงานศิลปหัตถกรรมในรูปแบบออนไลน์ต่าง ๆ อาทิ sacitshop.com, sacitshop Application หรือการจัดงานแสดงสินค้าต่าง ๆ ที่จัดขึ้นเป็นประจำทุกปี ไม่ว่าจะเป็นงาน sacit เพลินคราฟต์, sacit Craft Fair, งานอัตลักษณ์แห่งสยาม และ Craft Bangkok ที่เป็นงานใหญ่ของ sacit เป็นต้น

นอกจากนี้ ยังมีแผนการดำเนินงานอื่น ๆ เพื่อการสร้างกระแสให้คนรุ่นใหม่หันมาใช้งานศิลปหัตถกรรมไทยเพิ่มมากขึ้น โดยใช้ Friend of sacit ที่เป็นศิลปิน ดาราชื่อดังระดับประเทศ มาเป็นตัวแทนคนรุ่นใหม่ในการส่งเสริมการใช้งานศิลปหัตถกรรมไทย ซึ่งจะช่วยให้คนรุ่นใหม่เกิดความสนใจ เกิดเป็นแรงบันดาลใจในการเลือกซื้อและเลือกใช้งานศิลปหัตถกรรมไทยในชีวิตประจำวัน โดยสร้างการรับรู้และสื่อสารผ่านแพลตฟอร์มโซเชี่ยลมีเดียใหม่ ๆ ที่เป็นที่นิยมในปัจจุบัน

และอีกกิจกรรมคือ การประกวดผ้าไทยใส่ได้ทุก Gen ที่เปิดโอกาสให้นิสิตนักศึกษาส่งผลงานการออกแบบตัดเย็บชุดจากผ้าไทย และส่งผลงานเข้ามาร่วมประกวดชิงเงินรางวัล และมีโอกาสต่อยอดทางธุรกิจกับแบรนด์เสื้อผ้าชั้นนำระดับประเทศ โดยเป็นการทำงานร่วมกับสถาบันการศึกษาหลายแห่ง เพื่อให้เด็กรุ่นใหม่ได้มาลองเรียนรู้ในกระบวนการและขั้นตอนของการสร้างสรรค์ รับรู้ในคุณค่าของงานศิลปหัตถกรรมไทย และได้ทำงานร่วมกันกับช่างฝีมือและชุมชนผู้ผลิต

นอกจากนี้ จากผลการขับเคลื่อนองค์กรด้วยความมีคุณธรรมและโปร่งใส ทำให้ได้รับผลคะแนนการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐ (ITA) ปี 2565 ภาพรวมหน่วยงาน 90.13 คะแนน หรือระดับผลการประเมิน A ซึ่งได้คะแนนดีขึ้นทุกปี

โดยปี 2564 ได้ 86.77 คะแนน ปี 2563 ได้ 83.14 คะแนน และมีลำดับดีขึ้นเมื่อเปรียบเทียบกับหน่วยงานภายนอก คือ อยู่ในอันดับที่ 44 จากกลุ่มองค์การมหาชนทั้งหมด 57 หน่วยงาน (ปี 2564 มีทั้งหมด 55 หน่วยงาน อยู่อันดับที่ 54) และอยู่ในอันดับที่ 28 จากกลุ่มองค์การมหาชนที่จัดตั้งตามพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งทั้งหมด 35 หน่วยงาน (ปี 2564 อยู่อันดับที่ 35 ท้ายสุด) และอยู่ในอันดับที่ 9 จากกลุ่มกระทรวงพาณิชย์ทั้งหมด 12 หน่วยงาน (ปี 2564 อยู่อันดับที่ 12 ท้ายสุด)