TK park “ห้องสมุดมีชีวิต” สร้างแหล่งนวัตกรรมเรียนรู้ของไทย

เพราะห้องสมุดไม่จำเป็นต้องเป็นเพียงพื้นที่สำหรับอ่านหนังสืออย่างเดียวเสมอไป แต่สามารถพลิกแพลง หรือจัดสรรพื้นที่ให้เอื้อต่อการเรียนรู้ที่มากกว่าเดิม เหมือนอุทยานการเรียนรู้ (TK park) ที่ยึดมั่นในการสร้างห้องสมุดมีชีวิตให้เกิดขึ้นในไทย

เนื่องในโอกาสครบรอบ 13 ปี ของ TK park “ดร.อธิปัตย์ บำรุง” ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ กำกับดูแลอุทยานการเรียนรู้ (TK park) ให้ข้อมูลว่า ตลอดระยะที่เวลาผ่านมามีผู้ใช้บริการกว่า 6 ล้านคน มีการยืม-คืนหนังสือ และสื่อการเรียนรู้ประมาณ 4 แสนครั้งต่อปี โดยล่าสุดขยายเครือข่ายของ TK park ไปแล้ว 43 แห่ง ในพื้นที่ 27 จังหวัด และเปิดบริการในรูปแบบอุทยานการเรียนรู้อย่างเต็มรูปแบบจำนวน 23 แห่ง

ขณะเดียวกันเมื่อเร็ว ๆ นี้ยังริเริ่มโครงการพัฒนาศูนย์เรียนรู้ระดับตำบล ด้วยการผนึกกำลังกับ 7 หน่วยงานภาคี ตั้งเป้าสร้างสรรค์เครือข่ายศูนย์เรียนรู้ใกล้บ้าน 200 แห่ง เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ และเพิ่มโอกาสการเข้าถึงแหล่งเรียนรู้ พร้อมสนับสนุนกระบวนการเรียนรู้สาธารณะ

ดร.อธิปัตย์ บำรุง

“ปีนี้ TK park จะเปิดบริการอุทยานการเรียนรู้เครือข่ายใหม่อีก 4 แห่ง ได้แก่ ห้องสมุดพิพิธภัณฑ์นครลำปาง, อุทยานการเรียนรู้นราธิวาส, อุทยานการเรียนรู้ศรีสะเกษ และอุทยานการเรียนรู้กระบี่ ซึ่งนอกจากการพัฒนาในเชิงกายภาพ เรายังคงพัฒนาฐานข้อมูล TK Public Online Library ให้ตอบสนองความต้องการในการเรียนรู้ให้กว้างขวางยิ่งขึ้น โดยเพิ่มบริการหลักสูตรออนไลน์ นอกเหนือจากหนังสือ หนังสือเสียง และสื่อวีดิทัศน์”

“เราต้องการขยายโอกาส และเพิ่มช่องการเข้าถึงสื่อการเรียนรู้ในโลกออนไลน์ให้มากขึ้น แผนงานต่อไปที่วางไว้ คือ การหาบริการเสริมใหม่ ๆ สำหรับบริการสมาชิก ซึ่งการยืม และคืนหนังสือในอนาคต อาจเป็นการใช้บริการผ่านไลน์แมน (LINE MAN) เพื่อให้ผู้ใช้บริการสะดวกกับการเรียนรู้ได้ง่ายกว่าเดิม”

เพราะได้รับการตอบรับที่ดีมาอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้พื้นที่กว่า 3,000 ตารางเมตร ของ TK park บนชั้น 8 ของเซ็นทรัลเวิลด์เริ่มแออัด สำหรับเรื่องนี้

“ดร.อธิปัตย์” ฉายภาพให้ฟังเพิ่มเติมว่า เมื่อปีที่ผ่านมามีผู้มาใช้บริการ TK park ประมาณ 3 แสนคน อีกทั้งประเทศไทยกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ และคนต้องการเรียนรู้ตลอดชีวิต ดังนั้น กลุ่มเป้าหมายเดิมของ TK park ที่เน้นเด็ก และเยาวชน จึงต้องขยับมาสู่วัยผู้ใหญ่มากขึ้น สิ่งที่ตามมาคือการสร้างพื้นที่ให้คนเข้ามาหาความรู้ หรือความถนัดของตัวเอง

ดังนั้น จะต้องมีการใช้พื้นที่มากขึ้นในการสร้างสรรค์กิจกรรมต่าง ๆ ซึ่งพื้นที่หลักของ TK park ในปัจจุบัน อาจไม่เพียงพอต่อแผนงานที่จะเกิดขึ้นในอนาคต เพราะ TK park ต้องการพื้นที่ขนาดใหญ่สำหรับทำกิจกรรม หรือให้คนมาปล่อย “พลัง” เพื่อสร้างการมีส่วนร่วมกัน โดยคำตอบที่ตรงกับความต้องการคือ การขยับ TK park ออกไปสู่สวนสาธารณะ

