Business School ฝึกภาคสนาม-รับธุรกิจยุคใหม่

ในโอกาสครบรอบ 80 ปีของการสถาปนาคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีการจัดปาฐกถาพิเศษเรื่องปฏิวัติธุรกิจ ปฏิรูปการศึกษา (Business Transformation through Flagship Education) โดยมี “ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล” ศาสตราภิชานกองทุนเพื่อการบริหารวิชาการและการศึกษาของคณะ และดำรงตำแหน่งประธานกรรมการปฏิรูปประเทศด้านเศรษฐกิจ และกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษามาเป็นองค์ปาฐก

“ดร.ประสาร” กล่าวว่า บริบทของโลกธุรกิจยุคใหม่มีลักษณะที่เรียกว่า VUCAS โดยมีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นตลอดเวลาจนยากจะคาดเดาสำหรับการเตรียมรับมือ อีกทั้งยังมีความซับซ้อนจนยากที่จะตัดสินใจอย่างถูกต้องแม่นยำ ซึ่งเป็นปรากฏการณ์สำคัญที่ผลักดันให้ Business School ต้องปรับหลักสูตรในการผลิตนิสิตนักศึกษาให้ออกไปเป็นผู้นำในการนำพาองค์กรก้าวผ่านช่วงการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญนี้

สำหรับ VUCAS เป็นการสะท้อนบริบทโลกธุรกิจใน 5 มิติที่สำคัญ คือ 1.ความผันผวน (Volatile) เกิดจากความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีที่สร้างการเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นในอัตราเร่งตัว 2.ความไม่แน่นอน (Uncertain) ปรากฏการณ์จากความผันผวนทำให้หลายเรื่องไม่เป็นไปตามที่คาด เช่น สหรัฐอเมริกาที่เป็นผู้นำการค้าเสรีกลับมาดำเนินนโยบายกีดกันการค้าเสียเอง หรือรถยนต์ไร้คนขับของ Tesla เกิดอุบัติเหตุในหลายพื้นที่จนเป็นผลให้ราคาหุ้นตกลงอย่างรุนแรง

3.ความซับซ้อน (Complex) ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีทำให้เกิดความซับซ้อน และมีปัจจัยแวดล้อมที่ต้องคำนึงถึงมากกว่าเดิม เช่น การเกิดขึ้นของ Cryptocurrencies หรือ Blockchain ซึ่งผู้กำกับดูแลต้องชั่งน้ำหนักหลายอย่างในการเขียนกฎให้เหมาะสมกับสถานการณ์ ทั้งยังต้องแยกระหว่างเทคโนโลยีกับปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น

4.ความยากที่จะคาดเดา (Ambiguous) ในโลกที่มีความซับซ้อน ผันผวน และไม่แน่นอน ทำให้การคาดเดาเพื่อเตรียมการที่เหมาะสมทำได้ยาก สิ่งที่จะทำให้ธุรกิจอยู่รอดคือการกระจายความเสี่ยงอย่างเหมาะสม เช่น ธุรกิจค้าปลีกที่ต้องบาลานซ์ระหว่าง online และ offline ในวันที่ยังไม่รู้ว่าทิศทางการปรับตัวของธุรกิจจะไปในทิศทางใดกันแน่

5.มาตรฐาน (Standard) ธุรกิจกำลังเผชิญกับการกำกับดูแลด้านธรรมาภิบาล สิ่งแวดล้อม การคุ้มครองผู้บริโภค การแข่งขันที่เป็นธรรม รวมถึงการดูแลสิทธิขั้นพื้นฐานของมนุษย์เข้มข้นขึ้น โดยมีการแสดงออกถึงจุดยืนในเรื่องเหล่านี้ทุกระดับ

“โลกของ VUCAS ทำให้โจทย์ของ Business School เปลี่ยนไปตามความคาดหวังของภาคธุรกิจที่ต้องปรับตัวตามการเปลี่ยนแปลงของโลก นิสิตนักศึกษาที่จะมาเป็นฟันเฟืองสำคัญในการผลักดันองค์กรให้ก้าวข้ามผ่านช่วงเวลานี้ไปได้จะต้องมีลักษณะของความเป็นผู้นำ มีมุมมองความคิดที่จะนำพาองค์กรไปสู่การเติบโตที่ยั่งยืน ซึ่งลักษณะสำคัญของคนที่มีความคิดเป็นผู้นำคือ ดึงความสามารถของผู้ที่เกี่ยวข้องมาตอบโจทย์ที่ซับซ้อน มีความคิดที่ยืดหยุ่น และพร้อมยอมรับข้อแตกต่าง”

“ดร.ประสาร” ให้ข้อมูลว่า จากผลสำรวจความเห็นผู้บริหารของบริษัทชั้นนำมากกว่า 70 แห่งทั่วโลก ส่วนใหญ่มองว่าหลักสูตร Business School ที่สอดคล้องกับบริบทโลก VUCAS ต้องให้เด็กลงมือปฏิบัติงานบนภาคสนามจริงมากขึ้น และเห็นผลในสิ่งที่ลงมือทำ ขณะที่อาจารย์ต้องมีประสบการณ์หรือรู้จักโลกธุรกิจจริง และประยุกต์เข้าสู่บทเรียนได้

“วิธีออกแบบหลักสูตรมีหลายวิธี แต่วิธีที่ผมคิดว่าน่าสนใจคือ การให้นิสิตนักศึกษาทำงานจริงกับผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกลุ่มต่าง ๆ ทั้งชุมชน เอ็นจีโอ ภาคธุรกิจ หน่วยงานภาครัฐ สลับกับการเรียนรู้ในห้องเรียน ซึ่งมีทั้งเทคนิค และซอฟต์สกิล เพื่อให้นิสิตนักศึกษาเห็นโลกในหลายมิติ ก่อนเลือกทำโครงการที่สามารถแก้ปัญหาให้บ้านเมือง หรือสร้างคุณค่าให้สังคมได้อย่างแท้จริง”