“เราพูดคุยกับทาง กทม.ไปบ้างแล้ว ซึ่งเบื้องต้น กทม.มีความคิดเห็นตรงกันกับเราในการสร้างพื้นที่เรียนรู้ในพื้นที่กว้าง โดยมองว่าหากเป็นที่สวนลุมพินีก็ดี เพราะพื้นที่ใหญ่ อยู่ใจกลางเมือง เดินทางสะดวก ซึ่งการมีพื้นที่ที่อยู่ในสวนสาธารณะจะทำให้เราสามารถจัดกิจกรรมอื่น ๆ ได้อีก อันเป็นเทรนด์เดียวกับห้องสมุดทั่วโลก เขาจะสร้างพื้นที่ให้คนมาเจอกันมากขึ้น เพื่อทำกิจกรรมร่วมกัน จนนำไปสร้างแรงบันดาลใจ และนำไปสู่การเกิดขึ้นขององค์ความรู้ใหม่ ๆ ได้”

“ดร.อธิปัตย์” บอกอีกว่า แม้เทคโนโลยีจะเปลี่ยนแปลงโลกอย่างรวดเร็ว แต่พื้นที่การเรียนรู้ทางกายภาพของ TK park ยังคงมีบทบาทสำคัญในสังคมยุคนี้ ด้วยความที่เป็นพื้นที่เปิดสำหรับคนทุกกลุ่มวัยให้เข้ามาทำกิจกรรม ใช้ประโยชน์ในเชิงสร้างสรรค์ และเรียนรู้ร่วมกันหลากหลายรูปแบบ โดยไม่ได้เข้ามาเพียงอ่านหนังสือแบบห้องสมุดในรูปแบบเดิม ๆ อีกต่อไป

“โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในปีนี้มีการจัด TK Cafe เป็นกิจกรรมต้นแบบที่จะเปิดให้ TK park กลายเป็นพื้นที่แห่งบทสนทนา โดยมีเป้าหมาย คือ การเรียนรู้ร่วมกัน ซึ่งเป็นหัวใจของห้องสมุดมีชีวิตยุคใหม่ อันนำไปสู่การค้นคว้าเพิ่มเติมและต่อยอดไอเดีย นอกจากนี้ ยังมีการจัดกิจกรรมเพื่อสนับสนุนการแสวงหาความรู้ในเชิงประสบการณ์ผ่านการรวมกลุ่ม เช่น TK แจ้งเกิด, TK Reading Club, TK Board Game Club เพื่อปลุกพลังของการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เติมพลังความคิดสร้างสรรค์และทักษะทางปัญญา เพื่อให้เกิดนวัตกรรม จนนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงใหม่ ๆ”

“ในยุคที่เทคโนโลยี disrupt สิ่งที่เราเพิ่มเติมให้กับบทบาทของ TK park คือ เรื่องของประสบการณ์ เราจะสร้างพื้นที่ที่คุณสามารถนำความรู้ที่อ่าน หรือได้ดูจากหนังสือ หรือสื่อต่าง ๆ มาลองทำจริง ดังนั้น พื้นที่ห้องสมุดของเราจะเปลี่ยนไป โดยมีพื้นที่เล่าเรื่อง และทำกิจกรรมมากขึ้นกว่าเดิม”

ทั้งนั้น ปี 2561 ทาง TK park เตรียมกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ และสร้างเครือข่ายการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ อาทิ งานประชุมสหปาฐกถาประจำปี TK Forum 2018 ในหัวข้อ “Creating Better Libraries : The Unfinished Knowledge” มีวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิจาก 3 ประเทศร่วมเปิดเวิร์กช็อป และบรรยายด้านการสร้างสรรค์ห้องสมุดที่ดีกว่า ในวันที่ 14-15 ก.พ. 2561

ตามด้วยงานเทศกาลหนังสือนิทานภาพนานาชาติ ในวันที่ 31 มี.ค.-8 เม.ย. 2561 รวมถึงโครงการบ่มเพาะเยาวชน TK และแจ้งเกิดนักเขียน และเยาวชนคนดนตรี TK Band ที่จะจัดในช่วงเดือน เม.ย.-มิ.ย. 2561 อีกทั้งยังมีโครงการลับสมองประลองปัญญา สรรหาหนูน้อยนักเล่า ในช่วงเดือน พ.ค.-ส.ค. 2561 ตลอดจนงาน “แนะให้แนว” เพื่อเตรียมพร้อมเยาวชนระดับมัธยมปลายให้ค้นหาเส้นทางที่ใช่ ในเดือน มิ.ย. 2561